อาสาสมัครร่วมกับชาวบ้านสร้างโรงเรียนให้กับเด็กๆ ผู้ลี้ภัยชาวพม่าในแม่สอด

จากปัญหาสงครามภายในประเทศเมียนมาร์ที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ประชาชนที่ต้องการจะหนีจากสงครามจึงพากันข้ามมายังฝั่งประเทศไทย โดยเฉพาะในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อหาที่พักพิง หลีกหนีจากการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งในปัจจุบันนั้น ในอำเภอแม่สอดได้มีค่ายของผู้ลี้ภัยสงครามอยู่เป็นจำนวนมาก และโดยมากผู้ที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้มักมีคุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร

โรงเรียน P’yan Daung เป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นเพื่อให้การศึกษากับเด็กๆ ผู้ลี้ภัย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ผู้ลี้ภัยให้ดีขึ้น และด้วยความที่โรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ได้ปิดตัวไป ทำให้โรงเรียน P’yan Daung ต้องรับภาระจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างห้องเรียนเพื่อรองรับนักเรียนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ภายใต้การนำของเหล่าบรรดานักศึกษาจิตอาสา ซึ่งรับหน้าที่ทั้งออกแบบและสร้างห้องเรียนนี้ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน

ตัวอาคารสร้างขึ้นจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งอิฐที่ทำจากดินตากแห้งในส่วนของผนัง ไม้ไผ่ในฝาผนังบางส่วน ไม้เก่าเป็นโครงสร้างอาคารและหลังคา กระเบื้องและใบตองตึงสำหรับมุงหลังคา ซึ่งทั้งหมดมีราคาไม่แพง ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีช่องเปิด อากาศสามารถถ่ายเทได้ดี นอกจากนี้การที่ผนังทำจากดินยังช่วยให้มีความเป็นฉนวน ลดความร้อนที่จะเข้ามาสู่ภายในได้ ที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่รูปร่างหน้าตาของอาคาร หากแต่เป็นการที่อาคารเรียนหลังนี้สร้างขึ้นโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ออกแบบจนถึงก่อสร้าง เป็นอีกหนึ่งงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการออกแบบโดยยึดผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง มิใช่การ ‘ยัดเยียด’ โดยสถาปนิก

Jaksin Noyraiphoom

จักรสิน น้อยไร่ภูมิ หรือ 'อ.แมลงภู่' จบการศึกษา ป.ตรีและ ป.โท ทางด้านสถาปัตย์ และ ป.เอก ด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และอาจารย์พิเศษในอีกหลายสถาบัน (https://www.facebook.com/Archtoshare/)

See all articles