หากมองย้อนไปในอดีตนับพันปี ภาพเขียนในผนังถ้ำของคนโบราณอาจจัดเป็นงานสตรีตอาร์ตชิ้นแรกๆ ของมนุษย์ และเพราะวิวัฒนาการของสังคม รูปแบบทางศิลปะที่ขยับตัวตามกาลเวลาจุดมุ่งหมายของการสร้างงานที่หลากหลายออกไปทุกวันนี้ พื้นที่สาธารณะกลายเป็นที่ว่างที่รอการสร้างผลงานเพื่อสังคมและมักจะสร้างความตื่นตาให้ยามพบเห็นมากกว่าภาพเขียนในกรอบที่ติดผนังเสียอีก
ที่ Sawai Madhopur รัฐรัชสถาน ในประเทศอินเดีย เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ Ranthambor ซึ่งช่วยอนุรักษ์เสือโคร่งที่ใกล้สูญพันธุ์ ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากมาย สถานีรถไฟที่นี่กำลังเปลี่ยนมุมมองให้ผู้มาเยือนจากที่เคยเป็นสถานีรถไปเก่าแก่น่าเบื่อ ปรับให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เปลี่ยนผนังและกำแพงสีพื้นเดิมให้เป็นผืนผ้าใบขนาดใหญ่สะท้อนภาพป่าอันสมบูรณ์ที่นับวันก็มีแต่จะลดน้อยลงไปตามการเจริญของสังคมเมือง ภาพทั้งหลายเหล่านั้นกำลังคอยต้อนรับผู้คนเข้าสู่ธรรมชาติและการอนุรักษ์ เสมือนประตูด่านแรกที่วางอยู่บนแนวคิดเดียวกันกับสถานที่ท่องเที่ยวและช่วยบอกให้รู้ว่าทุกชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
งานนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน อย่างมูลนิธิ The Wold Widelife ของประเทศอินเดีย (WWF-I) เชื้อเชิญเหล่าบรรดาศิลปินพื้นบ้านนำโดย Shri Gajendra Singh และอาสาสมัครผู้สนใจและมีความสามารถด้านการเพ้นท์มาร่วมกันสะบัดแปรงแต้มสีสันบนผนัง กำแพง และส่วนต่างๆ ของสถานีรถไฟให้กลายเป็นห้องแสดงงานศิลปะสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้คนที่สัญจรไปมาได้ชื่นชมไปพร้อมกัน
ความสำเร็จของโครงการนี้ยังกระตุ้นให้เมืองอื่นๆ เห็นความสำคัญและต้องการสร้างงานศิลปะบนผนังสถานีรถไฟของตนไปด้วย เช่น สถานีท้องถิ่นที่ Mumbai ฯลฯ นี่เป็นอีกบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ศิลปะกับการมีส่วนร่วมของชุมชนมีพลังและสร้างคุณค่าให้กับโลกได้สวยสดใหม่อยู่เสมอ
อ้างอิง : The Future Of Design, Deccan Herald