โรงเรียนอเนกประสงค์สีสวยกลางหุบเขาของชาวม้งในเวียดนามเหนือ

สถาปัตยกรรมพื้นฐานที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์ คือ สถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โรงเรียนก็จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เพราะเมื่อคนเราได้รับการศึกษาจะสามารถมีปัญญาเป็นอาวุธใช้รับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นของโลกเราได้ ปัญญาอาวุธยังสามารถพามนุษย์สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

แต่ในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะยิ่งในเขตพื้นที่อาศัยของชนกลุ่มน้อย หลายพื้นที่กลับถูกละเลยเรื่องโรงเรียนที่ให้การศึกษา เช่นกันกับทางตอนเหนือของเวียดนามในจังหวัดท้ายเงวียน ณ หมู่บ้าน Lung Luong ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวม้ง โรงเรียนในหมู่บ้านมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนเอาเสียเลย ทั้งอยู่ในหุบเขาที่ห่างไกลจากเมืองมาก ทางเข้าหมู่บ้านแคบเพียง 2 เมตร อีกทั้งตัวโรงเรียนเก่ามีพื้นห้องที่เป็นดิน ผนังไม้เก่าจนเป็นรูเมื่อเวลาหน้าหนาวลมพัดมาจนไม่สามารถเรียนได้ตามปรกติ ปัญหาเรื่องความชื้นในฤดูฝน เสียงดัง และยังมีปัญหาการระบายอากาศด้วยเช่นกัน ปัญหานี้ถูกเสนอการแก้ไขจากกองทุน Poor Students Fund และมีสำนักงานสถาปนิก 1+1>2 เข้ามาแก้ปัญหาด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรม

โรงเรียนใหม่ถูกสร้างสรรค์ให้มีพื้นที่หลากหลายกิจกรรมรองรับการเรียนรู้ทั้ง ห้องเรียน ห้องอเนกประสงค์ ห้องพยาบาล ห้องสมุด ครัว หอพัก การวางอาคารออกแบบให้เป็นกลุ่มอาคารเพื่อการระบายอากาศที่ดีจากการที่เพิ่มเส้นรอบรูปอาคาร ปัญหาเรื่องอับทึบจากโรงเรียนเดิมแก้ด้วยการเปิดช่องแสงที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ การเลือกใช้วัสดุหลังคาที่ไม่ก่อเกิดเสียงจนสร้างความรำคาญกับนักเรียน วัสดุหลักเลือกจากเงื่อนไขที่ไม่ต้องขนส่งวัสดุจากภายนอกทำให้ราคาสูง แต่เลือกใช้ดินจากการขุดฐานรากมาทำเป็นอิฐดินเพื่อก่อผนัง ผนังดินช่วยให้รักษาอุณหภูมิระหว่างภายนอกและภายในให้เกิดสภาวะน่าสบายได้ดี ฝ้าภายใน หลังคา เลือกใช้ไผ่ที่หาได้ง่ายในป่าทำให้ลดการขนส่ง

เงื่อนไขไม่ใช่ข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ แต่คือโจทย์ที่นักออกแบบต้องเผชิญ เพื่อให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้น

 

อ้างอิง: inhabitatarchdailykientruc112

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles