ปัญหาผู้อพยพเป็นอีกหนึ่งในวิกฤตที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ มาเลเซียเป็นอีกประเทศที่มีผู้อพยพเดินทางลี้ภัยจากสงครามและความยากจนเข้ามาเป็นจำนวนมาก และก็เหมือนกับในหลายประเทศอีกเช่นกัน ที่ถึงจะลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศที่ปลอดภัยทางกายภาพแล้ว แต่ผู้อพยพเหล่านั้นก็ยังต้องพบเจอปัญหาทางสังคมและสภาวะจิตใจอันเกิดจากทัศนคติที่ไม่ดีของประชาชนเจ้าของประเทศ เพราะพวกเขาส่วนมากมักมองผู้อพยพ คนไร้สัญชาติ แรงงานด่างด้าว หรือแม้แต่ชนพื้นเมืองของประเทศตนเอง ว่าเป็นบุคคลอันตรายไม่น่าคบหา
Mahi Ramakrishnan ผู้ทำงานกับผู้อพยพมานานถึง 12 ปี เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว เธอจึงคิดหาทางเชื่อมผู้อพยพเข้ากับสังคมมาเลเซียให้แนบแน่นมากขึ้นด้วยการจัดเทศกาลที่ชื่อว่า Refugee Fest
“ฉันเชื่อว่าคนส่วนมากกลัวในสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด
ฉันก็เลยตั้งใจจะช่วยชาวมาเลเซียให้รู้จักผู้อพยพมากขึ้น
โดยสิ่งที่คุณต้องทำก็แค่มาร่วมงาน นั่งลง ดื่มกาแฟหรือชา และลองเปิดใจฟังพวกเขาดู
แล้วคุณก็จะรู้ว่าผู้อพยพก็เป็นคนเหมือนกับคุณ ผู้อพยพมีความฝันเช่นเดียวกับลูกๆ ของคุณ”
Refugee Fest เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2017 ที่กัวลาลัมเปอร์ โดยมีทั้งนิทรรศการภาพถ่ายและการจัดฉายภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับผู้อพยพ รวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างไปของพวกเขา จากนั้นล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายน 2018 ที่เพิ่งผ่านไป Refugee Fest ก็โยกย้ายออกจากกัวลาลัมเปอร์ มาจัดขึ้นที่เมืองจอร์จทาวน์ ปีนัง เป็นครั้งแรก โดยคราวนี้พิเศษกว่าครั้งก่อนก็คือ ทาง Refugee Fest ได้นำเอาศิลปินชาวโรฮิงญา ซีเรีย อัฟกัน ศรีลังกา และปากีสถาน กว่า 15 ชีวิต มาแสดงผลงานศิลปะ ดนตรี และบทกวีของพวกเขา
“ผู้ชมจะได้เห็นว่าศิลปินผู้อพยพเหล่านี้มีความสามารถมาก” Ramakrishnan เล่าต่อ โดยหนึ่งในกวีที่มาร่วมงานในครั้งนี้คือ Shamshad Chaudhry จากปากีสถาน ที่เพิ่งคว้ารางวัลจากการประกวด Migrant and Refugee Poetry เมื่อปีที่ผ่านมา “และถ้าพวกเขาได้รับโอกาสเปิดกว้างจากสังคม พวกเขาก็จะสามารถทำอะไรดีๆ ให้สังคมได้อีกมากมาย”
Refugee Fest ที่จอร์จทาวน์ผ่านพ้นไปแล้วอย่างสวยงามเมื่อวันที่ 5-7 เมษายน 2018 ซึ่งนอกจากศิลปินผู้อพยพจะได้แสดงความสามารถของตนให้สาธารณะได้รู้จักแล้ว ได้ข่าวว่าหลายคนก็ได้เพื่อนใหม่กลับบ้านไปอีกมากมายด้วย ซึ่งจริงๆ จะว่าไป สิ่งนี้เองที่น่าจะเป็นจุดประสงค์หลักของ Refugee Fest นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ศิลปะเข้ามามีบทบาทเชื่อมผู้คนในสังคมเข้าด้วยกัน รวมทั้งทำให้โลกใบเดิมน่าอยู่ขึ้น
Mahi Ramakrishnan
อ้างอิง: Facebook: The Refugee Fest MY, www.star2.com, www.malaymail.com