ROHM Theatre Kyoto ชุบชีวิตอาคารเก่า เติมพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้เมืองและคนในชุมชน

วัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะของประเทศที่เจริญแล้วจะเน้นให้เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากร การออกแบบพื้นที่โล่งของเมืองจึงควรมีสัดส่วนที่เหมาะสม ถ้าใช้เกณฑ์มาตรฐานสากลคือ 15 ตารางเมตรต่อคน หากพื้นที่สาธารณะของเมืองได้รับการออกแบบให้ดี มีตำแหน่งและขนาดที่เหมาะสม สามารถช่วยให้เมืองมีชีวิตชีวาขึ้นมา พร้อมกับประชากรมีคุณภาพชีวิตไปพัฒนาประเทศได้

อย่างเมืองเคียวโตะซึงเป็นเมืองที่เป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม บรรยากาศของเมืองมีการอนุรักษ์เป็นอย่างดี แต่ก็มีส่วนที่เป็นของใหม่ด้วย การออกแบบสถาปัตยกรรมในเมืองเคียวโตะจึงเป็นการประณีประนอมระหว่างความเก่าและใหม่ไปพร้อมกัน นอกจากอาคารเก่าแบบประเพณีแล้วนั้น เคียวโตะยังมีงานจากยุคสมัยใหม่ที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์หลายชิ้นเช่นกัน อย่างเช่นอาคารเคียวโตไคคัง ออกแบบโดยสถาปนิกระดับตำนานของญี่ปุ่น คุนิโอะ มะเอะคะวะ แต่เดิมเป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต เปิดใช้งานมาตั้งแต่ยุค 1960 และปิดปรับปรุงไปเมื่อปี 2012

เคียวโตไคคังเป็นอาคารคอนกรีตเปลือยที่สำคัญของยุคสมัยใหม่ เสี่ยงต่อการถูกทุบทิ้งเพื่อพัฒนา ทางกรรมการจึงได้พิจารณาถึงคุณค่าของอาคารจากยุคสมัยใหม่นี้ ให้ถูกชุบชีวิตขึ้นมาด้วยการเติมพื้นที่ทางวัฒนธรรม โดยได้สถาปนิก Kohyama Atelier เข้ามารับหน้าที่ออกแบบปรับปรุงชีวิตใหม่กลายเป็น ROHM Theatre Kyoto ซึ่งสนับสนุนโดย ROHM semiconductor บริษัทผลิตชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิกส์จากเคียวโตะ

อาคารใหม่ได้ถูกออกแบบอย่างถ่อมตัว เป็นโครงเหล็กสีดำ พร้อมกระจก แทรกเข้าไปกับเปลือกคอนกรีตเปลือยอายุเฉียด 60 ปีอย่างแนบเนียน ทำให้รองรับการใช้งานใหม่ได้ดีขึ้น กลายเป็นโรงละครที่รองรับได้กว่า 2,000 ที่นั่ง พื้นที่รายรอบลานภายนอกถูกเติมไปด้วยห้องสมุด ร้านกาแฟ ภัตตาคาร ช่วยส่งเสริมกับ ROHM Square ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งกลางแจ้งที่ล้อมด้วยอาคาร ต่อเนื่องไปยังลานด้านทิศตะวันออก ซึ่งมีกิจกรรมทุกวันหยุด มีร้านรวงมาออกขายผลงานศิลปะ อาหาร การแสดง ทำให้พื้นที่นี้ไม่ใช่แค่การปรับปรุงอาคารเก่าให้ใช้งานได้อีกครั้ง แต่เป็นการผสานตัวมันเข้ากับกิจกรรมของผู้คนในยุคสมัยนี้ด้วยตั้งแต่ปี 2016

การออกแบบใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องทำลายของเก่าเพียงอย่างเดียว มันสามารถเจรจาต่อรองจนเกิดสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนเมืองได้เช่นกัน

 

อ้างอิง: rohmtheatrekyoto.jp, ja 104. PUBLIC SPACE.2015 – 2016.Publisher: The Japan Architect

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles