Rothy’s รองเท้าดีๆ จากวัสดุรีไซเคิล ใช้จนพังก็ส่งกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้

นอกจากบทบาทของคุณพ่อ สามี นักเทคโนโลยีชีวภาพ นักธุรกิจ รวมถึงการเป็นผู้ก่อตั้ง Hedge Gallery อันเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะชื่อดังย่าน Jackson Square ในซานฟรานซิสโกแล้ว Roth Martin ยังเป็นนักทดลองและผู้สร้างสรรค์รองเท้ารักษ์โลกนามว่า Rothy’s (ที่มีที่มาจากชื่อของเขา (Roth) และหุ้นส่วนอย่าง Stephen Hawthornthwaite (Hawthy) แบรนด์นี้ด้วย

หลังจากที่ทั้งคู่ใช้เวลาอยู่หลายปีในการทำวิจัยและซึมซับแรงบันดาลใจจากหนึ่งในแบรนด์ต้นแบบที่มีพลังขับเคลื่อนสังคมแบบเหลือล้นอย่าง TOMS พวกเขาก็ตัดสินใจก่อตั้งธุรกิจรองเท้าสตรีแบรนด์นี้ขึ้นเพื่อพัฒนาและผลิตตัวต้นแบบ ร้องเท้า Rothy’s เลือกใช้วัสดุ eco-friendly ตั้งแต่พื้นในจากยางรีไซเคิล พื้นนอกจากพลาสติกและโฟมรีไซเคิล ไปจนถึงนำเอาเส้นใยจากขวดพลาสติก (ซึ่งเป็นขยะที่มีปริมาณมากถึง 1,500 ขวด / วินาที) ที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลและแปรรูปจนมีคุณสมบัติเด่นอย่างความนุ่ม เหนียว ทนทาน มาเป็นวัสดุตั้งต้นในส่วนที่เหลือ อีกทั้งยังออกแบบซอฟต์แวร์ 3D Knitting ขึ้นมาเฉพาะกิจ ซึ่งมีความแม่นยำทั้งการกำหนดรูปแบบแพทเทิร์นรองเท้าและลวดลาย โดยใช้เวลาเพียง 6 นาที ในการผลิตรองเท้าแต่ละคู่ แน่นอนว่าเทคโนโลยีดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการย่นระยะเวลาในการทำงาน ช่วยลดปริมาณขยะจากการผลิตเกินความจำเป็นและขยะจากการทำแพทเทิร์นรองเท้า รวมถึงลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้ละเลยรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่รองเท้าดีๆ สักคู่พึงจะมี ตั้งแต่การตัดสินใจทำแพทเทิร์นแบบไร้ตะเข็บ ซึ่งทำให้รองเท้ามีความพอดีกับรูปเท้าเสมือนเป็นผิวหนังอีกชั้นหนึ่งของผู้สวมใส่ ไม่ก่อให้เกิดการขัดหรือการบาดเท้า มีความสวยงาม เบาสบาย ยืดหยุ่น และสามารถระบายอากาศได้ดี (จากคุณสมบัติของวัสดุและเทคนิคการถักทอ) และเมื่อใดก็ตามที่รองเท้าแต่ละคู่ครบวงจรชีวิต มันจะไม่ใช่ขยะไร้ค่าที่ถูกทิ้งไว้ข้างทาง เพราะ Roth และ Stephen ได้เตรียมพื้นที่ให้ขยะเหล่านั้นกลับมาสร้างประโยชน์อีกครั้งในฐานะวัตถุดิบชิ้นใหม่ที่ผู้ใช้สามารถส่งไปรีไซเคิลกับพาร์ทเนอร์ของ Rothy อย่าง PlusFoam (www.plusfoam.com) ด้วย

ในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่มีนโยบายชัดเจนในการดำเนินกิจการของพวกเขา ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม Rothy’s ก็เช่นเดียวกัน Roth ขยายความถึงสิ่งที่พวกเขาคิดไว้น่าสนใจว่า “ผู้คนต่างคาดหวังจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ดีๆ สักชิ้น ขณะที่พวกเขาก็อยากจะเห็นผู้ผลิตทำอะไรดีๆ ให้สังคมด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะทำได้” Rothy คงจะเป็นผลลัพธ์ที่ Roth และ Stephen ไม่เพียงจะสร้างขึ้นจากความตระหนักดังกล่าว แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมมีส่วนร่วมในวงจรดังกล่าวอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

[youtube url=”http://youtu.be/CfUCIxX49fk” width=”600″ height=”350″]
[youtube url=”http://youtu.be/Lq1U9j4rNjE” width=”600″ height=”350″]

 

อ้างอิง: ROTHY’S

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles