ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมูลค่าสูง มักจะได้เกิดจากโครงการที่มีงบประมาณลงไปทุ่มมากมาย แต่กับโครงการออกแบบขนาดเล็กและงบประมาณจำกัด ดูจะเป็นเสียงเล็กน้อยที่ไม่ได้ถูกประโคมให้สนใจในวงกว้าง ทั้งที่ขนาดไม่ใช่สาระถึงผลกระทบที่จะเปลี่ยนแปลงโลกของการออกแบบได้เช่นกัน
ในพื้นที่ย่านชนบทของประเทศเม็กซิโก ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าและภูเขา ได้เกิดโครงการนำร่องขนาดเล็ก เป็นบ้านที่มีพื้นที่เพียง 70 ตารางเมตร ในโครงการที่ชื่อว่า Rural Nicolas Housing ออกแบบโดยสตูดิโอสถาปนิกเม็กซิกัน Manuel Cervantes Estudio แนวคิดการออกแบบเริ่มจากความต้องการบ้านต้นแบบที่มีราคาถูก ก่อสร้างได้ง่าย สามารถสร้างได้เองจากแรงงานในชุมขน ลดการพึ่งพาวัสดุจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เลือกใช้วัสดุราคาถูก หาได้ง่ายในท้องถิ่น รวมไปถึงการใช้วัสดุบริจาค วัสดุที่ประกอบขึ้นมาเป็นบ้านนี้จึงมีวัสดุที่เรียบง่าย ประกอบด้วยไม้เก่าเป็นเสา โครงสร้าง ใช้ไม้ที่ไม่ต้องมีความยาวเป็นชิ้นเดียวกันตลอด แต่ใช้เทคนิคก่อสร้างต่อไม้ชิ้นเล็กเข้าด้วยกัน ให้สามารถกลายเป็นโครงสร้างแบบไม่ตกแต่งรายละเอียด แต่แสดงถึงสัจจะของเทคนิคก่อสร้าง วัสดุกรุฝ้าเพดานเป็นไม้อัดอย่างเรียบง่าย เป็นทั้งหลังคารองและฝ้าเพดานไปพร้อมกัน การก่อสร้างเป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักไม่มาก เป็นไม้ ผนังภายนอกและภายในเป็นอิฐที่หาได้ในท้องถิ่น ทั้งหมดถูกวางลงบนแผ่นพื้นคอนกรีต จึงมีการใช้คอนกรีตในปริมาณไม่มาก การก่อสร้างรูปแบบนี้จะไม่คุ้นตาสำหรับการก่อสร้างบ้านแบบทั่วไปที่พบในไทย
การออกแบบที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็จัดสรรพื้นที่ให้มีการใช้สอยพอเหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก ส่วนใช้สอยถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนง่ายๆ ตามจังหวะของโครงสร้างเสา ภายในประกอบด้วยห้องนอน 2 ห้องและห้องน้ำ 1 ห้องที่ใช้ร่วมกัน พื้นที่ส่วนกลางของบ้านออกแบบด้วยวิธี open plan ที่ถูกวางไปด้วยส่วนใช้สอย ทั้งส่วนสันทนาการ ส่วนรับประทานอาหาร และห้องครัว พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในคือเฉลียงด้านทิศใต้ ด้านที่หลังคาแบบทรงหมาแหงนเอียงขึ้นไปรับแดดทิศใต้ เพื่อรับแสงที่มาพร้อมกับความอบอุ่นในฤดูหนาว ส่วนที่ถูกใช้สอยบ่อยของบ้านคือส่วนกลาง จึงถูกวางให้รับกับทิศใต้มากที่สุด แค่กั้นด้วยผนังกระจกใส ทุกอย่างถูกออกแบบเพื่อรองรับความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในอนาคตได้เสมอ สุดท้ายแล้วบ้านนี้สร้างเสร็จไปเมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งต้องสังเกตถึงการเติบโตของคนและการใช้สอยที่จะเติบโตไปพร้อมกัน
คำถามที่ชวนคิด ระหว่างชีวิตและสถาปัตยกรรม อะไรสำคัญกว่ากัน แต่ทำไมเราไม่ตอบให้หลอมรวมอย่างเป็นเนื้อเดียวกันได้ทุกครั้ง
แปลและเรียบเรียงจาก: www.dezeen.com
ที่มา: archello.com, worldarchitecture.org