SCOBY แพ็กเกจจิ้งใส่อาหารแทนพลาสติก เพาะเองได้ ย่อยสลายได้ แถมกินได้ด้วย

ขณะที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการ ‘ลด’ การใช้พลาสติก ด้วยการกลับไปใช้ภาชนะใส่อาหารและข้าวของแบบเก่า เช่น ถุงผ้า ปิ่นโต แก้ว แสตนเลส ฯลฯ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาชนะเหล่านั้นยังคงมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ใช้งานได้ไม่สะดวกสบายเท่าพลาสติก ดังนั้นอีกความพยายามที่จำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันไปก็คือ การคิดค้นวัสดุที่สามารถใช้งานได้เหมือนพลาสติก แต่ย่อยสลายได้ ไม่ทำลายโลกเหมือนพลาสติก

ในประเด็นนี้ เราได้เห็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจและออกมาแสดงความสามารถ Roza Janusz นักศึกษาด้านงานออกแบบชาวโปแลนด์เป็นหนึ่งในนั้น กับโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ‘SCOBY ‘ วัสดุที่เธอคิดค้นขึ้นมาสามารถใช้เป็นแพ็กเกจจิ้งใส่อาหารที่มีน้ำหนักเบาได้เหมือนพลาสติก ปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหารที่มีความเป็นกรด แถมยังสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และกินได้อีกด้วย!

สาเหตุที่แพ็กเกจจิ้งของ Janusz กินได้ ก็เพราะเธอใช้กรรมวิธีการทำขึ้นมาเหมือนกับการหมัก ‘คอมบูชา’ (Kombucha) หรือ ชาหมักที่มีแบคทีเรียชนิดดี probiotics โดย Janusz ใช้แบคทีเรียและยีสต์เป็นฐานรองอยู่ด้านล่าง จากนั้นจึงเทของเหลวลงไปเพื่อให้เนื้อเยื่อแบบธรรมชาติเติบโตขึ้นอยู่ในภาชนะทรงตื้น หลังจากนั้นก็เติมน้ำตาลและขยะเหลือใช้จากการเกษตร และเมื่อหมักครบสองสัปดาห์ เนื้อเยื่อที่ว่าก็จะพร้อมให้เก็บเกี่ยวมาใช้งาน

ถึงแม้ว่าหน้าตาของแพ็กเกจจิ้งที่ทำมาจากหัวเชื้อแบคทีเรียและยีสต์นี้ จะดูไม่ค่อยน่าใช้สักเท่าไร แต่มันก็เป็นสัญญาณอันดีว่าเราอาจไม่ต้องพึ่งพาพลาสติกอีกต่อไปในอนาคต ที่สำคัญ โปรเจ็กต์นี้เป็นเพียงแค่โปรเจ็กต์จบการศึกษาของ Janusz ที่ School of Form ใน Poznan เท่านั้น ดังนั้นเธอจึงยังมีเวลาพัฒนาไปได้อีกไกลทีเดียว อ้อ… แล้ว Janusz ยังบอกไว้ด้วยว่า วิธีทำแพ็กเกจจิ้งจากหัวเชื้อแบคทีเรียและยีสต์นี้ก็แสนง่ายจนใครๆ ก็สามารถลองทำได้เองที่บ้านอีกด้วย

อ้างอิง: inhabitat.com, Roza Janusz

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles