สวนสาธารณะอุเอโนะ หรือ Ueno Park ไม่ได้เป็นเพียงสวนสาธารณะแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในโตเกียว แต่ทุกๆ วันเสาร์ พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนได้ถูกจัดสรรให้แก่ทีมงาน ‘Second Harvest Japan’ ที่จะนำอาหารร้อนๆ ที่เพิ่งปรุงสุกใหม่มาแจกจ่ายให้แก่คนไร้บ้านและผู้ขาดแคลนอาหารในโตเกียว ใช่! คุณอ่านไม่ผิดหรอก เพราะภาพที่คนภายนอกมองมายังญี่ปุ่น ที่นี่คือหนึ่งในประเทศผู้กุมชะตาของเศรษฐกิจโลกและรวยติดอันดับโลกมาอย่างมั่นคงยาวนาน ทว่าในอีกฟากหนึ่ง มีคนญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่ไม่ร่ำรวยและสุขสบายอย่างที่เราคิดกัน ซึ่งแม้ในโตเกียวเองจะมีจำนวนคนไร้บ้านลดลงเป็นประวัติการณ์ แต่ตัวเลขจริงๆ ที่ซ่อนอยู่ในนั้นคือประชากร 16% หรือราวๆ 20 ล้านคน ต้องอยู่อย่างแร้นแค้น และจำนวน 2.3 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยได้
Second Harvest Japan (2HJ) คือธนาคารอาหารที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2002 มีปลายทางก็เพื่อให้ผู้ที่ขาดแคลนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย โดยนิยามคำว่า ‘ปลอดภัย’ ของพวกเขา แน่นอนว่าต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ และมีคุณค่าทางโภชนาการในระดับที่เพียงพอต่อคนคนหนึ่งพึงจะได้รับด้วย โดยภารกิจหลักของ 2HJ ก็คือการจับคู่อาหารปลอดภัยและเครื่องบริโภคต่างๆ กับผู้ต้องการจริงๆ ที่นี่จึงแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ‘Harvest Kitchen’ แผนกจัดเตรียมอาหารและเสบียงเหล่านี้สำหรับการส่งต่อไปยังผู้รับบริจาคและองค์กรต่างๆ ในเครือข่าย ‘Harvest Pantry’ ที่มีหน้าที่รวบรวมอาหารสด อาหารแห้ง เมล็ดพันธุ์ จากผู้บริจาค ทั้งโรงงาน ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร รวมทั้งคนทั่วไป เพื่อแจกจ่ายไปยังผู้ขาดแคลนในระดับครัวเรือน ขณะที่ ‘Food Bank’ นั้นมีส่วนสำคัญในการจัดระบบต่างๆ เพื่อทำการกระจายของบริจาคไปสู่เครือข่ายในระดับองค์กร อาทิ บ้านเด็กกำพร้า ศูนย์คนพิการ สถานสงเคราะห์ ผู้มีรายได้น้อย และบรรดาคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น สำหรับส่วนสุดท้ายคือ ‘Advocacy and Development’ เช็กซั่นที่จะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ทั้งในแง่การพัฒนาด้านธนาคารอาหาร ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อจัดหาอาหารปลอดภัยให้ผู้ยากไร้
ถึงแม้ว่า 2HJ จะมีโมเดลและความตั้งใจดีเพียงใด แต่พวกเขาก็ต้องเจออุปสรรคที่ใหญ่กว่านั้น เพราะชาวญี่ปุ่นนั้นถูกสอนเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ ซึ่งซ่อนอยู่ในระบบการศึกษาของพวกเขาอย่าง ‘Meiwaku Kakeruna’ นั่นคือการไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น (อันสะท้อนให้เราเห็นในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรับมือกับภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ด้วยสงบเรียบร้อย) ซึ่งเป็นวิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น พวกเขาเป็นคนมีศักด์ศรี ขี้เกรงใจ และไม่ต้องการรบกวนผู้อื่น ซึ่งนั่นทำให้ 2HJ มองไม่เห็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะพวกเขายอมที่จะอดตาย ดีเสียกว่าจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครต่อใคร
วิธีการทำงานของ 2HJ จึงเลือกเส้นทางที่ ‘ต่างออกไป’ Charles E. McJilton ผู้ก่อตั้งและ CEO เล่าถึงวิธีคิดของว่าที่นี่ว่า 2HJ ไม่ใช่องค์กรการกุศลและพวกเขาไม่ใช่ฮีโร่ “เมื่อใดก็ตามที่เราโฟกัสว่าเราอยากช่วยเหลือคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นก็มักเป็นไปในทำนองที่ว่าจะต้องมีสิ่งผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นแน่ๆ และนั่นก็ทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือคิดไปต่างๆ นานาว่าพวกเขาไม่ดีพอ ซึ่ง 2HJ ไม่พยายามที่จะสร้างความรู้สึกหรือสถานการณ์แบบนั้น แต่เราวาง position ให้ 2HJ มีลักษณะเป็นสินทรัพย์สาธารณะคล้ายๆ โรงเรียนหรือห้องสมุด เพื่อให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะร้องขอความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ”
โมเดลธนาคารอาหารแห่งนี้ นับว่า win-win ยั่งยืน และเอื้อประโยชน์ทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ เพราะผู้ให้ไม่จำเป็นต้องทิ้งอาหารและเครื่องบริโภค (ทั้งๆ ที่ยังสามารถกินได้และมีคุณภาพดีด้วยซ้ำ) อีกต่อไป ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารซึ่งมีมูลค่ามหาศาลต่อปี โดยมีของแถมคือการปลุกพลังบวก ทั้งความเอื้ออาทรและคิดถึงคนอื่น ขณะที่ผู้รับเองก็ได้อาหารที่ดีและเพียงพอต่อวัน อันเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นต้องเสียสตางค์ แน่นอนว่าคนทำงานทั้งพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์เกือบ 30 ชีวิต ตลอดจนเหล่าอาสาสมัครจากทั่วโลกก็ได้ประโยชน์ไปตามๆ กันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการได้พบเพื่อนใหม่ที่อยากเห็นสังคมดีขึ้นเหมือนๆ กัน การได้พัฒนาทักษะด้านปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้รับบริจาค รวมไปถึงการสร้างโอกาสให้คนทั่วไปได้เห็น เข้าถึงปัญหา และเสนอวิธีแก้ไขที่ใครต่างก็ทำได้ เพียงแค่จองกะ บอกสิ่งที่อยากทำ ใส่ผ้ากันเปื้อน และยิ้มกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และนี่คือทั้งหมดทั้งมวลอันเป็นผลลัพธ์ตลอดระยะเวลา 16 ปี ของ 2HJ ที่สามารถเปลี่ยน ‘mottaenai’ (ขยะ) ให้กลายเป็น ‘arigatou’ (คำขอบคุณ) ในแบบที่พวกเขาตั้งใจ ได้แบบดีต่อใจเหลือเกิน
อ้างอิง: www.2hj.org
ภาพ: Second Harvest Japan, Natsuki Yasuda, Studio Aftermode