หากไล่ดูข้อมูลของประเทศที่มีวิวัฒนาการทางการแพทย์ระดับสูงอย่างอเมริกาแล้ว สถิติของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นมีสูงถึง 68 คนต่อวัน นั่นหมายถึงการมีคนรอดชีวิตถึง 25,000 คนต่อปี ขณะที่ประเทศซึ่งมีระดับความก้าวหน้าใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่น กลับมียอดผู้ได้รับบริจาคอวัยวะเพียงแค่ 300 คน จาก 14,000 คนต่อปีเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นผลสืบเนื่องมาจากหลักความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลให้กฎหมายในญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้มีการบริจาคอวัยวะในเด็ก แม้หลายปีก่อนจะมีการประกาศยกเลิกข้อจำกัดด้านอายุและข้อกำหนดที่ต้องได้รับการยินยอมล่วงหน้าไปแล้วก็ตาม
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การจัดตั้งแคมเปญ ‘Second Life Toys’ โดยเอเจนซี่โฆษณายักษ์ใหญ่อย่าง Dentsu ขึ้น โดยที่พวกเขาดึงความสนใจให้ผู้คนหันมาเห็นความสำคัญของการบริจาคอวัยวะผ่านกติกาง่ายๆ นั่นคือการเปิดรับบริจาคตุ๊กตาที่ไม่ใช้งานแล้ว โดยชิ้นส่วนที่มีสภาพดีจะถูกนำไปซ่อมแซมให้ตุ๊กตาที่ชำรุดกลับมาใช้การได้อีกครั้ง และในแต่ละครั้ง ทีมงานจะส่งจดหมายขอบคุณเจ้าของเพื่อบอกเล่าว่าตุ๊กตาของพวกเขาถูกนำไปช่วยตุ๊กตาตัวอื่นได้อย่างไร
Toda Kida และ Akira Suzuki ผู้ดูแลโครงการ Second Life Toys เล่าถึงแรงบันดาลใจที่มาจากประสบการณ์ตรงของพวกเขาว่า “เราเข้าใจว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะต้องตัดสินใจมอบอวัยวะของคนที่เรารักในช่วงเวลาแห่งการสูญเสียแบบนั้น เราจึงอยากสร้างให้พื้นที่นี้เป็นสื่อกลางในการบอกเล่าและให้ผู้คนเห็นภาพที่ชัดขึ้น ว่าการบริจาคสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้มากมายขนาดไหน อีกทั้งยังเป็นการให้เวลาผู้คนในสังคมได้คิด ตรึกตรอง และตัดสินใจเรื่องดังกล่าวในช่วงเวลาที่เขาพร้อมจริงๆ ด้วย”
‘ตุ๊กตาช้างที่มีงวงจากหางกระรอก ตุ๊กตาปลาวาฬที่ถูกซ่อมแซมด้วยปีกมังกร หรือตุ๊กตาหมีที่กลับมามีสภาพเหมือนใหม่ด้วยแขนของลิง’ ความน่ารักภายใต้ความไม่สมบูรณ์ที่ Second Life Toys เลือกสื่อสารนั้นเรียบง่าย ได้ใจความ ค่อยเป็นค่อยไป และไม่ยัดเยียด ซึ่งนั่นคงเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้กุมหัวใจผู้รับสารทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไปได้ไม่น้อย ซึ่งทีมงานก็เชื่อว่าการทำให้ผู้คนตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของอีกชีวิตผ่านการบริจาคของพวกเขา จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในฐานะ ‘ผู้ให้’ ต่อไป
[youtube url=”http://youtu.be/twRsHV0UByA” width=”800″ height=”350″]
อ้างอิง: Second Life Toys