Seoullo 7017 สวนคนเดินบนทางยกระดับ..ปอดแห่งใหม่ในกรุงโซล

นอกจากชื่อเสียงของบรรดาไอดอล ซีรีส์ สตรีทฟู้ด ร้านกาแฟ และแบรนด์เครื่องสำอางแบรนด์ท้องถิ่นแล้ว ใครที่มีโอกาสแวะเวียนไปโซลในช่วง 10 ปีมานี้ คงจะได้เห็นพัฒนาการของเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นใหม่ของโครงการสาธารณะหลายต่อหลายแห่ง ทั้ง Sebitseom (เซบิทซอม) โครงการที่รวมเอาสิ่งบันเทิงต่างๆ ทั้งศิลปะ แกลเลอรี่ ร้านกาแฟ และร้านอาหารมาตั้งตระหง่านกลางแม่น้ำฮัน หรือ Dongdaemun Design Plaza (DDP) โดย Zaha Hadid รวมไปถึงโครงการบูรณะและปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เรารู้จักกันดีอย่างคลอง Cheonggyecheon Stream และล่าสุดกับ Seoullo 7017 โครงการฟื้นฟูทางข้ามแยกที่เสื่อมสภาพให้กลายเป็นถนนคนเดินและสวนสาธารณะ

แต่เดิม สวนแห่งนี้คือทางยกระดับข้ามแยกที่ถูกสร้างขึ้นในทศวรรษ 1960 เพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น โดยพาดผ่านสถานี Seoul Station จากฝั่งตะวันออกจนถึงฝั่งตะวันตกเป็นระยะทาง 1.24 กิโลเมตร แม้การสร้างทางยกระดับดังกล่าวจะช่วยเชื่อมต่อผู้คนจากภูมิภาคต่างๆ ให้สามารถเดินทางมายังโซลได้สะดวกสบายและเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองในยุคอุตสาหกรรมของเกาหลีมากว่า 45 ปี แต่ด้วยโครงสร้างที่เสื่อมสภาพ ทำให้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2006 รัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government) จึงตัดสินใจที่จะทุบทางยกระดับดังกล่าวเพื่อยุติปัญหาที่ว่า แต่ก็มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้รักษาทางยกระดับแห่งนี้ไว้ ซึ่งนี่ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูทางยกระดับดังกล่าวให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าในชื่อ Seoullo 7017 ขึ้น จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

Seoullo 7017 มาจากการผสมกันของคำว่า Seoul (กรุงโซล) Lo (เดิน) 70 (ปี 1970 ที่ทางยกระดับสร้างเสร็จ) และ 17 (ปี 2017 ที่ทางยกระดับถูกปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งล่าสุด) ออกแบบโดยทีมสถาปนิกชาวดัทช์ MVRDV หลังจากที่พวกเขาชนะการประกวดในปี 2015 โดยมีความกว้าง 10.3 เมตร ยาว 1.24 กิโลเมตร มีทางลงตลอดระยะถนนทั้งหมด 17 จุด มีการบรรจุลิฟต์เข้ามาในโครงการสำหรับให้บริการผู้พิการ ภายในพื้นที่ประกอบไปด้วยพรรณพืชกว่า 228 ชนิด จำนวนกว่า 24,000 ต้น ซึ่งเป็นพรรณไม้ที่พบและเติบโตในเกาหลีทั้งหมด โดยจะมีการคัดเลือกชนิดที่เหมาะสมในแต่ละฤดูกาล นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า โรงละคร พื้นที่สำหรับการจัดการแสดง จุดชมวิว และมีทางเชื่อมต่อไปยังอาคารต่างๆ ที่อยู่รายรอบ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโซล อาทิ ตลาดนัมแดมุนและภูเขานัมซาน อันเป็นที่ตั้งของ Seoul Tower ด้วย

แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของโครงการสาธารณะแบบนี้ย่อมมีทั้งเสียงคัดค้านจากประชาชน ตั้งแต่ปัญหาการจราจรที่หนาตัวขึ้นเมื่อรถต้องลงมาวิ่งที่ถนนด้านล่าง ซึ่งส่งผลไปยังผู้คนที่อาศัยและทำมาหากินที่นี่ ทั้งเรื่องมลพิษและการลดจำนวนลงของลูกค้า รวมทั้งราคาที่ดินที่พุ่งสูงถึง 30% แต่ในเวลาเดียวกัน สวนสาธารณะแห่งนี้ก็รับหน้าที่เป็นปอดแห่งใหม่ให้กับเมือง เป็นมิตรต่อการเดินของผู้คน ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับความเป็น walkable city ของโซล ด้วยการเชื่อมเนื้อเมืองและระบบสาธารณูปโภค ทั้งสถานีรถไฟ ถนน ชุมชน และผู้คนเข้าด้วยกัน อันเป็นปัจจัยเสริมที่จะช่วยเพิ่มสุขภาวะของเมืองและเศรษฐกิจที่ดีตามไปด้วย

ไม่ต่างอะไรกับการปลูกต้นไม้ ที่ต้องรดน้ำ ดูแล และใช้เวลาในการเฝ้าดูการเติบโตของมัน Seoullo 7017 ก็เช่นกัน ไม่แน่ว่าที่นี่อาจจะอีกหนึ่งโครงการที่สามารถเจริญรอยตามรุ่นพี่อย่างคลอง Cheonggyecheon Stream ที่ครั้งหนึ่งเคยฝ่าฝันกับเสียงคัดค้านจากประชาชนกว่าจะกลายมาเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวและเป็นโมเดลด้านการพัฒนาชุมชนที่ทั่วโลกต่างยอมรับ


อ้างอิง: Seoullo7017, MVRDV

บันทึก

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles