Shah Muhammad Mohsin Khan Dargah สุสานสู่สรวงสวรรค์

การหยิบยืมภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมจากอดีต มาต่อยอดในลมหายใจปัจจุบัน เป็นความพยายามของสถาปนิกสายรักความเป็นพื้นถิ่นมาเสมอ ความเฉพาะจากพื้นถิ่นทำให้งานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยมีสเน่ห์ หากกวาดตามองจะพบความพยายามที่อยู่หลายมุมโลกผ่านความแตกต่างกันไปตามบริบท

กับอีกกรณีศึกษาที่ ธากา ประเทศบังกลาเทศ สถาปนิก Ar. Md. Sharif Uddin Ahammed จาก Sthapotik ได้รับโจทย์จากลูกชายคนโตของ ‘Pir’ Shah Muhammad Mohsin Khan ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาอิสลามที่มีชื่อเสียงของเมืองมานนิกานเจ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของธากา ให้ออกแบบสุสานในที่ดินส่วนตัวที่สถาปนิกพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมเข้ากับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอิสลามจากภายนอก ให้พอเหมาะพอเจาะสภาพของบังคลาเทศ

จุดเริ่มต้นคือการตีความจากคำว่า ‘ดาร์กาห์’ ที่แปลได้ว่าสุสสาน แต่ในภาษาเปอร์เซีย ดาร์กาห์หมายถึงประตู ในเชิงแนวคิดแบบอุปมาอุปมัย มันคือการเปรียบเปรยให้สุสานเป็นบ้านแห่งการพักรอเพื่อเชื่อมโยงสู่สรวงสวรรค์ การออกแบบที่ว่างภายในจึงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาด 10×10 เมตร ซึ่งเป็นการคลี่คลายจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเรือนพื้นถิ่นในประเทศแถบอ่าวเบงกอล มัสยิดแบบสุลต่านที่นิยมในศตวรรษที่ 15 และสุสานเอคลากีในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้มีแปลนเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส แล้วนำมารวมกับมัสยิด Noy Gombuj ที่มีโดมย่อยจำนวน 9 โดม สถาปนิกนำลักษณะพิเศษเหล่านี้มาคลี่คลายด้วยการออกแบบให้พื้นที่ขนาด 10×10 เมตร สูง 7.30 เมตร เป็นทรงกระบอกซ้อนเข้าไปยังที่ว่างภายใน แล้วให้ผนังด้านนอก สะท้อนจิตวิญญาณของโดม 54 โดม ด้วยการออกแบบเป็นผนังครึ่งวงกลมสูงจากพื้นจรดยอดผนัง ทำให้ระบบอาคารอ่านได้ง่ายทั้งรูปทรงภายนอกจนภายใน

ประเด็นที่สถาปนิกคิดต่อมาคือแสง ที่ทำให้สุสานนี้มีความดราม่าสุดๆ ช่องแสงจากหลังคาเป็นตัวนำแสงอาทิตย์ผ่านเข้ามายังกระบอกคอนกรีตภายใน ทำให้ริ้วแสงที่สาดลงในสุสานมีการชวนตีความได้ถึงผู้อยู่เบื้องล่าง และแสงจากเบื้องบนที่เชื่อมโยงกันอยู่ ในขณะเดียวกัน กระบอกคอนกรีตเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวระบายอากาศร้อนจากด้านล่าง ลอยขึ้นด้านบน ก่อเกิดลมอ่อนๆ ช่วยระบายอากาศภายใน บนยอดผนังออกแบบเป็นผนังอิฐเรียงสลับ ก่อเกิดผนังกึ่งทึบกึ่งโปร่ง ทำให้การระบายอากาศร้อนภายในเป็นไปได้ดีขึ้น

อิฐเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูกในแถบอ่าวเบงกอล มันผลิตจากดินในแถบนี้ ช่วยลดการขนส่ง มีความทนทาน พบเห็นได้ทั่วในสถาปัตยกรรมแถบนี้ อิฐสำหรับการรับรู้ของคนทั่วไป มันคือวัสดุที่แข็งแรง อยู่ได้นาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ช่างฝีมือในท้องถิ่นที่มีความชำนาญกับวัสดุอิฐ พวกเหล่าช่างสร้างสรรค์มันได้อย่างดี แม้จะมีผนังอิฐสูงกว่า 7 เมตร แต่ช่างก็ดัดแปลงนั่งร้านจากไผ่ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นอีกเช่นกัน

การควบรวมทั้งเทคนิคในอดีต ฝีมือช่างในท้อวถิ่น ก่อให้เกิดสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีความเหมาะสมทั้งราคา สร้างงานให้ชุมชน ซึ่งมันมาจากพลังของการออกแบบ

 

แปลและเรียบเรียงจาก: sthapotik.com,
ที่มา: www.archdaily.com

Tags

Tags:

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles

Next Read