StixFresh สติกเกอร์แปะผลไม้ ช่วยคงความสด ลดขยะเศษอาหาร

ใครที่ชอบกินแอปเปิลเป็นประจำคงเคยสังเกตและสงสัยว่าทำไมบนผลแอปเปิลถึงต้องมีสติกเกอร์ดวงเล็กๆ แปะไว้ทุกลูกด้วย? 

รู้หรือเปล่าว่าสติกเกอร์พวกนี้ไม่ได้ถูกแปะไว้เล่นๆ แต่มีเหตุผลหลายอย่างซ่อนอยู่ โดยเฉพาะถ้าเป็นแอปเปิลนำเข้าจากต่างประเทศ ลองดูดีๆ จะมีตัวเลข 4-5 หลัก หรือที่เรียกกันว่า รหัส PLU – Price Look-up Codes ที่กำหนดโดยองค์กรการค้าสากล (IFPS) ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะนำไปตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของแอปเปิลได้ว่ามีขนาด สายพันธุ์ และวิธีการปลูกอย่างไร 

ส่วนสติกเกอร์ที่ไม่มีเลขรหัสอะไรอยู่เลย เป็นการติดเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภครู้ว่าแอปเปิลทุกลูกนั้นผ่านการตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของแบรนด์นั่นเอง

แต่สำหรับผลแอปเปิลที่ติดสติกเกอร์ของ StixFresh นอกจากเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว สติกเกอร์ยังรับบทบาทอันยิ่งใหญ่ นั่นคือช่วยให้ผลแอปเปิลคงความสดได้นานขึ้น นี่เป็นไอเดียของ Zhafri Zainudin ชายชาวมาเลเซีย ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เขารับรู้ปัญหาจากครอบครัวของเขาและเพื่อนของเขาที่เปิดร้านผลไม้และมักจะขายได้ไม่ทัน เพราะผลไม้เน่าเสียไปก่อนมากมาย จนต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดายเป็นประจำ

ประกอบกับช่วงเวลานั้น Zhafri กำลังทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับตัวกระตุ้นดินสำหรับต้นยางอยู่พอดี เขากับเพื่อนได้ค้นพบสูตรเด็ดที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ 100% โดยเลียนแบบสารต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่พืชใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากโรคหลังการเก็บเกี่ยว และเมื่อมองไปมองมาก็ปิ๊งไอเดียว่าทำไมเราไม่ใช้ประโยชน์จากสติกเกอร์ที่แปะอยู่บนผลไม้นี่เสียเลยล่ะ

หลังการทดลองหลายร้อยครั้ง และนำไปพิสูจน์ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งมาเลเซีย ในที่สุดก็ได้สติกเกอร์ที่เมื่อติดลงบนผลไม้แล้วสารเคมีจะกระจายออกมาเพื่อสร้างชั้นป้องกันที่ปกคลุมผิวของผลไม้และทำให้กระบวนการสุกช้าลง กลายเป็นแบรนด์ StixFresh สติกเกอร์ที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาให้ผลไม้ได้นานถึงสองสัปดาห์

สติกเกอร์นี้จะได้ผลดีกับแอปเปิ้ล อะโวคาโด ผลไม้ตระกูลส้ม และมะม่วง แต่ทีมงานของ Zhafri ก็กำลังพัฒนาเวอร์ชันใหม่เพื่อนำไปใช้เพิ่มอายุการเก็บของผลไม้และผักชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ไอเดียสร้างสรรค์เล็กๆ นี้ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด เพราะปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาอาหารถูกทิ้งจำนวนมาก รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยว่าในปี 2564 มีผลิตผลทางการเกษตรที่เสียหายก่อนไปถึงแหล่งจำหน่ายคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และยังมีผลผลิตที่ถูกทิ้งเพราะจำหน่ายไม่หมด หรือเพราะกินไม่หมดจนต้องกลายเป็นขยะเศษอาหาร โดยมูลค่าของอาหารที่ถูกทิ้งไปต่อปีนั้นสามารถเลี้ยงผู้คนที่อดอยากได้มากถึงปีละ 1.26 พันล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นคือ ผลกระทบจากขยะอาหารจำนวนมากยังมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และทำให้สภาพอากาศแปรปรวนด้วย

นับเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์และความพยายามที่ต่อยอดมาจากปัญหาใกล้ตัวจนกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้ด้วย

 
อ้างอิง: ryplabs.comweforum.org

Tags

Tags: ,

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles