Sudarsan Pattnaik ศิลปินอินเดีย ชาวรัฐโอริสสา กำลังแสดงผลงานศิลปะสะท้อนปัญหาวิกฤติการณ์น้ำโลกด้วยงานถนัดของเขาด้วยประติมากรรมจากเม็ดทราย เขาขึ้นรูปทรายริมชายหาดบอกต่อถึงความห่วงใยในปัญหานี้ และเป็นสิ่งที่พวกเราอาจไม่ค่อยใส่ใจนัก เพราะมีน้ำใช้อย่างต่อเนื่องจนไม่ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของการขาดแคลนน้ำอย่างจริงจัง ไม่เพียงแค่การใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือยในครัวเรือน แต่ในระบบอุตสาหกรรมและการเกษตร น้ำสะอาดทั้งหลายถูกทำให้กลายเป็นน้ำเสียนำมลพิษกลับคืนไปสู่สภาพแวดล้อม ทำให้ระบบน้ำบนโลกวิกฤติลงไปอีก
นี่จึงเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของน้ำและช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดลดการสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ถึงแม้สามในสี่ของโลกจะประกอบไปด้วยน้ำหรือประมาณ 70 เปอร์เซนต์ แต่น้ำที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคกลับมีจำนวนน้อยมากแค่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะน้ำส่วนใหญ่ในมหาสมุทรเป็นน้ำเค็มผสมไปด้วยแร่ธาตุแฝงลอยต่างๆ ซึ่งไม่เหมาะแก่การนำมาใช้ ส่วนน้ำจืดที่มีอยู่บนพื้นดินทั้งในแม่น้ำลำคลองนั้น เรานำมาใช้ได้เพียงบางส่วนซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ท่ามกลางการขยายตัวของประชากรโลก สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงภาวะสงครามกลางเมือง จึงมีประชากรจำนวนมากบนโลกที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ซึ่งอาจเป็นปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำได้ในอนาคต และวิกฤติการขาดน้ำมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์น้ำโลก โดยปีนี้มีแก่นหลักคือ ‘น้ำที่สูญเสีย’ (wastewater) การขาดน้ำสะอาดใช้ของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะเป็นสาเหตุแห่งความวิบัติอื่นๆ ทั้งการตายของผู้คนและโรคร้ายที่จะตามมาอย่างคาดไม่ถึง
บางทีการมีน้ำให้ใช้น้อยอาจไม่วิกฤติเท่าระบบการจัดการน้ำที่ไม่สามารถกระจายไปสู่ประเทศที่ยากไร้เพื่อลดความเดือดร้อนให้กับประชากรนับล้านทั่วโลก ระบบการจัดการที่ฉลาดพอจะไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อมและสามารถมีน้ำสะอาดใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน คงถึงเวลาที่เราจะต้องใส่ใจและช่วยกันประหยัดน้ำสะอาดกันอย่างจริงจังเสียที
อ้างอิง : NDTV, WorldWaterCouncil, Twitter: SudarsanSand