‘ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์’ ASA CAN บทบาทของสถาปนิกชุมชนและความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ

ASA CAN หรือ กรรมาธิการสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA – Association of Siamese Architects) เป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านสถาปัตยกรรมชุมชน โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ASA CAN ได้จัดเวิร์คช็อป เสวนา และลงพื้นที่ไปทำงานในหลายๆ ชุมชนที่เป็นจุดเล็กๆ ตามมุมเมืองต่างๆ หลายแห่ง เพื่อให้ได้รู้จักการทำงานของ ASA CAN มากขึ้น Creative Citizen ได้นัดคุยกับ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ ประธานกรรมาธิการของ ASA CAN ซึ่งจากบทสนทนาครั้งนี้ก็ยังได้ทำความรู้จักการทำงานของ ‘สถาปนิกชุมชน’ และบทบาทความสำคัญของ ‘พื้นที่สาธารณะ’ มากขึ้นด้วย

ก่อนจะมาเป็น ASA CAN

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ASA CAN เริ่มต้นจากกลุ่ม CAN (Community Act Network) เครือข่ายของสถาปนิกด้านชุมชนที่เน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม สมาชิกส่วนมากของ CAN เป็นสถาปนิกที่ทำงานด้านชุมชนและอาจารย์มหาวิทยาลัย “ส่วนมากเราก็เป็นเพื่อนๆ กัน ตอนที่ก่อตั้งเครือข่ายขึ้นมาเมื่อ 8 ปีก่อน พวกเรายังไฟแรงกันมาก เราอยากจะทำงานด้านเมือง อยากจะพัฒนาเมือง และพูดเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของสถาปนิกและชุมชนที่มีต่อพื้นที่ เงินสนับสนุนก้อนแรกที่เราได้มาคือจาก Asian Coalition for Housing Rights (ACHR) ซึ่งก็ไม่ใช่ก้อนที่ใหญ่โตอะไร แต่เราก็เอามาทำอะไรของเราเต็มไปหมดเลย ตั้งแต่จัดทอล์ค เวิร์คช็อป แล้วต่อมาเมื่อเราเข้ามาอยู่ในสมาคมฯ เราก็ได้รับงบประมาณในลักษณะประจำปี ทำให้สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำงานได้สะดวกมากขึ้นด้วย”

‘โครงการจุดประกาย’ ทำจริงในระยะสั้น แต่เกิดผลที่ยั่งยืน

กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ ASA CAN ทำคือเวิร์คช็อปและการจัดเสวนา โดยเวิร์คช็อปที่ ASA CAN ทำนั้นจะเรียกว่า catalyst project หรือ โครงการที่เน้นการจุดประกายให้ผู้เข้าร่วมเกิดแรงบันดาลใจและสามารถนำไปใช้งานต่อได้ “คือเราลงมือทำจริงในระยะสั้นๆ แต่พอจบแล้วสามารถเห็นผลอะไรบางอย่างที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การต่อยอดที่ยั่งยืน”

ASA CAN Ten for Ninety เน้นสนุกแต่ได้บุคคลากรสำหรับอนาคต

ASA CAN ยังแตกหน่อออกมาเป็นอีกกิจกรรม นั่นคือ ASA CAN Ten for Ninety ที่มีคอนเซ็ปต์การทำงานว่าเป็นการสละเวลา 10% ของสถาปนิก เพื่อมาทำงานให้กับคนอีก 90% บนโลกใบนี้ (เพราะมีสถิติว่าบนโลกใบนี้มีเพียงอาคารจำนวน 10% เท่านั้น ที่เจ้าของอาคารมีงบประมาณมากพอที่จะว่าจ้างสถาปนิก) โดย ASA CAN Ten for Ninety นั้นมีจุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ ASA CAN ได้ชวนเด็กๆ นักศึกษาที่เคยมาเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับ ASA CAN มาคิดกันว่าเขาอยากจะทำโครงการอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม กิจกรรมในปีแรกเมื่อปี 2559 ก็คือโครงการ ASA CAN Ten for Ninety: Public Transit Lounge ที่ได้นิสิตนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากหลากหลายสถาบัน และนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่สาธารณะจนกลายออกมาเป็นการจัดทำ ‘พื้นที่พักรอชั่วคราว’ ในโถงพักรอรถไฟในสถานีหัวลำโพง ปีต่อมาเป็นการตั้งคำถามกับป้ายรถเมล์ และในปีล่าสุด เป็นการ design-build ‘เครื่องยืดเหยียด’​ หรือ ‘Stretching Station’ เพื่อใช้ยืดเส้นยืดสายก่อนและหลังออกกำลังกายอย่างถูกวิธี

“บางโครงการของ ASA CAN Ten for Ninety นั้นบางครั้งอาจจะดูเหมือนเป็นการเล่นสนุก
แต่สิ่งสำคัญคือ เราได้คนรุ่นใหม่ที่สนุกกับการทำงานสายนี้เต็มไปหมดเลย”

“และพวกเขาก็ได้ความรู้จากสถาปนิกที่มาช่วยเป็นโค้ชในการทำงาน อย่าง Integrated Field (IF), CloudFloor และ mor and farmer ที่เขาจะมีวิธีสอน design thinking และการทำสื่อที่ช่วยให้เราตัดสินใจต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและตรงเป้า”

มีดีที่ชุมชนคลองบางหลวง

ชุมชนคลองบางหลวงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ทาง ASA CAN ได้เข้าไปทำงานร่วมกับชาวชุมชน โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นจากเมื่อ 4-5 ปีก่อนที่สุพิชชาในฐานะอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำนักศึกษาปริญญาโทและเอก จากหลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ลงพื้นที่ในคลองบางหลวง โดยพวกเขาพบว่าคลองบางหลวงในเวลานั้นมีความเป็นชุมชนในเชิงกายภาพ คือการมีบ้านริมน้ำที่มีทางเดินเลียบคลองร่วมกัน สิ่งที่สุพิชชาสนใจคือการสนับสนุนให้เกิดความตระหนักรู้ในคุณค่าของชุมชนตนเอง และการสนับสนับสนุนให้เกิด sense of place ของชุมชนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในช่วงแรกที่ลงพื้นที่สุพิชชาและคณะนักศึกษามีความรู้สึกว่าชุมชนคลองบางหลวงเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วนั้นค่อนข้างเงียบเหงา นักท่องเที่ยวที่แวะมาก็มักจะมาหยุดดูหุ่นละครเล็กที่บ้านศิลปินและลงเรือกลับไป ไม่ได้ใช้เวลาในพื้นที่สักเท่าไร โดยเฉพาะช่วงกลางวันของวันธรรมดาที่เหมือนพื้นที่จะถูกทิ้งร้าง “แต่เรารู้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีศักยภาพที่ซ่อนอยู่แน่ๆ เพราะเป็นชุมชนที่ก่อตั้งกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพราะฉะนั้นมันต้องมีของดีอยู่แน่นอน ซึ่งก็มีจริงๆ ทั้งความสวยงามทางสถาปัตยกรรมของวัดกำแพงบางจาก และประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่คนในพื้นที่ยังจำได้และเล่าต่อกันมา แล้วจุดเด่นจริงๆ ก็คือ เป็นชุมชนที่มีบ้าน วัด โรงเรียน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ซึ่งหาได้ยากมากในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้”

จากนั้น ทั้งกลุ่มนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและ ASA CAN ก็พยายามเข้าไปทำกิจกรรมหลายอย่างในชุมชนคลองบางหลวง ตั้งแต่ทำแผนที่ร้านค้าร้านอาหาร รวมถึงของดีต่างๆ ของชุมชน นิทรรศการภาพถ่ายคนในชุมชน หนังสือรวบรวมของสะสม ของเก่า และเอกสารจากคำบอกเล่าของคนในชุมชนคลองบางหลวง จับมือกับชาวชุมชนทำพิพิธภัณฑ์ และร่วมงานกับโครงการของรัฐบาลเพื่อนำเอางบประมาณบางส่วนมาทำจุดพักระหว่างทางเดินเชื่อมต่อพื้นที่ในชุมชน เพื่อให้ทางเดินมีความน่ารื่นรมย์มากยิ่งขึ้น

“จุดประสงค์จริงๆ ของกิจกรรมทั้งหมดคือ เราอยากให้คนเห็นศักยภาพของพื้นที่ชุมชนคลองบางหลวง ทั้งคนนอกและคนใน ด้วยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ กำลังคืบเข้ามา อีกหน่อยรถไฟฟ้าจะมาอยู่ใกล้ๆ เพิ่มอีกสาย มันคงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายมากถ้าเราจะต้องสูญเสียชุมชนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ตรงนี้ไป ซึ่งถ้าชาวชุมชนเห็นศักยภาพ เขาก็จะเข้าใจตรงนี้ เช่นเดียวกัน เมื่อชาวชุมชนเห็นค่าของชุมชนเขา เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามา เขาก็จะไม่ยอมปล่อยให้ใครเข้ามาทำอะไรก็ได้ตามใจ หลังจากผ่านไป 4-5 ปี สิ่งที่เราพยายามทำทั้งหมด นั่นคือใช้ design process ชวนให้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างตัวพิพิธภัณฑ์ที่ตอนแรกมีแต่ของของหัวหน้าชุมชน ตอนนี้ชาวบ้านก็เริ่มเอาของมาให้พิพิธภัณฑ์มากขึ้น ก็เรียกว่าเขายินดีและเห็นค่าของชุมชนของเขาเองมากขึ้น”

ชุมชนไม่ใช่สนามเด็กเล่น

เป็นธรรมดาที่การทำงานทุกอย่างย่อมมีปัญหา การลงพื้นที่ของ ASA CAN ก็เหมือนกัน สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การวางตัวและการเข้าหาคนในพื้นที่ “เราไม่สามารถเข้าไปแล้วทำตัวใหญ่ว่าเราจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่ หรือถ้าทำตัวเล็กเกินไปก็ไม่ดี เพราะที่ผ่านมาในพื้นที่อื่นๆ เราก็เคยถูกคนที่ไม่เข้าใจในการทำงานของเรา ทรีตเราผิดๆ คือ กลายเป็นว่าเราต้องไปทำงานตามคำสั่งเขา หรือทำเพื่อให้เขามีอำนาจเหนือคนอื่นๆ ในชุมชน” นอกจากนั้น ในฐานะพี่เลี้ยงและอาจารย์ ทีมงานของ ASA CAN ก็ยังต้องดูแลความรู้สึกของเด็กๆ ที่มาร่วมเวิร์คช็อปด้วย โดยเฉพาะสุพิชชาที่เชื่อว่า ถ้าเด็กไม่สนุกกับการทำงาน หรือเกิดทัศนคติที่ไม่ดีขึ้นมาเมื่อไร ก็จะไม่สามารถทำงานต่อไปได้ดี รวมทั้งไม่เป็นผลดีต่อสภาพจิตใจของเด็กด้วย

“เช่นเดียวกัน ในการทำงาน ถ้าพื้นที่ไหนที่มี conflict มากๆ หรืออยู่ในภาวะฉุกเฉิน เราก็จะไม่เอาเด็กหรือคนที่ไม่มีประสบการณ์ไปลงพื้นที่เลย เพราะเด็กยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ เพราะว่าชุมชนไม่ใช่สนามเด็กเล่น ไม่ใช่ที่ให้เราไปทดลอง ถ้าเราเอาเด็กลงไป เด็กก็อาจจะรู้สึกแย่ แล้วชุมชนก็ไม่ได้อะไรด้วย”

บทบาทของสถาปนิกคือเปลี่ยน ‘นามธรรม’ ให้เป็น ‘รูปธรรม’

“ถ้าถามว่าสถาปนิกจะเข้าไปช่วยพัฒนาเมืองหรือว่าพื้นที่สาธารณะให้ดีขึ้นได้ยังไง ส่วนตัวคงตอบว่าได้เยอะเลยล่ะ เพราะสถาปนิกจะถูกสอนให้คิดแก้ปัญหา ให้เปลี่ยนสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ออกมาเป็นของทางกายภาพที่จับต้องได้ อย่างสมมติ เราอาจจะถกเถียงกันเรื่องศูนย์ชุมชนเป็นต้น ซึ่งเราก็คุยกันในความคิด แต่สถาปนิกอาจจะทำตุ๊กตาออกมาตัวนึงให้เห็นและจับต้องได้ เพื่อที่จะได้เห็นภาพมากขึ้น หรืออย่างการทำงานของ ASA CAN Ten for Ninety ที่หัวลำโพงที่บอกไป ครั้งนั้นมีนักศึกษาสถาปัตย์ทำงานกับนิสิตรัฐศาสตร์ ฝั่งรัฐศาสตร์จะวิเคราะห์ได้ละเอียดมาก มีความเข้าใจในความซับซ้อนของสถานการณ์ได้ดีกว่านักศึกษาสถาปัตย์ อย่างไรก็ตามฝั่งสถาปัตย์สามารถเปลี่ยนการวิเคราะห์นั้นออกมาเป็น solution ทางกายภาพที่จับต้องได้”

‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่ที่คนสามารถแสดงออกถึงความแตกต่างได้อย่างอิสระ

สุพิชชาบอกว่า ‘สถาปนิกชุมชน’ ก็คือ ‘สถาปนิก’ เพียงแค่ทำงานกับคนเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ทำงานเพื่อเจ้าของโครงการเพียงคนเดียว และชุมชนที่ว่าก็อาจเป็นได้ทั้ง ชุมชนในพื้นที่เดียวกัน (Place-based Community), ชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน (Community of Interest), ชุมชนที่ร่วมต้านทานสิ่งเดียวกัน (Community of Resistance), ชุมชนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน (Community of Culture) และชุมชนทางวิชาชีพ (Community of Practice) “ดังนั้นชุมชนที่ว่าก็อาจจะเป็นชุมชนคนรวยก็ได้ อย่างคอนโดก็คือชุมชนที่คนอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หน้าที่ของสถาปนิกชุมชนก็คือทำให้พื้นที่สาธารณะตรงนี้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งคนเราเป็นปัจเจกมากเท่าไร เราก็ยิ่งต้องการการรวมกลุ่ม การที่โลกทุกวันนี้มีความเป็นปัจเจกสูง ไม่ได้หมายความว่าต่างคนต่างอยู่ ในทางกลับกัน ปัจเจกทำให้เกิดความหลากหลาย”

“พื้นที่สาธารณะจึงควรจะเป็นพื้นที่ที่คนสามารถแสดงออกถึงความแตกต่างได้อย่างอิสระ
เป็นที่ที่เรามาแลกเปลี่ยนกัน ทำความรู้จักกับผู้คนที่มีอะไรบางอย่างสอดคล้องกับเรา”

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ‘แนวคิดแบบสังคมสงเคราะห์’

“สิ่งหนึ่งที่เราจะเน้นย้ำเสมอคือ การมาทำงานตรงนี้ พวกเราไม่ได้ลงมาช่วยใคร แต่เราต้องลงไปเรียนรู้จากคนในพื้นที่ จุดประสงค์ของ ASA CAN คืออยากให้คนรุ่นใหม่มาทำงานเพื่อสังคมแล้วรู้สึกสนุก รู้สึกว่าได้มาเรียนรู้ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา การคิดว่าเรามาช่วยเขา มาทำความดี มาทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เป็นความคิดที่น่ากลัว เพราะนั่นเท่ากับว่าเรามองว่าเขากับเราไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ต้นแล้ว เราขอแค่นี้คือ ขอให้น้องๆ ที่มาทำงานกับเราได้สนุกกับงาน สนุกกับการเรียนรู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งที่มีประโยชน์”

ภาพถ่ายบุคคล: ศรันย์ แสงน้ำเพชร
ภาพถ่ายการทำงานจาก: Facebook: ASACANCommunityActNetwork/, Facebook: tenforninety

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles