ต้อนรับพรมละหมาดแนวใหม่ ลดการใช้วัสดุลงได้ 50% โดย Shepherd Design Studio ประเทศบาห์เรน

เราคงพอรู้กันอยู่ว่าสินค้าและบริการสมัยใหม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานบางอย่างที่ช่วยมอบความยั่งยืนถึงจะ ‘ซื้อใจ’ ผู้คนในยุคนี้ได้ แต่เอาเข้าจริงแล้วในบรรดาสินค้าอุปโภคบริโภคปัจจุบันมันก็ไม่ได้มีแง่มุมใหม่ๆ อะไรนักที่จะสร้างความเหนือชั้นในเรื่องนี้ขึ้นได้ (คือถ้ามีอะไรที่ทำได้ในแง่ของดีไซน์หรือตัวเลือกวัตถุดิบ แบรนด์ต่างๆ ก็ตบเท้าทำกันแทบจะครบแล้ว)

แต่ล่าสุดเราเห็นงานออกแบบของใช้ประจำบ้านชิ้นหนึ่งที่ยังหาทางไปต่อได้แบบเหนือๆ นั่นก็คือ ‘พรมละหมาด’ ของชาวมุสลิมอันเป็นผลงานความคิดของ Shepherd Design Studio ประเทศบาห์เรน

…ดีไซเนอร์กลุ่มนี้พลิกแพลงพรมละหมาดให้ ‘รักโลก’ ขึ้นได้อย่างไรเราไปดูกัน

แน่นอนว่าการทำละหมาดวันละห้าครั้งคือธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมุสลิม(ที่เคร่งครัด)ทั่วโลก และในกระบวนการนี้ชาวมุสลิมนับแสนนับล้านคนก็จะต้องคุกเข่าและหมอบกราบไปพร้อมกับการสวดมนต์ต่อพระเจ้า ดังนั้นแล้วเพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล วิถีชีวิตของพวกเขาจึงต้องมีพรมละหมาดนี้ ‘ติดบ้าน’ หรือ ‘ติดตัว’ กันเป็นปกติ   ซึ่งทีมดีไซเนอร์เล็งเห็นว่าถ้าพวกเขาอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง (โดยเฉพาะในเชิงทัศนคติ) ให้กับผู้คนในวงกว้างแล้ว เจ้าพรมผืนเล็กๆ ชิ้นนี้แหละจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด

ถ้าเทียบกับพรมแบบมาตรฐานทั่วไป พรมละหมาดดีไซน์ใหม่จาก Shepherd Design นี้สามารถลดปริมาณการใช้วัสดุลงได้ถึง 51% ถือเป็นตัวเลขที่น่าตื่นตะลึงทีเดียว ถ้าเรามองปริมาณการใช้สินค้านี้ในระดับมหภาค  และไอเดียที่นำมาสู่การลดปริมาณวัสดุนี้ก็ไม่ได้ซับซ้อนเลย เพียงเราสังเกตพฤติกรรมการใช้งานว่าชาวมุสลิมทุกคนต้องการพื้นที่เพียง 7 จุดเท่านั้นในการทำละหมาดแต่ละครั้ง

“เวลาชาวมุสลิมเราทำละหมาดมันเหมือนว่าเราใช้ทั้งร่างกายก็จริง แต่มันจะมีเพียง 7 จุดที่ต้องสัมผัสกับพื้นพรม นั่นก็คือ หน้าผาก สองมือ สองเข่า และสองเท้า ข้อสังเกตนี้บอกอะไรกับเรา มันบอกว่าพรมส่วนอื่นที่อยู่นอกเหนือจากนี้คือไม่จำเป็น” ดีไซเนอร์จาก Shepherd Design ค่อยๆ อธิบายให้เห็นภาพ

“พรมละหมาดดีไซน์ใหม่นี้จึงมีชิ้นส่วนหลักแค่สามส่วน ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนวงกลม 2 วงสำหรับวางมือ สามเหลี่ยม 1 ชิ้นสำหรับวางหน้าผาก และส่วนสุดท้ายที่ด้านปลายของพรมไว้สำหรับการยืนและนั่งคุกเข่า” ซึ่งชิ้นส่วนทั้งสามนี้ดีไซเนอร์ได้ออกแบบให้เชื่อมต่อกันผ่านแถบวัสดุเล็กๆ เติมลูกเล่นให้สะดุดตาด้วยลวดลายจากธรรมชาติ ทั้งยังวางแผนว่าจะทำชิ้นส่วนคล้ายเข็มขัดมาติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับระยะของพรมให้พอดีกับรูปร่างของแต่ละคนได้

“ในมุมหนึ่งเรามองว่าพรมตัวนี้สามารถจะชี้นำให้ผู้ใช้ทำละหมาดกันด้วยท่าทางที่เหมาะสม คือเหมาะกับสรีระ กับหลักการยศาสตร์ ส่วนในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการจุดประกายให้พวกเขานึกถึงนัยสำคัญของการบริโภค ที่จะมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย” ตัวแทนจากสตูดิโอกล่าวสรุป

ล่าสุดพวกเขานำผลงานนี้ไปเปิดตัวที่ Saudi Design Week (ประเทศที่มีประชากรร้อยละ 90 เป็นมุสลิม) และกำลังสำรวจความเป็นไปได้ที่จะนำวัสดุรีไซเคิลมาเป็นตัวเลือกการผลิต ไม่ว่าจะเป็นไม้คอร์ก ยางธรรมชาติ หรือกระทั่งชุดว่ายน้ำเก่า

 

อ้างอิง: www.dezeen.com

Tags

Tags: ,

Visa Sortrakul

บรรณาธิการ tcdcconnect.com และนักเขียนอิสระ สร้างแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเมือง งานสร้างสรรค์ท้องถิ่น และการเดินทางกลับสู่ธรรมชาติ ปัจจุบันหลงใหลการประยุกต์อารยธรรมโบราณและองค์ความรู้ชาวบ้านสู่งานสร้างสรรค์ใหม่ๆ

See all articles