Tatami ReFab Project คืนชีพเสื่อตาตามิสู่ผลิตภัณฑ์ดีไซน์สวยร่วมสมัย

“มิลานแฟร์” หรือ Milano Salone Furniture Fair ปีนี้ มีผลงานออกแบบสะดุดตาหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือโปรเจ็กต์ชื่อ Tatami ReFab Project โดยกลุ่มนักออกแบบชาวญี่ปุ่น 6 คน นาม HONOKA เพราะนอกจากคอนเซ็ปต์การฟื้นคืนชีพให้เสื่อตาตามิ (Tatami) จะน่าสนใจแล้ว พวกเขายังใช้วิธีการออกแบบและการผลิตที่ล้ำมากๆ ไม่ใช่แค่เอาเสื่อที่ว่ามาใช้เป็นวัสดุในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์

อันดับแรก พวกเขาเอาเสื่อตาตามิเก่าที่ไม่ใช้งานแล้วมาบด แล้วนำมาผสมเข้ากับพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เกิดเป็นวัสดุชิ้นใหม่ที่ได้มาจากหญ้าอิกูซะ (Igusa) ที่ใช้ทอเสื่อตาตามิแบบดั้งเดิม มีคุณสมบัติดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์และกันความชื้นเหมือนตาตามิ แต่ขณะเดียวกันก็มีความคงทนและร่วมสมัยตามแบบฉบับของพวกเขาเอง

จากนั้น ดีไซเนอร์แต่ละคนจึงออกแบบเฟอร์นิเจอร์ขึ้นมา โดยผลงานแต่ละชิ้นล้วนมีรูปทรง ลวดลาย หรือเรื่องราว ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมประเพณีของญี่ปุ่น แต่ก็แน่นอนว่าอยู่ในงานออกแบบที่ร่วมสมัยเก๋ไก๋มากๆ ที่สำคัญ พวกเขาใช้การพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D Printing) ในการขึ้นรูปชิ้นงาน และเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นใช้วัสดุที่พวกเขาพัฒนาขึ้น

ผลงานออกแบบของ HONOKA ที่เราชอบ เช่น อ่างล้างมือทรงสูง Tachiwaki โดย James Kaoru Bury ที่ใช้ลวดลาย Tachiwaki ของกิโมโน มาสร้างเป็นเส้นสาย, เก้าอี้สตูล Chigusa โดย Soichi Yokoyama ที่มีรูปทรงคล้ายกับแปรงไม้ไผ่สำหรับตีผงชาเขียว และอีกชิ้นที่คูลมากๆ คือ โคมไฟแนวนอนทรงยาว Tara โดย Shinnosuke Harada ที่มีรูปลักษณ์ดิบๆ เหมือนเอาหญ้าอิกูซะมามัดเป็นกอ แต่ก็สวยเท่ได้กับงานออกแบบร่วมสมัย

Tatami ReFab Project เป็นการพยายามรักษาวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่น อย่าง เสื่อตาตามิ ที่มีความนิยมลดลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของคนเมืองปัจจุบัน โดยในการอนุรักษ์ของพวกเขานั้นเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่นำเอาความเก่ามาอยู่ร่วมกับความใหม่ได้อย่างลงตัว ซึ่งวิธีที่ว่านี้เองก็ดูจะทำให้วัฒนธรรมดังกล่าวถูกต่อชีวิตได้ยืนยาวและสวยงามกว่าวิธีอนุรักษ์แบบเดิมๆ

แปลและเรียบเรียงจาก: honoka-lab.jpspoon-tomago.com

Tags

Tags:

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles