แคว้นลาดักห์ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียกำลังเป็นเดสทิเนชั่นฮอตของนักท่องเที่ยวชาวไทย ดินแดนอันสวยงามแปลกตาที่แทรกตัวอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาคุนหลุนนี้ทั้งหนาวเย็นและแห้งแล้งอยู่เกือบตลอดปี ขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิประเทศที่ยากต่อการลงหลักปักฐานของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร
ฝนที่ตกเพียงน้อยนิดคือโจทย์ยากข้อแรกของชาวแคว้นลาดักห์ ในทุกๆ ปีชาวบ้านจะรอคอยน้ำที่ละลายจากหิมะและน้ำแข็งบนเขาเพื่อนำมาใช้ปลูกพืชในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ความแห้งแล้งหนาวเย็นที่พอทนอยู่ก่อนก็กลับรุนแรงขึ้น เกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูกาลเพาะปลูก (ช่วงเดือนเมษา-พฤษภาคม) เพราะน้ำแข็งบนเขาละลายลงมาไม่พอ
จนกระทั่งมีวิศวกรหนุ่มคนหนึ่งลุกขึ้นมาบอกว่า ”เราจะไม่รอน้ำจากภูเขาแล้ว แต่เราจะสร้างภูเขาน้ำแข็งย่อมๆ ขึ้นมาเอง”
‘The Ice Stupa’ หรือเจดีย์น้ำแข็ง คือนวัตกรรมแหล่งน้ำเทียมธรรมชาติที่วิศวกรท้องถิ่น โซนัม วังชุก (Sonam Wangchuk) ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำให้ชาวแคว้นลาดักห์ วังชุกเสนอไอเดียง่ายๆ ว่าเขาจะบาลานซ์ภาวะความไม่สมดุลตามธรรมชาตินี้ด้วยการสะสมน้ำจากหิมะและน้ำแข็งในช่วงฤดูหนาว เพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ…ในเวลาที่เกษตรกรต้องการมากที่สุด
“ผมสังเกตเห็นน้ำแข็งที่เกาะแน่นอยู่ใต้สะพานแห่งหนึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม นั่นทำให้ผมบรรลุว่าสิ่งที่ทำให้น้ำแข็งละลายได้คือแดดจากพระอาทิตย์ ไม่ใช่อุณหภูมิในอากาศ” เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว CNN ในปี 2014 วิศวกรหนุ่มทดลองสร้างโปรโตไทป์ของเจดีย์น้ำแข็งนี้ขึ้นในดินแดนหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองเลห์ มันมีลักษณะเป็นรูปโคนเหมือนกับเจดีย์ และใช้เพียงพลังงานฟิสิกส์ตามธรรมชาติในการก่อตัวขึ้นเท่านั้น
“อันดับแรกคือแหล่งน้ำของเราจะต้องมาจากที่สูงครับ สูงกว่าจุดที่เราจะสร้างเจดีย์น้ำแข็งอย่างน้อยๆ 60 เมตร” นัมชุกกล่าว เขาลองสร้างระบบท่อส่งน้ำแบบบ้านๆ ลึกลงไปใต้ผืนดินเพื่อรักษาอุณหภูมิไม่ให้น้ำในท่อกลายเป็นน้ำแข็ง โดยระบบท่อนี้จะทยอยลำเลียงน้ำจากหิมะละลายบนภูเขาลงมาสู่หมู่บ้าน
“เมื่อน้ำจากที่สูงไหลลงมาตามท่อ หลักการธรรมชาติคือเมื่อมันมาถึงที่ต่ำมันจะดันตัวพุ่งขึ้น นั่นคือหลักฟิสิกส์ ซึ่งเราก็อาศัยธรรมชาติตรงนี้ติดตั้งตัวพ่นน้ำพุรอไว้ที่ปลายท่อฝั่งหมู่บ้าน ให้มันสเปรย์น้ำพุขึ้นไปเจอกับความเย็นในบรรยากาศภายนอกอีกครั้ง และค่อยๆ ฟรีซตัวตกลงมาบนพื้นดินกลายเป็นน้ำแข็งในรูปทรงโคนหรือเจดีย์อย่างที่เห็นครับ”
วังชุกเสริมว่ารูปทรงเจดีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาตินี้ยังมีข้อดีที่มันจะละลายค่อนข้างช้า “เพราะผิวสัมผัสของเจดีย์ที่ปะทะกับแดดตรงๆ นั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปริมาตรน้ำที่อยู่ภายใน” นั่นทำให้ภูเขาน้ำแข็งเทียมของเขาทรงตัวอยู่ได้จนถึงช่วงฤดูเพาะปลูกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม กลายเป็นแหล่งน้ำที่พอเพียงสำหรับเกษตรกรในแคว้นลาดักห์ได้อย่างยอดเยี่ยม
โซนัม วังชุก ได้รับรางวัล Rolex Award for Enterprise จากนวัตกรรมเพื่อสังคมชิ้นนี้ในปี 2016 และได้รับเงินสนับสนุนเพื่อขยายโครงการจากรัฐบาลอินเดียจวบจนปัจจุบัน ในปี 2018 นัมชุกยังวางแผนที่จะเชื่อมโยง Ice Stupa ของเขาเข้ากับการท่องเที่ยวของแคว้นลาดักห์ ดังนั้นถ้าใครมีแพลนจะไปเที่ยวเลห์กันในปีนี้ เราขอเชียร์ให้คุณแวะไปดูไปศึกษากันนะ
อ้างอิง: icestupa.org