หนึ่งในวิกฤติปัญหาสุขภาพของอินเดียคือการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งในแต่ละปีจะมีประชากรอินเดียป่วยเป็นไข้เลือดออกกว่า 400 ล้านคน! และจำนวนยิ่งเพิ่มขึ้นๆ ทุกปี ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่ามาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ยุงลายใช้ระยะฟักตัวสั้นลง แพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมและจำนวนประชากรที่แออัด และอุดมด้วยกองขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงขนาดมหึมา
คนอินเดียตระหนักถึงภัยร้ายของยุงลาย พวกเขาใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงเพื่อต่อสู้กับยุงในบ้าน และคอยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน แต่ความจริงแล้วแหล่งเพาะพันธุ์ใหม่ผุดขึ้นรอบบ้านตามกองขยะ ซึ่งกองขยะมหึมามหาศาลเหล่านี้ แม้มีน้ำขังแค่เซนติเมตรเดียวก็ทำให้เกิดสภาวะที่เหมาะสมในการวางไข่ของยุง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ไม่จบสิ้น ต่อให้ใช้ยากันยุงในบ้าน ออกไปนอกบ้านก็เสี่ยงโดนยุงกัดอยู่ดี
แบรนด์ยากันยุงยอดนิยมแบรนด์หนึ่งของอินเดีย ที่มีเป้าหมายของแบรนด์คือฆ่ายุงเพื่อช่วยชีวิตคน จึงแก้ปัญหาหยุดวงจรอุบาทว์ด้วย The Killer Pack กล่องยากันยุงที่ไม่ได้แค่ฆ่ายุงในบ้าน แต่ฆ่ายุงนอกบ้านตั้งแต่ต้นตอ ด้วยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีสารโปรไบโอติก Bacillus thuringiensis (ซีรีโอไทป์ H14) 5% มีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง เมื่อเราใช้ยากันยุงและทิ้งกล่องในแหล่งขยะ เมื่อโดนความชื้น กล่องจะสลายแบคทีเรียออกมาฆ่าลูกน้ำยุงลาย และกล่องนี้ยังผลิตจากวัสดุย่อยสลายได้ 100% ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ชนิดอื่น ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Killer Pack ได้รับการแนะนำให้ใช้ทั้งจากองค์กรอนามัยโลก ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) สถาบันวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย และสถาบันสิ่งแวดล้อมของอินเดียว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย
Killer Pack ถูกจัดจำหน่ายใน 7 แคว้นทั่วอินเดียที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูง เข้าถึงง่ายเพราะมีจำหน่ายที่ตามร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ซึ่งเวิร์กมากกับอินเดียในช่วงที่โควิดระบาด เมื่อระบบสาธารณสุขล่มสลายจนไม่มีแพทย์และเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะช่วยเข้าไปดูแลโรคระบาดที่เกิดจากยุง Killer Pack กล่องนักฆ่าที่ร้ายต่อยุงแต่ดีต่อคน ก็ช่วยให้บรรเทาการแพร่กระจายของแหล่งเพาะพันธุ์โรคได้ส่วนหนึ่ง
ประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความชุกของโรคไข้เลือดออกสูง กรมควบคุมโรคจึงแนะประชาชนให้ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในช่วงหน้าฝน ป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยยึดหลักปราบยุงลาย ‘3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค’ นั่นคือ 1. เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2. เก็บขยะเศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3. เก็บน้ำปิดให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันโรคไข้เลือดออกได้
อ้างอิง: www.vmlyr.com, www.afaqs.com, kyooriuscreative.awardsengine.com, ddc.moph.go.th