คืนความสงบสุขให้มาตุภูมิด้วยภาพเขียนผนังแคมป์ผู้ลี้ภัย

“ศิลปะขั้นสูงในการทำสงครามคือการเอาชนะคู่ต่อสู้โดยไม่ต้องรบ” เป็นคำพูดอันคมคายของนักปราชญ์ชาวจีน ‘ซุนจื่อ’ ซึ่งให้ความสำคัญกับทุกชีวิตแม้ในภาวะของสงคราม ทว่าโลกไม่อาจเดินบนกฎของการพูดจาหรือตกลงกันด้านผลประโยชน์ให้ลงตัวเสมอไป ภาพการสูญเสียและการทำลายล้างชีวิตจึงมีให้เห็นมาตลอดเวลา ท่ามกลางพิษภัยแห่งสงครามนั่นเองผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนต้องทิ้งบ้านช่องที่ตนรักกลายเป็นผู้อพยพบนพื้นที่ห่างไกล เฝ้ารออย่างเวิ้งว้างและมีความหวังว่า สักวันจะได้กลับไปสู่มาตุภูมิที่แสนอบอุ่น เช่นที่ตอนเหนือของประแทศ จอร์แดน นี่คือแคมป์ผู้อพยพที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก –  Za’atari

Za’atari ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 แล้วก็ขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ จากวิกฤติสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ชาวซีเรียมากว่าแสนคนที่หนีภัยสงครามมารวมตัวกันอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายอันแห้งแล้ง เป็นมหานครแห่งผู้อพยพที่ต้องการความช่วยเหลือในทุกด้านไม่เพียงความเป็นอยู่และสุขอนามัยเท่านั้น แต่ด้านจิตใจก็เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนของที่นี่กำลังขาดแคลนการศึกษาและพัฒนาการด้านศิลปวัฒนธรรม the Za’atari Project เป็นโปรเจ็กต์อาร์ตที่จะเข้าไปเยียวยาและให้โอกาสพวกเขาได้ระบายความรู้สึกของตัวเองให้ชาวโลกได้เห็น ผ่านภาพเขียนบนกำแพงและฝาผนังของแคมป์ เปลี่ยนสีดินและทะเลทรายให้มีสีสันบอกเล่าความฝันถึงโลกในแบบที่เขาควรจะมีเช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์อื่นๆบนโลก

Joel Bergner  ศิลปินชาวอเมริกัน ร่วมมือกับนักการศึกษาและศิลปินชาวซีเรียภายในแคมป์ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ เช่น ptART, ACTED, UNICEF, ECHO และ Mercy Corps. รวมถึงเด็กๆ ที่นั่นช่วยกันจัดการเติมสีสันให้กับความทึบทึม เรียกร้องความสงบให้กลับคืนสู่มาตุภูมิ พร้อมทั้งชี้ชวนให้ชาวโลกหันมาสนใจปัญหานี้ร่วมกัน อย่าโดดเดี่ยวพวกเขาไว้เพียงลำพัง แม้จะเป็นเสียงสะท้อนผ่านงานศิลปะที่ไม่ใช่การลงมติในที่ประชุมทางการเมืองโลก แต่ก็ดังมากพอจะให้ทุกคนหันมาใส่ใจในความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ หลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้ทีมงานตั้งเป้าจะขยายไปสู่แคมป์ผู้ลี้ภัย Azraq ต่อไปด้วย

อ้างอิง: 1:AM , Joel Artista

บันทึก

บันทึก

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles