‘Toolmorrow’ เกรียนจนได้เรื่อง พ่อ-แม่-ลูก กับเรื่องยุ่งๆ ของวัยว้าวุ่น

หลายปีก่อน ชื่อของ สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ คือนักออกแบบมือรางวัลที่ผลงานของเขารั้งตำแหน่งอันดับต้นๆ ในเวทีประกวดและแพลทฟอร์มออกแบบชั้นนำของไทย กับโปรดักท์แนว Positive Design ภายใต้แบรนด์ SURASEKK แล้วอยู่ๆ ความเคลื่อนไหวของเขาก็เงียบหายไป จนเมื่อราวหนึ่งปีที่ผ่านมา เขาสร้างความประหลาดใจให้กับคนที่ติดตามงานของเขาด้วยการหันมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Toolmorrow แพลทฟอร์มด้านสังคมที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ การใช้สารเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ นำเสนองานผ่านรูปแบบ Social Experiment โดยหยิบเอาความเชื่อผิดๆ ของเยาวชนมาทดลองเพื่อสร้างการตระหนักรู้และปรับทัศนคติ อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกในอนาคต

การแหวกแนวทางแบบคนละทิศคนละทางกับสิ่งที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์ก่อนหน้า ทำให้เราตั้งคำถามหลายๆ ข้อ เป็นต้นว่า อะไรทำให้เขาหันมาจับงานด้านสังคม? หรือเขาเบื่องานออกแบบเสียแล้ว? บทสนทนาต่อจากนี้จะช่วยไขข้อข้องใจกับความเปลี่ยนแปลงจากงานสายออกแบบไปสู่การทำงานด้านสังคมของเขาและทีมงาน ตลอดจนมุมมอง ณ ปัจจุบัน และเป้าหมายที่เขากับทีมตั้งไว้ในอนาคต

จากซ้ายไปขวา: กมลวัฒน์ ชูเตชะ (Senior Creative), กรรณิการ์ ชีวากร (Executive Director), สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ (Managing Director), พนมกร มั่นแช่ม (Producer)

Q: การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเริ่มจากตรงไหน?

A: พอทำงานออกแบบมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ตอนที่ทำงานออกแบบ ได้รางวัล คนยอมรับ ชื่นชม เราได้ความภูมิใจก็จริง แต่มันรู้สึกว่ายังไม่สมบูรณ์และเติมเต็มในจิตใจ เริ่มอยากจะทำอะไรให้กับคนรอบข้าง คนอื่นๆ บ้าง และได้มารู้จักโมเดลของกิจการเพื่อสังคมซึ่งเรียบง่าย แต่มันมีพลังกับสังคมมาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราควรจะทำกับคนรอบข้างมันน่าจะแบบนี้แหละ พอตั้งเป้าได้แล้ว คำถามต่อมาคือเราจะทำอะไร จนวันหนึ่งเรามีโอกาสได้ดูวิดีโอชุดหนึ่งที่ทำให้เราฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเราสามารถนำงานดีไซน์มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ เราก็เลยคิดว่าอยากจะทำวิดีโอที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เข้าถึง และมีประโยชน์ต่อคนหมู่มาก เพื่อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจและนำไปใช้กับชีวิตประจำวัน พอดีช่วงเวลานั้นมีประกาศรับสมัครโครงการ ‘พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม’ หรือ ‘Banpu Champions for Change’ (BC4C) เมื่อกลางปี 2558  เราก็อยากทำกิจการเพื่อสังคมตามสิ่งที่เราคิดไว้  แต่เราก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอะไร  ผมเลยย้อนมาดูตัวเอง ผมเคยเป็นเด็กแย่ๆ มาก่อน เคยเกเร หนีออกจากบ้าน โดนออกจากโรงเรียน โดนส่งไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อให้เรียนใหม่ ผมคิดว่าผมเข้าใจกลุ่มเด็กที่เคยเป็นเหมือนกันผม พอย้อนกลับมาพิจารณาดู เหตุและปัจจัยที่เด็กกลุ่มนี้มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องมีอยู่สองสามข้อ คือตามเพื่อนและครอบครัวไม่อบอุ่น ผมเลยคิดว่าจะทำกิจการที่นำความมุมมองเหล่านี้มาทดลองให้เห็น ให้พวกเขาดูว่าสิ่งที่เขาเชื่อหรือคิดดีจริงหรือเปล่า ผ่านรูปแบบวิดีโอเชิง Social Experiment เราส่งโครงการนี้เข้าไป ทางบ้านปูก็ช่วยคลี่คลายความคิดให้เป็นรูปเป็นร่าง ทำให้คมในเชิงธุรกิจ

Q: แล้ว Toolmorrow ทำอะไรบ้าง?

A: ช่วงแรกเราเอาความเชื่อที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชีวิต อย่าง อกหักต้องทำอะไร เครียดควรทำอย่างไร แล้วทดลองว่าเรื่องนี้มันช่วยได้จริงหรือเปล่า ระยะแรก เป้าหมายที่วางไว้คือการสร้างความตระหนักรู้ให้เด็ก ซึ่งเรายังวัดผลที่เป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ฟีดแบคเชิงคุณภาพที่ได้รับคือการที่เด็กๆ ส่งข้อความเข้ามาในแฟนเพจเพื่อขอบคุณว่าวิดีโอของเราเปลี่ยนมุมมองของเขา หรือเอาสิ่งที่เราเสนอไปทดลองทำตามดูแล้วเกิดผลลัพธ์เชิงบวก ซึ่งมีเยอะพอสมควร ระยะที่สอง เมื่อเราทำได้สักพักหนึ่งก็รู้ว่ารากจริงๆ แล้วมาจากปัญหาภายในครอบครัว ส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวด้านการสื่อสารภายในครอบครัว ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก เพียงแต่วิธีการเลี้ยงลูกอาจแตกต่างกัน ซึ่งบางครั้งอาจใช้วิธีการเพิกเฉย ต่อว่า ทำร้าย เมื่อเป็นแบบนี้มากเข้าๆ กลายเป็นว่ามันสร้างกำแพงระหว่างพ่อแม่กับลูก แล้วเวลาลูกมีปัญหา ทุกข์ใจ หรือเครียด ก็ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ แต่เลือกปรึกษาเพื่อน ซึ่งเราก็รู้ว่าเพื่อนก็รุ่นราวคราวเดียวกัน วัยวุฒิ คุณวุฒิไม่ได้ต่างกัน อาศัยจำเอาจากอินเตอร์เน็ต จากรุ่นพี่ ซึ่งบ่อยครั้งที่กว่าจะมาปรึกษาพ่อแม่ก็ตอนที่เรื่องราวบานปลายไปแล้ว ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ในช่วงหลังๆ Toolmorrow จึงพยายามให้พ่อแม่กับลูกมามีส่วนร่วมในวิดีโอมากขึ้น เพื่อให้เกิดการเลียนแบบ เป็นแรงบันดาลใจ ว่าจริงๆ แล้ว เด็กๆ สามารถคุยกับคนในครอบครัวตัวเองได้ พ่อแม่ก็เข้าใจวิธีสื่อสารกับลูกที่ดีได้มากขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนในช่วงนี้ของ toolmorrow แต่เป้าหมายของเรา เปลี่ยนความเชื่อผิดๆ โดยสอนให้เด็กมีทักษะคิดและตัดสินใจได้เก่งมากขึ้น

Q: จากการเป็นนักออกแบบ พอมาจับเรื่องปัญหาวัยรุ่น ปัญหาครอบครัว การทำงานเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะการรีเสิร์ชที่ดูจะต่างจากการทำงานออกแบบโดยสิ้นเชิง?

A: ตอนแรกๆ เราหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง แต่พอเป็นเชิงเทคนิคแล้ว เรามีนักจิตวิทยาของกรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษาอยู่ ก่อนจะทำวิดีโอต่างๆ เราก็จะขอคำปรึกษาว่าถ้าเกิดผมทำอย่างนี้จะดีไหม จะชัดไหม หรือเราควรเอาข้อมูลสถิติตัวไหนมายืนยันหรืออ้างอิงบ้าง รวมไปถึงการพูดคุยกับองค์กรที่ทำงานกับเด็กให้ช่วยวิจารณ์วิดีโอให้ ก็ทำให้เราได้รู้มุมมองจากกลุ่มคนที่อยู่กับเรื่องของเด็กและครอบครัวจริงๆ

Q: โมเดลในการทำงาน Toolmorrow เริ่มจากจุดไหนจนถึงปลายทางที่เป็นวิดีโอ?

A: เราตั้งเป้าหมายสั้นๆ นะ โดยจะหาข้อมูลก่อนว่าวิดีโอชุดต่อไปจะทำประเด็นอะไร รีเสิร์ซในแฟนเพจก่อนด้วยการตั้งคำถาม เช่น โดยปกติเด็กๆ ไม่กล้าถามพ่อแม่เรื่องอะไรบ้าง คุยกับพ่อแม่บ่อยแค่ไหน ซึ่งคำถามเหล่านี้สามารถสะท้อนสิ่งที่เด็กๆ คิดและรู้สึกจริงๆ เมื่อมาประมวลดูแล้วก็พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความรักกับการเรียน Toolmorrow ก็หาสิ่งที่ใกล้ตัวพวกเขามากที่สุดก่อน เคยนะที่เอาสิ่งไกลตัวมาเล่าแล้วคิดว่าต้องเจ๋งแน่เลย เด็กๆ ก็ไม่ response กับวิดีโอชุดนั้นเท่าไหร่ เมื่อเรารู้แล้วว่าเด็กให้ความสำคัญกับความรัก เราก็มาลิสต์กันว่าความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับความรักและเรื่องเพศมีอะไรบ้าง แล้วจำลองความเชื่อนั้นขึ้นมา เมื่องานสมบูรณ์และปล่อยลงในแฟนเพจ เราจะมาดูฟีดแบคจากคอมเมนต์ จากข้อความที่ส่งเข้ามา ซึ่งคอมเมนต์จะนำไปสู่การแตกประเด็นในวิดีโอชุดถัดๆ ไป

Q: กลุ่มเป้าหมายที่อยากจะให้ดูแล้วแชร์คือเด็กกลุ่มไหน?

A: กลุ่มเป้าหมายที่เราสนใจคือเด็กมัธยมต้นขึ้นไปกับพ่อแม่พวกเขา แต่กลุ่มที่เราสนใจจริงๆ คือกลุ่มที่ครอบครัวรักลูกนะ แต่มีวิธีการสื่อสารไม่ถูกต้อง เราอยากให้วิดีโอของเราสะท้อนความคิดเห็นและทัศนคติที่มันเกิดขึ้นจริง ณ เวลานี้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันว่าจริงๆ แล้วมันมีวิธีแสดงออกทั้งพ่อแม่เองหรือลูกอย่างไรที่สามารถสร้างมุมมองเชิงบวกให้พวกเขาได้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว

Q: แล้วมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้เพจ Toolmorrow เข้าถึงกลุ่มคนที่เราอยากสื่อสารจริงๆ?

A: กลยุทธ์หลักคือการสร้างเนื้อหาที่ดี มีประโยชน์และเป็นสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ เพื่อให้พวกเขาไปทำตามและกลับใจเลือกทำในสิ่งที่มันดีกว่า รวมไปถึงเป็นแรงบันดาลใจให้พ่อแม่อคติหรือไม่สนใจลูกกลับมาเอาใจใส่พวกเขา

Q: โมเดลทางธุรกิจล่ะ Toolmorrow หาทุนมาจากไหน?

A: มีคนมาจ้างเราผลิตวิดีโอในเชิงประเด็นสังคม รวมถึงการเป็นสปอนเซอร์ให้กับวิดีโอของเรา หรือการทำงานให้กับเอเจนซี่ที่ลูกค้าของเขามีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับเรา

Q: สมาชิกของ Toolmorrow มีกันกี่คน?

A: รวมผมด้วยก็เป็น 4 คน มีมือตัดต่อ ครีเอทีฟ แฟนผมดูแลเรื่องเอกสาร การเงิน และการประสานงานต่างๆ โดยที่ผมจะเป็นคนคอยคุมภาพรวมทั้งหมด

Q: งานออกแบบยังทำควบคู่กันไปอยู่ไหม?

A: ดีไซน์ไม่จับแล้ว พอมาถึงวันหนึ่งมันก็ต้องเลือก ตอนนี้ก็ทำ Toolmorrow เต็มตัว แต่ก็ถือว่า Toolmorrow คือโปรดักท์ประเภทหนึ่งนะเพียงแต่หน้าตาอาจจะเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง

Q: วันที่คิดว่าเราจะเบนเข็มแล้ว คนรอบข้างว่าอย่างไรบ้าง?

A: ก็มีคนถามว่าบ้าหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เราก็ตัดสินใจแล้ว ซึ่งพอลงมือทำก็รู้สึกว่าเราคิดไม่ผิด

Q: คิดว่าอะไรคือตัววัดความสำเร็จของ Toolmorrow?

A: จากคำชื่นชมและคำขอบคุณ เวลาที่เราเปิดคอนเทนต์ใหม่ๆ แล้วเจอคอมเมนต์ที่ว่า “โตขึ้น ถ้ามีลูกจะเลี้ยงลูกแบบนี้” หรือเพจคุณหมอเข้ามาขอบคุณเรา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีประสบการณ์ตรงด้านเด็กและครอบครัว แต่ทำงานแบบมวยวัด การยอมรับและให้ค่าแบบนี้แหละที่ทำให้เรารู้ว่ามันมาถูกทาง ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำต่อคือทำให้สม่ำเสมอ แล้วต้องเป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพดีสม่ำเสมอด้วย

Q: นอกจากวิดีโอแล้ว Toolmorrow มีกิจกรรมอื่นๆ อีกไหม?

A: ตอนนี้เราให้ลูกเพจเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Capture Chat’ ซึ่งเราจะมีคำถามชุดหนึ่งให้เด็กๆ ไปถามพ่อแม่ผ่าน Line แล้วแคปเจอร์บทสนทนามาให้เรา กิจกรรมนี้ นอกจากจะทำให้เกิดการถกเถียง พูดคุย รวมถึงเด็กๆ มีช่องทางในการแสดงออกและสื่อสารกับพ่อแม่แล้ว เรายังเห็นทัศนคติของพ่อแม่ด้วย ซึ่งบางครอบครัวเหมือนเป็นการปรับความเข้าใจกันเลย

Q: เมื่อเปลี่ยนจากงานด้านออกแบบไปสู่งานด้านสังคม ความรู้สึกในการทำงาน 2 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

A: ออกแบบโปรดักท์มันเป็นงานเชิงพาณิชย์ที่มีกำไร ขาดทุน การยอมรับเป็นเป้าหมาย ขณะที่งานด้านสังคมก็รู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากกว่า ส่งผลกระทบที่กระจายกว้างกว่า เป็นประโยชน์ และรู้สึกว่าเรามีความสุขกว่า ถึงแม้รายได้อาจจะไม่เยอะมาก แต่ผมรู้สึกว่าดีกว่าที่ได้ทำ ตอนนี้นอนตายตาหลับแล้ว (หัวเราะ)

Q: คิดว่าความคิดสร้างสรรค์ช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ไหม?

A: ถ้าคุณมองความคิดสร้างสรรค์ว่าคือการแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ช่วยอยู่แล้ว ผมก็เคยมองความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นเรื่องของความงาม แต่พอมุมมองเรื่องนี้มันเปลี่ยน มันเกิดวิธีการนำเสนอคุณค่าแบบใหม่ที่ยั่งยืนและมีประโยชน์กับคนรอบข้าง รวมถึงขับเคลื่อนสังคมได้อีกเยอะมาก

Q: ปัญหาที่มองเห็นกับการทำงานกับเด็กและครอบครัวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาคืออะไร? คิดว่าในฐานะนักออกแบบ จะเอาความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ที่เรามีไปช่วยแก้ไขมันอย่างไรบ้าง?

A: ตอนนี้ผมเจอ 2 ประเด็น อย่างแรกผมรู้สึกว่าสังคมมันเร่งรีบมาก แข่งขันมาก ส่งผลให้พ่อแม่ต้องทำมาหากิน แล้วก็มีเวลาอยู่กับลูกน้อยลง พอมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยลง ทักษะในการสื่อสารและการเลี้ยงดูมันไม่ได้ถูกใช้มากเท่าที่ควร เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เกิดปัญหาความสัมพันธ์กันในครอบครัวที่ห่างกันมากขึ้น ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเด็กในระยะยาว แล้วคนสมัยนี้ไม่คิดเหมือนแต่ก่อนแล้วว่าเราต้องประคองความรักกัน พบกันครึ่งทาง คนไม่คิดอย่างนั้นแล้ว

แต่จะคิดว่าฉันอยู่ได้ ต่างคนก็ต่างมีกำแพง ลูกเองก็คิดว่าตัวเองอยู่ได้ ไม่เห็นต้องง้อพ่อแม่เลย ความห่างตรงนี้ คุณลองคิดดูนะถ้าความสัมพันธ์มันแย่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนลูกโต วันหนึ่งถ้าลูกหาเงินเอง คุณว่าจะเหลืออะไร ผมไม่สงสัยเลยว่าทำไม เราเห็นข่าวพ่อแม่ถูกทิ้ง ดังนั้น Toolmorrrow อยากจะฟื้นความสัมพันธ์ตรงนี้

แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนพ่อแม่ยากพอสมควร ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคมที่ต้องดิ้นรอ เอาตัวรอด แล้วพ่อแม่แต่ละคนก็มีความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกันอีก ในอีกด้านหนึ่ง เราเลยอยากทำให้เด็กๆ สามารถผลักดันตัวเองให้เจอทางออกที่ดีแม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ อยากให้เขาเป็นกระบองเพชรที่สามารถยืนหยัดในทะเลทรายได้ แล้วอยู่รอดได้แบบยั่งยืนด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแพลนที่จะทำกันอยู่และจะทำให้ได้ ซึ่งพื้นฐานสังคมเราเป็นแบบเครือญาติ ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน ความน่าสนใจก็คือทุกคนห่วงใยกันหมด แต่เพียงแค่สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ปัจจุบันอาจไม่เอื้ออำนวย ซึ่งจุดนี้แหละที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเพียงแต่เราต้องสร้างจุดร่วมบางอย่างขึ้นมา

Q: Toolmorrrow ยังทำมาถึงทุกวันนี้ได้ด้วยแรงผลักดันอะไร?

A: ความสุขของพวกเราคือคำขอบคุณนี่แหละครับ มันเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจ การที่เราเห็นเด็กมาบอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขา ความสัมพันธ์ในครอบครัวเขาที่ได้พูดคุยกันมากขึ้น รู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น ได้สื่อสารกับครอบครัวมากขึ้น หรือเข้ากับเพื่อนได้มากขึ้น ได้เห็นมุมมองของชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่มันเป็นไปในทางที่ดีขึ้น นี่แหละคือสิ่งที่ผลักดันให้เราอยากทำงานและต้องทำให้ดีที่สุด

Q: อยากฝากอะไรถึงเด็กๆ และผู้ปกครองที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่บ้างไหม?

A: ผมเข้าใจพ่อแม่ที่ต้องทำงานและอาจจะไม่มีเวลาอยู่กับลูก หลายๆ ครอบครัวจะยกภาระนี้ให้กับโรงเรียน กับคุณครู หรือสื่อให้สื่อสารสิ่งที่ดี มีสาระ ซึ่งผมคิดว่าทุกอย่างมันเป็นองค์ประกอบของกันและกัน แต่สถาบันครอบครัวคือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ดังนั้น สิ่งที่ผมก็อยากเห็นคือการเลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพที่สุด มันอาจจะไม่จำเป็นว่าต้องมีเวลาด้วยกันทั้งวัน แต่เวลาที่มี ลองดูไหมให้เป็นเวลาคุณภาพที่สุด คุยกับเขา ใส่ใจ เข้าใจ และทำด้วยความรัก จริงๆ แค่นั้นเด็กก็รับรู้ได้แล้วนะ เมื่อเด็กรู้ว่าพ่อแม่รักและห่วงใย เวลาที่เขาเจอสิ่งที่ไม่ดี เขาจะกล้าตัดสินใจว่าจะไม่ยุ่ง

ส่วนน้องๆ ก็อยากให้ทำความเข้าใจพ่อแม่ด้วย คือผมไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเข้าใจทั้งหมด เพราะผมก็เคยผ่ายจุดที่ไม่เข้าใจกับครอบครัวมาเหมือนกัน อยากให้ค่อยๆ คิด อย่าไปประชดในทางที่ไม่ดี เพราะถ้าคุณเลือกวิธีแบบนี้ แล้วดันเป็นการตัดสินใจที่พลาด มันจะมาพร้อมรอยแผลที่ลึกมากติดตัวคุณ  ผมอยากเห็นการปรับทั้งสองทางนะ

กรรณิการ์ ชีวากร 

พนมกร มั่นแช่ม

สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ 

 กมลวัฒน์ ชูเตชะ

 

อ้างอิง: Toolmorrow

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

Tags

Tags:

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles

Next Read