เมื่อเราสามารถเข้าถึงสัญญาณ Wi-Fi ได้ทุกที่ รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด?
เมื่อรถไฟใต้ดินโผล่ขึ้นบนย่านเยาวราช วิถีชีวิตของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนจะถูกกระทบหรือไม่?
เมื่อเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว บริการสาธารณะจะพลิกรูปแบบเป็นอย่างไร?
และอีกหลากหลายความสงสัยว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคตและเราสามารถออกแบบได้หรือไม่ วันนี้ทีมงาน CreativeMOVE ได้รับโอกาสดีๆ พูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ, อาจารย์ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์, และ ธนาดล เที่ยงตรง จากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center) กับแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ เพื่อความยั่งยืนของเมืองและสุขภาวะที่ดีของประชาชน
Q : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองคืออะไร
A : ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองหรือ UDDC เป็นหน่วยงาน Think + Do Tank ซึ่งหมายถึงการคิดและการลงมือทำด้วย โดยเน้นเรื่องการฟื้นฟูเมือง (Urban Renewal) บริเวณพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูทั้งคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ UDDC ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2555 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็น ‘แกนกลาง’ ในการเชื่อมต่อและบูรณาการความรู้แขนงต่างๆ ผ่านการมองแบบองค์รวมและประสานงานระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง เพื่อผลักดันให้เกิดโครงการฟื้นฟูเมืองอย่างเป็นรูปธรรม
Q : สำหรับโครงการกรุงเทพ 250 ที่ทาง UDDC กำลังศึกษานั้นครอบคลุมพื้นที่ไหนบ้าง เพราะอะไร
A : สำหรับโครงการที่กำลังทำอยู่นี้จะโฟกัสไปที่ 17 เขตของหัวเมืองชั้นใน ซึ่งทั้ง 17 เขตที่ว่านี้หมายถึงพื้นที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมือง ทั้งนี้กรุงเทพฯ เริ่มต้นสร้างเมืองที่ฝั่งธนบุรีก่อนจะย้ายมาที่เกาะรัตนโกสินทร์ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 เมืองได้ขยายไปถึงคลองรอบกรุง พอมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เมืองมีการขยายตัวไปถึงบริเวณคลองผดุงกรุงเกษม พอเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 เมืองก็ได้ขยายตัวไปแถวจุฬา พญาไท พอเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6-7 พาณิชยกรรมเริ่มมีการขยายตัว เมืองก็ขยายตัวออกไปรอบนอก โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราเริ่มมีการตัดถนน สร้างทางด่วน ไปสู่เขตรอบนอกมากขึ้น ทั้งนี้ตัวโครงการจะเน้นพื้นที่การขยายตัวของเมืองในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
แม้ว่าขณะนี้การขยายตัวของเมืองจะกระจายไปถึงสมุทรปราการ นนทบุรี คนเริ่มขยับตัวเองจากพื้นที่ชั้นในสู่การพักอาศัยตามชานเมืองมากขึ้น แต่ UDDC มีสมมติฐานอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาพื้นที่ชั้นในให้มีคุณภาพและทางเลือกพอๆ กับที่อยู่อาศัยชานเมือง เราพบว่ามันจะมีผลสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ 1) เมืองจะหยุดการขยายตัวหรือขยายตัวในอัตราที่ลดลง เพราะการขยายตัวมากทำให้พื้นที่การผลิตลดลง พื้นที่ทางการเกษตรลดลง ปอดสีเขียวก็เริ่มลดลง การคมนาคมที่ไม่มีประสิทธิภาพ จากการศึกษาพบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนกรุงเทพฯ มีค่าสูงเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอัตราค่าใช้จ่ายควรจะอยู่กับที่อยู่อาศัยในอัตราส่วนประมาณ 30% ทั้งนี้การจ่ายที่แพงกว่ากลับไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายท่านกว่าจะถึงบ้านก็ปาไป 3 ทุ่ม การทานเข้าวเช้าในรถถือเป็นเรื่องปกติ 2) พื้นที่ชั้นในจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทุกคนมีสิทธิเข้าถึงที่พักอาศัยได้ในระดับราคาที่แตกต่างกัน รูปแบบการพักอาศัยอาจมีการปรับเปลี่ยน ถ้าเราสามารถพัฒนาที่ดินภายในหัวเมืองชั้นในอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถเชื่อมต่อชุมชนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ก็จะทำให้เมืองไม่แออัดแม้ว่าจะมีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรต่อพื้นที่สูงกว่ากรุงเทพฯ แต่เมื่อเราไปเดินบนถนนกลางกรุงโตเกียว เรากลับไม่รู้สึกแออัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวางแผนพัฒนาเมืองมีส่วนช่วยให้เราใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2550 พบว่า พื้นที่ที่ครอบครองโดยเอกชนประมาณ 180,000 ไร่ (18% ของพื้นที่กรุงเทพฯ) เป็นพื้นที่ว่าง ขาดการใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จากทางภาครัฐที่ยังไม่ได้นำมาใช้ เช่น มักกะสัน 500 ไร่ โรงงานยาสูบ 600 ไร่ คลองเตย 2,500 ไร่ รวมไปถึงพื้นที่ใต้ทางด่วนยกระดับกว่า 600 ไร่ ที่สามารถนำมาปรับปรุงฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางได้ นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้เราจะมีพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้ากว่า 300 แห่ง จากเส้นทางการเดินรถไฟฟ้า 10 สายที่จำเป็นต้องได้รับการออกแบบเพื่อเชื่อมเมืองกับผู้คนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งนั่นหมายถึงเรามีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นได้ตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ ทั้งนี้พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ มีหลากหลายบุคลิก เช่น ย่านเก่าที่มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อย่างคลองสาน ตลาดน้อย เยาวราช, ย่านราชการ อย่างพื้นที่เขตดุสิต, ย่านพาณิชยกรรม สีลม สาทร ซึ่งเป็นย่านเก่าที่สำคัญ และย่านที่อยู่อาศัย การวางแผนฟื้นฟูเมืองจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละย่านให้ดีขึ้น
Q : อยากให้ทาง UDDC ยกตัวอย่างพื้นที่ย่านเก่าที่เริ่มถูกนำไปพัฒนา
A : ขอยกตัวอย่างย่านคลองสาน ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นย่านที่อยู่ใกล้กับสะพานพุทธและชุมชนชาวกุฎีจีน (กะดีจีน) พื้นที่ตรงนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามเยาวราช เดิมเป็นโกดังเก็บของและเป็นย่านอุตสาหกรรมเก่า เช่น โรงงานผลิตยา ถ่านไฟฉาย หนังสัตว์ เชือก ฯลฯ พอเวลาผ่านไปการคมนาคมทางน้ำเริ่มลดบทบาทและถูกแทนที่ด้วยรถยนต์บนท้องถนน โกดังถูกปล่อยให้รกร้าง โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มปิดตัวลงเพราะไม่มีถนนตัดผ่าน ผู้คนที่มีฐานะดีเริ่มย้ายออกจากคลองสานและถูกแทนที่ด้วยผู้คนที่มีรายได้น้อย ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ถูกนำกลับมาพัฒนาขึ้นอีกครั้ง โดยนำต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งเรืองในอดีตมาพลิกสร้างมูลค่าผ่านคุณค่าที่ซ่อนอยู่ เช่น โครงการ The Jam Factory ที่นำโรงงานเก่ามาผสมผสานกับพื้นที่สีเขียวพลิกเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับคนในชุมชน เช่น ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร พื้นที่แสดงงานศิลปะ รวมไปถึงสำนักงานบริษัทสถาปนิก เป็นต้น
Q : การฟื้นฟูย่านเก่าต้องได้รับการร่วมมือจากใครบ้าง
A : นอกจากชุมชนเจ้าของพื้นที่แล้ว การฟื้นฟูเมืองจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาครัฐด้วย ยกตัวอย่างเช่น ยอดพิมาน ริเวอร์วอล์ค คอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับสะพานพุทธ เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยภาคเอกชน แต่เนื่องจากสถานที่ตั้งถูกล้อมรอบด้วยชุมชนเก่าแถวปากคลองตลาดที่ขาดการวางแผนพัฒนาควบคู่ไปกับโครงการยอดพิมาน ส่งผลให้เวลาเราเดินออกจากยอดพิมานก็พบกับเข่งผักผลไม้ รถเข็นมากมาย และอาคารสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่สวยงามแต่ขาดการพัฒนา ทั้งๆ ที่เราสามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบยอดพิมานให้มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับคอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้ได้
Q : การเดินทางทางสายน้ำจะกลับมาหรือไม่
A : กลับมาแน่นอน แต่จะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายเข้ากับระบบรางที่กำลังถูกพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในบริเวณจุดตัดระหว่างระบบรางกับสายน้ำ จะเป็นการเติมเต็มให้รูปแบบการเดินทางสมบูรณ์มากขึ้น จากเดิมที่เคยเสียเวลารถติดขับรถเข้าเมือง กลายเป็นการขี่จักรยานไปจอดที่สถานีรถไฟฟ้าแล้วต่อด้วยเรือ หรือการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ที่ช่วยให้การเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Q : การวางผังเมืองในอดีตกับวิธีที่ทาง UDDC ใช้มีความแตกต่างกันอย่างไร
A : ในอดีตเวลาเราวางผังเมืองเรามักจะเชื่อผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแนวคิดของการพัฒนาจะถูกวางแผนโดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อย่างมากที่สุดก็มีการทำประชาพิจารณ์ในขั้นตอนสุดท้าย แต่วิธีที่ทาง UDDC ทำสำหรับการฟื้นฟูเมืองในครั้งนี้ เราเรียกว่า ‘ขบวนการร่วมหารือ’ เพราะการฟื้นฟูเมืองมีความซับซ้อนหลายมิติ ทีมงานจึงเปิดโอกาสให้ทางภาครัฐ เอกชน หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงคนในชุมชน เข้ามาร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาย่านแต่ละย่าน ส่งผลให้เป้าหมายของการพัฒนาเป็นความต้องการที่แท้จริงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดของย่านนั้นๆ
Q : จากการค้นคว้าวิจัยที่ผ่านมา ทาง UDDC มองอนาคตของกรุงเทพฯ ในอีก 17 ปีข้างหน้าไว้อย่างไร
A : เราได้เชิญกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ รายได้ อาชีพ ความสนใจ ฯลฯ มาร่วมหารือพร้อมวางแผนภาพอนาคตของกรุงเทพฯ ผ่านกระบวนการคาดการณ์อนาคต (Foresight) เราพบว่าในอีก 17 ปีข้างหน้าเมื่อกรุงเทพฯ มีอายุครบ 250 ปี จะเกิด 10 เทรนด์ 8 ย่านใหม่ และ 6 การเปลี่ยนแปลง ดังนี้
10 เทรนด์ใหม่ ที่จะเกิดขึ้น 1) Ubiquitous Life ชีวิตเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโครงข่ายออนไลน์ที่เชื่อมต่อถึงกัน 2) Connected Track ระบบรางจะทำหน้าที่หลักในการเชื่อมเมือง 3) Freedom of Work อิสรภาพแห่งการทำงานได้ทุกสถานที่ 4) Convenient Public Service การบริการสาธารณะที่สะดวกแบบ one stop service เช่น โรงพยาบาล หน่วยราชการ 5) Integrated Cultural Tourism บูรณาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 6) New Urban Industries จะเกิดอุตสาหกรรมใหม่กลางเมือง เช่น การเกษตรทางเลือกแบบแนวตั้ง ฯลฯ 7) Diversifies Environmental Friendly Energy Sources แหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 8) Land & Space for New Bangkokian จะเกิดรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และพื้นที่ในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สวนสาธารณะลอยฟ้า 9) Urbanite’s New Normal ความปกติใหม่ของชีวิตคนเมือง และ 10) Inclusive Development การพัฒนาอย่างทั่วถึงที่คนในสังคมสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการทางร่างกาย ฯลฯ
8 ย่านใหม่ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ถูกแบ่งออกเป็น 8 รูปแบบดังนี้ 1) ย่านประวัติศาสตร์ เป็นย่านที่มีมรดกทางวัฒนธรรมหลงเหลืออยู่ 2) ย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ เป็นย่านที่มีความหนาแน่นทางกายภาพและกิจกรรมสูงกว่าพื้นที่เมืองบริเวณอื่นๆ 3) ย่านศูนย์ราชการ เป็นการใช้ที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ 4) ย่านอยู่อาศัย ครอบคลุมย่านที่อยู่อาศัยทางแนวราบและแนวตั้ง 5) ย่านโบฮีเมียน ย่านเก่าที่ได้รับการขับเคลื่อนผ่านกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปะ การออกแบบ ดนตรี วรรณกรรมและการแสดง 6) ย่างต่างชาติพลัดถิ่น ย่านเก่าที่ถูกขับเคลื่อนจากการรวมตัวของชาวต่างด้าวพลัดถิ่นที่อพยพมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 7) ย่านอุตสาหกรรมใหม่ มีแนวโน้มเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่มีระบบการผลิตขนาดเล็ก และ 8) ย่านอัจฉริยะ ขับเคลื่อนโดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการสื่อสารโครงข่ายอิเล็กทรอนิกส์
6 การเปลี่ยนแปลง เชิงกายภาพที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เมือง ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินจากระบบเศรษฐกิจ เกิดพื้นที่ Multi-CBD ตามการรวมกลุ่มของธุรกิจ (Business Cluster) การเจริญเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการในรูปแบบใหม่ ฯลฯ 2) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากวัฒนธรรมที่หลากหลาย เกิดย่านใหม่ตามกลุ่มประเภทของประชากร 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้านอื่นๆ เช่น พลังงานทางเลือกเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี 4) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยขนาดเล็กสำหรับเขตเมืองชั้นใน การเปลี่ยนแปลงระบบกายภาพของเมืองในชุมชนเก่า 5) การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินของย่านศูนย์ราชการ ทั้งในด้านของที่ตั้งและบทบาทที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต 6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองด้านการขนส่ง มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมระบบการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
Q : อยากให้ทีมงานช่วยสรุปแนวคิดของการฟื้นฟูเมือง
A : การฟื้นฟูเมืองโดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในนั้น เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งนั่นคือศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน แต่ละย่านแต่ละพื้นที่ต่างมีศักยภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองแต่ยังขาดการเชื่อมต่อกันอยู่ เราติดหล่มกับรายได้ปานกลางมานานมาก ถึงเวลาที่เราจะต้องนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกิดจากการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในย่านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ Co-Working Space ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของพื้นที่ที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่พื้นที่สีเขียวแต่เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมหลากหลายเพื่อรองรับคนในชุมชนที่ครอบคลุมทุกเพศทุกวัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างพลังให้กับเมือง เกิดพลวัตรของความหลากหลายที่ทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น และการเดินทางแบบระบบรางที่ครอบคลุมทุกพื้นที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อของย่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การฟื้นฟูเมือง (Urban Renewal) จึงเป็นหนึ่งแนวทางในการพลิกฟื้นพื้นที่ชั้นในของเมือง ที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน หลายเมืองบนโลกใบนี้ล้วนผ่านการวางแผนฟื้นฟูเมืองมาแล้วทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น คลองชองเกซอน ที่รื้อทางด่วนพลิกน้ำเน่าให้กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนกลางกรุงโซล เกาหลีใต้ South Bank ปฏิวัติย่านอุตสาหกรรมเก่าที่รกร้างสู่แหล่งท่องเที่ยวใจกลางกรุงลอนดอน หรือ เกียวโต สร้างเมืองประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าผ่านการวางแผนอย่างมีระบบ ร่วมเรียนรู้ทิศทางการเติบโตของเมืองกับโครงการกรุงเทพฯ 250 เพิ่มเติมได้ที่ Facebook/Bangkok250
อ้างอิง : UDDC