‘UDMVD: อยู่ดีไม่ว่าดี’ กลุ่มนักออกแบบที่ทำให้อุดรธานีมีดีจนน่าจับตามอง

UDMVD คือกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบในอุดรธานีที่มารวมตัวกันโดยนัดหมาย ที่นี่ไม่มีทั้งประธาน ไม่มีอนุกรรมการ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่อยู่ร่วมกันแบบเพื่อนพ้องน้องพี่ เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและยกระดับคุณภาพของวงการออกแบบ ตลอดจนสถาปัตยกรรมในเมืองอุดรธานี ในวันนี้ภารกิจของพวกเขาได้ขยับขยายไปสู่การทำงานที่ใหญ่ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานบรรยายที่จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้และประสบการณ์แก่สถาปนิกและนักออกแบบ การทำงานภาคสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ งานประกวดแบบในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดอุดรธานี วันนี้ ปองพล ยุทธรัตน์ พี่ใหญ่แห่ง UDMVD ลงมากรุงเทพฯ ทั้งที เราไปคุยกับเขาถึงบทบาทของ UDMVD ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตกัน

จากซ้ายไปขวา ปองพล ยุทธรัตน์ (เต้ย), ปณัสย์ บุราณฤทธิ์ (น๊อท), นัฐวุฒิ ราชัน (ก้า), ธนาเสฎฐ์ ตราชู (โต๊ด) และ วราห์ สถิตย์สัมพันธ์ (เล็ก)

เพราะ ‘อยู่ดีไม่ว่าดี’ จึงเกิดเป็น ‘UDMVD’

“ย้อนกลับไปช่วงปี 2555 เป็นปีที่เราต้องกลับไปอยู่อุดรฯ แบบถาวร ซึ่งเมื่อการตัดสินใจไปทางนั้น เราเลือกที่จะไม่แตะงานที่เราเคยทำที่กรุงเทพฯ เลย เพราะอยากพิสูจน์ตัวเองจากงานที่พ่อทำมา 20 ปี ว่าเราจะทำต่อไหวไหม คือเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำให้ในแง่ของการทำงานสถาปัตย์หรือรับเหมาก่อสร้าง เราแทบจะไม่มีเพื่อนในวงการเลย”

ในช่วงแรก ปองพลยอมรับว่าท้อมาก แต่หลังจากนั้น เมื่อเริ่มรู้จักรุ่นพี่รุ่นน้องในแวดวงนี้ จึงนัดวันกินข้าวและนั่งคุยกันถึงประเด็นที่ว่า จนกระทั่งความคิดที่จะรวมกลุ่มจึงเกิดขึ้นจากอาหารมื้อนั้น “คุยไปคุยมาก็เลยมีความคิดกันว่า ถ้าอย่างนั้นเรารวมกลุ่มกันไหม จำได้ว่าคิดกันแบบง่ายๆ ว่าถ้าอย่างนั้นก็ตั้งกรุ๊ปในเฟซบุ๊คเลยแล้วกัน เราก็ตั้งขึ้นมาวันนั้นเลย ใครมีเพื่อนก็ดึงๆ กันเข้ามา แล้วเฟซบุ๊คบังคับให้ใส่ชื่อ ซึ่งตลกมากเพราะตอนที่กลับอุดรฯ ใหม่ๆ เรากำลังกรี๊ดงานของ MVRDV มาก ทั้งคอนเซ็ปต์และกระบวนการทำงาน ตั้งใจไว้ว่าสักวันถ้ามีออฟฟิศหรือมีกลุ่มสถาปนิกเราอยากจะมีชื่อที่เรียกยากๆ เหมือนกลุ่มนี้แหละ ก็เลยคิดว่ามาอยู่อุดรฯ ก็น่าจะ UD อะไรสักอย่าง คิดไปคิดมา ตกผลึกกันที่ว่าจริงๆ แล้ว พวกเราก็มีออฟฟิศอยู่แล้ว บางคนเป็นฟรีแลนซ์ นั่นหมายถึงทุกคนมีงานประจำของตัวเอง แต่ถ้ามีกิจกรรมอะไรแล้วเราค่อยมาร่วมตัวกันนะ มาสร้างคอนเทนต์กัน เลยใส่ในเฟซบุ๊คกรุ๊ปตอนนั้นว่า UDMVD ซึ่งมาจากคำว่า ‘อยู่ดีไม่ว่าดี’ คือไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอุดรฯ อะไรทั้งสิ้นแบบที่หลายคนเข้าใจ (หัวเราะ)”

UDMVD กับมาตรฐานด้านการทำงานและเครือข่ายแบบพึ่งพากัน

ภารกิจหลักของ UDMVD คือการสร้างมาตรฐาน ทั้งเรื่องคุณภาพงาน ค่าแบบ และการสร้างเครือข่ายแบบพี่น้อง ที่ไม่ใช่คู่แข่งกัน

“ตอนนั้นเราคุยกันว่าในเมื่อมารวมกลุ่มกันแล้ว ใครมีปัญหาอะไรมาคุยกันบนโต๊ะ ไม่แย่งลูกค้ากัน อย่าดั้มราคากัน เหมือนจัดคิวแท็กซี่เลย ซึ่งเป้าหมายก็เพื่อรักษามาตรฐานของวงการเอาไว้ เพราะในอุดรฯ เรื่องค่าแบบจะน้อยมากถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ ไม่ถึงครึ่งของกรุงเทพฯ เลย ในกลุ่มจะพยายามอัพขึ้นมา แต่ไม่ใช่ว่าอัพแบบแพงนะ ราคากับคุณภาพงานจะสมน้ำสมเนื้อกัน ทำนองนั้นมากกว่า”

จากงานส่วนตัวสู่งานส่วนรวม

ไม่เพียงแต่สถาปนิกเท่านั้น ที่ UDMVD ยังมีสมาชิกจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งกลุ่มอินทีเรีย วิศวกร ผู้รับเหมา ไปจนถึงคนในหน่วยงานราชการ ซึ่งนอกจากการยกระดับมาตรฐานวงการออกแบบก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดของตัวเองแล้ว พวกเขายังจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่สัมพันธ์ไปกับวิชาชีพและภาคสังคมด้วยเช่นกัน

“ช่วงที่ทำหนังสือ art4d เรามีโอกาสได้รู้จักพี่ๆ สถาปนิกและนักออกแบบอยู่พอสมควร ก็เลยคิดว่าน่าจะดีหากมีการจัดเลคเชอร์ที่เกี่ยวกับสถาปัตย์และงานออกแบบ เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครมาแถบๆ อุดรฯ เราก็จะเชิญพวกเขามาเป็นวิทยากรในกิจกรรมเสวนาภาษาสถาปัตย์ขึ้น อย่างงาน Sunday Talks ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้อาจารย์เล็ก – กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล จากบริษัท Spacetime Architects Co.,Ltd มาคุยในหัวข้อ ‘space: time’ หรือ เรื่อง ‘อุดรจะเป็นเมืองจักรยานได้จริงเหรอ?’ ก็ได้ พี่หรั่ง – ธนดร พุทธรักษ์ นายกสมาคมกีฬาจังหวัดอุดรธานี ซึ่งกำลังวิจัยทางด้าน Urbanization (Urban Study) ในหัวข้อ ‘การกลายเป็นเมืองและการพัฒนาเมืองของเมืองเติบโตเร็ว: เมืองอุดรธานี’ มาเป็นผู้บรรยายในครั้งนั้น”

หลังจากมีกิจกรรมย่อยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก UDMVD ได้ขยับขยายบทบาทของตัวเองสู่งานที่ใหญ่ขึ้นกับการเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้จัดงาน ‘ESAN RENOVATION: ซ่อม สร้าง ม้าง เฮ็ด’ งานที่รวบรวมนิทรรศการที่น่าสนใจไว้หลากหลายและครอบคลุมความสนใจทางด้านสถาปัตยกรรม ทั้งนิทรรศการของกลุ่มสถาบันการศึกษา คณะสถาปัตยกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาในภาคอีสาน และผลงานจากต่างประเทศ ตลอดจนนิทรรศการผลงานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ และกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ตลอดจนคลินิกหมอบ้าน กิจกรรมสถาปนิกน้อย การให้บริการคำแนะนำปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน อาคาร สถานที่ และการทัวร์ชมงานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในจังหวัดอุดรธานี (ESAN ARCHITOUR) รวมถึงการสัมมนาในหัวข้อต่างๆ ด้วย

“กิจกรรมก่อนหน้าก็จะเป็นกิจกรรมแบบสบายๆ เป็นทอล์คในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พอทำมาได้สักพักหนึ่ง ทางกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน จะมีงานประจำปีนั่นคืองานสถาปนิกอีสานซึ่งเหมือนกันกับงานสถาปนิกที่กรุงเทพฯ โดยในปี 2558 ถึงคิวของจังหวัดอุดรธานีพอดี กลุ่ม UDMVD ก็เลยไปถูกเรียกเข้าไปให้ช่วยช่วยทีมกรรมาธิการ ตั้งแต่การคิดเนื้อหาของงาน การวางเลย์เอาท์ของงาน ซึ่งเราได้รับหน้าที่เป็นประธาน ตอนนั้นคิดกันว่าจะทำเรื่องรีโนเวท เลยใช้ชื่อธีมว่า ‘ซ่อม สร้าง ม้าง เฮ็ด’ ซึ่ง ซ่อม สร้าง ก็หมายถึงซ่อมและสร้างในภาษากลางนี่แหละ ส่วน ‘ม้าง’ แปลว่า รื้อ และ ‘เฮ็ด’ แปลว่า ทำ ตอนนั้นเรากำลังทำโปรเจ็กต์พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีอยู่พอดี เลยใช้โปรเจ็คต์นั้นเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง เพื่อตั้งคำถามในหลายๆ ประเด็น เช่น ทำไมต้องซ่อม? การซ่อมมีประโยชน์อะไร? หรือแม้กระทั่งคิดในเชิงคอนเซ็ปต์ว่า การรื้อสร้างกับการสร้างใหม่ มีข้อดี ข้อเสีย และแตกต่างกันอย่างไร?” ซึ่งแม้จะเป็นงานเล็กๆ ระดับจังหวัด แต่ก็ถือเป็นผลงานของกลุ่ม UDMVD ที่กลายเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ในการจัดงานสถาปนิกระดับท้องถิ่นกันเลยทีเดียว

“หลังจากทำกิจกรรมมาหลากหลาย พวกเราก็คิดกันว่าเราทำงานร่วมกันมาตั้ง 4-5 ปี แล้ว น่าจะขยับขยายไปทำอะไรที่เกี่ยวกับสังคมบ้าง เพราะตอนนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่เราก็ทำเพื่อตัวเอง เพื่อกลุ่มเป็นหลัก แต่สังคมไม่ได้อะไร ก็เริ่มคุยกันว่า ถ้าอย่างนั้น ลองจัดงานประกวดแบบกันไหม งานแรก เราเลยเลือกทำประกวดแบบกุฏิ ซึ่งงานที่ได้รางวัล เราก็พยายามดันให้ได้สร้างจริงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย หลังจากงานนั้น เราเลยตกลงกันว่า นอกจากตัว Talk แล้ว เราจะมีงานประกวดแบบที่ทำเพื่อสังคมกันปีละ 1 ครั้งด้วย”

ขับเคลื่อนเมืองและสังคมด้วยพลังสร้างสรรค์

หากสังเกตดีๆ ในช่วงหลายปีมานี้ เราจะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานที่มีการขยับขยาย โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นกับโมเดล ในการพัฒนาเมืองที่คนในพื้นที่พยายามวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้แก่จังหวัดผ่านการลงทุนของนักธุรกิจในท้องถิ่น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเปรียบเสมือนการนำร่องที่ทำให้จังหวัดในภาคอีสานเริ่มตื่นตัว นั่นรวมไปถึงอุดรธานีด้วยเช่นกัน

“ถ้าคนทั่วๆ ไปก็จะเห็นโมเดลของจังหวัดขอนแก่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเขาคุยกันมา 7-8 ปี แล้วก็ตกผลึกกันเรียบร้อย ส่วนอุดรฯ เอง เราเริ่มมีการพูดคุยกันถึงพื้นที่ของตัวเองว่า หากวันนี้อุดรฯ มีการพัฒนาเมืองขึ้นมาจริงๆ เราคงจะใช้ขอนแก่นโมเดลเป๊ะๆ เลยไม่ได้ ซึ่งรวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย เพราะว่าบริบทแต่ละจังหวัดก็คนละอย่างกัน ซึ่งโชคดีที่กลุ่ม UDMVD มีโอกาสเป็นเหมือนกับอีกเสียงใหญ่ๆ ของเมืองนี้ ในฐานะผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ โดยเราจะเกี่ยวข้อง 2 เรื่อง หนึ่งคือการเข้าไปแสดงความคิดเห็นและพูดคุยเรื่องการกำหนดผังเมืองใหม่ของอุดรฯ นั่นคือการกำหนดผังสีซึ่งเป็นการกำหนดพื้นที่เมืองว่าส่วนไหนจะเป็นอะไร เช่น โซนพาณิชย์ โซนที่พักอาศัย โซนโรงงาน พื้นที่เกษตรกรรม การทำงานดังกล่าวจะมีไม่บ่อยที่มีการอัพเดทอย่างนี้ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นการอัพเดทจากส่วนกลางคือกรมโยธาธิการที่กรุงเทพฯ แต่ว่าอุดรฯ น่าจะเป็นจังหวัดแรกๆ เลยที่เขาให้คนในพื้นที่คิดกันเองว่าพื้นที่ไหนจะเป็นสีอะไรเพื่อความเหมาะสม เพราะว่าโยธาธิการจังหวัดก็ไม่รู้นะว่าสภาพเมืองตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว เจริญไปถึงไหนแล้ว เขาจึงไม่มีข้อมูลมาคิด นั่นทำให้เกิดโมเดลใหม่คือให้คนในพื้นที่ประชุมร่วมกัน ส่วนอีกเรื่องคือการทำโมเดลพัฒนาเมืองอุดรธานี ซึ่งน่าจะใช้เวลาเป็นปี”



พัฒนาเมืองจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็นไปได้จริงหรือ?

“เอาจริงๆ เราเองก็ไม่รู้ว่าในอีก 50 ปี จะทำสำเร็จไหม แต่ถ้าไม่เริ่มคิดเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ อีก 50 ปี ก็เหมือนเดิม รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราก็จะมาพูดในเรื่องเดิม ในเมื่อ UDMVD มีโอกาสได้คุยแล้ว เราก็ควรจะใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์กับทั้งตัวเอง ลูกหลานเรา และสังคมโดยรวมด้วย ซึ่งความโชคดีของอุดรฯ ก็คือผู้ใหญ่ฟังเด็กด้วย ใครจะไปคิดว่าพวกเราจะมีโอกาสได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือยุทธศาสตร์จังหวัดในเรื่องการออกแบบผังเมือง ไม่เคยมีอยู่ในหัว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าพวกเราต้องเข้าไปคุยทุกวัน แต่การพูดคุยก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่นักออกแบบไปตะลุยฝ่ายเดียวนะ เพราะการออกแบบเมือง เราต้องคิดในมุมที่หลากหลาย ซึ่งตรงนี้จะมีองค์กรมาดีอีสานเข้ามาทำหน้าที่ facilitator ที่จะเชิญหอการค้า นักธุรกิจ ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ กลุ่ม NGO ผู้ด้อยโอกาสในสังคม คนพิการ เราพยายามให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเพื่อฟังว่าแต่ละกลุ่มคิดเห็นกันอย่างไร เช่น หากจะมีการย้ายเมืองเกิดขึ้น”

ทิศทางของอุดรธานีในอนาคต

แม้ว่าตอนนี้ แผนในการพัฒนาเมืองจากการขับเคลื่อนของพลังประชาชนจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นและคงต้องอาศัยระยะเวลาอีกพักใหญ่ แต่ปองพลและ UDMVD คิดว่านี่คือสัญญาณที่ดีที่กำลังเกิดขึ้น

“จริงๆ ตอนนี้ยังไม่ตกผลึกนะ หมายความว่าทุกคนรู้ว่าจะต้องมาคุย ซึ่งเราก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกคนออกมาคุย แม้จะยังฟุ้งมากและหลากหลายสุดๆ แต่เราชอบโมเมนต์นี้ เพราะการคุยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงควรจะมาจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง หน้าที่ของพวกเราคือการเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ เมื่อรวบรวมได้ทั้งหมดแล้ว จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนแบบเดียวกับ Design Thinking นั่นคือ Empathize, Define, Ideate, Prototype และ Test ซึ่งส่วนนี้สำคัญมาก เพราะเราต้องระดมทุกความคิดเห็นมาสร้างเป็น Mind Map แล้วนำทุกๆ ข้อมูลมาดูว่าชุดความคิดไหนที่เป็นไปได้มากสุด ชุดความคิดไหนที่คนส่วนใหญ่คิดไปในทำนองเดียวกัน เพื่อเลือกว่าอุดรธานีต้องการพัฒนาด้านใด ซึ่ง ณ ปัจจุบันก็มีไอเดียคร่าวๆ เหมือนกันว่า ถ้าคิดตามขอนแก่นโมเดลว่าอยากจะทำเป็น Smart City ที่แบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ อย่างขอนแก่นเขาเลือกหมวดคมนาคมมาเป็นอันดับ 1 อุดรฯ ก็เหมือนกับเริ่มรู้ทฤษฎีว่าต้องคิดเรื่องประมาณนี้ รวมถึงการตั้งประเด็นว่าเมืองที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้นอกจากการพูดคุยแล้ว เราก็จะค่อยๆ ให้ความรู้ว่าการที่จะเป็นเมืองที่ดีได้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แล้วมาดูกันว่าความเป็นไปได้ของอุดรฯ ควรจะทำอันไหนก่อนหลัง เรากระตุ้นด้วยคำถามให้เขาเริ่มคิดว่าควรจะทำเรื่องอะไรดี อุดรฯ มีอะไรดี เจอปัญหาอะไร อยากแก้เรื่องอะไรบ้าง”

ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มได้จากตัวเอง

ในขณะที่ฟากฝั่งหนึ่งกับบทบาทของการเป็นส่วนหนึ่งในการระดมความคิดและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในระดับเมือง ในทางคู่ขนานนั้น ปองพลได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็สามารถเริ่มต้นจากหนึ่งสมองสองมือของเราได้เช่นกัน

“หลังจากมีโอกาสได้คลุกคลีกับงานด้านสังคมและชุมชนมาประมาณปีกว่าๆ เราค้นพบว่าทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องใช้เงินก็ยังทำได้เลย แต่ถามว่านานไหม นานนะและต้องลงมือทำจริงๆ ด้วย สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มจากความต้องการและความตั้งใจของตัวเราเองก่อน อาจจะเรื่องเล็กๆ เริ่มจากที่บ้านก่อนก็ได้ ง่ายๆ ที่ทำได้ก็อย่างเรื่องแยกขยะ เช่น แทนที่จะทิ้งขยะสด ลองเปลี่ยนขยะเหล่านี้ไปทำปุ๋ยในครัวเรือนดูไหม เอาไส้เดือนมาเลี้ยง หรือหากเราอยากจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เวลาเราอาบน้ำ ลองเอาถังมารองน้ำ แล้วใช้น้ำในถังนั้นไปรดน้ำต้นไม้ก็ได้ เราคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ต้องลงทุนสักบาทนะ เพราะเป็นสิ่งที่เราทำเราใช้กันทุกวันอยู่แล้ว เพียงแค่เลือกวิธีการบางมาจัดการให้เกิดประโยชน์ด้านดีกับคนอื่นๆ กับสิ่งอื่นๆ รอบตัว เราคิดว่าแค่นี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ไม่ต้องใช้เงินและเปลี่ยนได้จริงๆ นี่คือความเชื่อส่วนตัวเรานะ”

ปัจจุบันและอนาคตของ UDMVD

ปองพลย้ำกับเราถึงความตั้งใจของ UDMVD ที่อยากยกระดับมาตรฐานของสังคมนักออกแบบและสถาปนิกก รวมทั้งยังอยากให้คนทั่วไปมองเห็นความสำคัญของสถาปนิกและการออกแบบที่มีผลต่อตัวเขาเอง ต่อเมือง ต่อภาพใหญ่ๆ ในสังคมมากขึ้น

“สถาปนิกเป็นกลุ่มอาชีพที่เหมือนอาภัพนิดหนึ่งนะ เพราะเราก็ทำงานกันหนัก แต่คนไม่ค่อยรู้ว่าเราทำอะไร ซึ่งเวลาสร้างบ้านสักหลัง คนส่วนใหญ่ก็จะรู้จักแต่ผู้รับเหมาหรือวิศวกร เราเคยทำแบบสอบถามนะว่าถ้าจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง เขาจะเริ่มอย่างไร คำตอบประมาณ 90% คือไปเทศบาล นึกออกไหมแบบผมจะสร้างบ้านก็ต้องไปขออนุญาตก่อสร้างและเขาจะคิดว่าเทศบาลมีแบบแล้ว ซึ่งจริงๆ เขาไม่ผิดนะ แต่กระบวนการก็จะข้ามสถาปนิกไปเลย ซึ่งจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งประมาณ 10% ที่รู้ว่ามีสถาปนิกที่ทำงานออกแบบและทำได้ดีด้วย แต่เขาก็เลือกที่จะไม่เสียสตางค์ตรงนี้ สุดท้ายจะเหลือรอดมาสัก 3% ที่เข้าใจสถาปนิก แล้วพร้อมที่จะจ่าย ซึ่งไม่ใช่ว่าเราไปรีดไถ่เขานะ เป็นเรทที่สมน้ำสมเนื้อ

แต่ด้วยการทำงานที่ทุกคนก็มีหน้าที่รับผิดชอบที่ค่อนข้างยุ่ง เราก็ไม่ได้มีเวลามากพอในการพีอาร์วิชาชีพตัวเอง ถามว่าอยากทำไหม อยากนะ ก็อยากทำโดยกลุ่ม UDMVD นี่แหละ ซึ่งถ้าทำก็อยากสื่อสารแบบขำๆ ซึ่งวิธีนี้น่าจะเข้าถึงคนมากกว่า เช่น สมมติในร้านก๋วยเตี๋ยวที่มีผ้าไวนิลคลุมโต๊ะ เราอาจจะทำโฆษณาของ UDMVD เลยว่าทำไมคุณต้องใช้สถาปนิกในการออกแบบ นึกออกไหมหรือไปแจกร่มให้แม่ค้าขายกล้วยแขกเราอยากทำพีอาร์อะไรแบบนั้น อยากให้ UDMVD มาเป็นตัวกลางที่ทำให้คนรู้จักสถาปนิกมากขึ้น


อีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีคน inbox เข้ามาเยอะมากเพื่อถามหาสถาปนิก เราก็เลยคิดว่าเราอยากให้ UDMDV เป็นแพลทฟอร์มที่คนจะสามารถเข้ามาหาสถาปนิก เพราะว่าสถาปนิกเองก็ไม่ค่อยโฆษณาตัวเอง ซึ่งข้อเสียคือคนจะหาเราไม่เจอ ซึ่งจริงๆ ก็น่าจะมีคนที่อยากให้เราออกแบบ แต่เขาอาจไม่รู้ว่าจะเริ่มหาจากตรงไหน อาจจะในปีนี้แหละที่จะทำให้เพจเป็นสื่อกลางจริงๆ เพราะตอนนี้คนจะเข้าออนไลน์เยอะกว่าออฟไลน์ เลยจะพยายามกระตุ้นให้สมาชิกในกลุ่มทำพอร์ตแบบจริงจัง มีเบอร์ติดต่อซึ่งแค่นั้นลูกค้าก็โอเคแล้ว จุดยืนเดิมของ UDMVD ก็ยังคงอยู่ เราไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อหวังผลกำไรอะไรทั้งสิ้น เคลียร์กันตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่ถามว่าเป็นผู้ประกอบการไหม เราเป็นผู้ประกอบการกันนะ เรามองว่าเราเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ที่ไม่ได้ผลตอบแทนมาเป็นเงินเท่านั้นเอง”

ปองพลเพิ่มเติมถึงสิ่งที่ตอบแทนที่ได้มาในฐานะกลุ่ม UDMVD ที่เขาและสมาชิกได้รับว่า “อันแรกสุดเลย สมมติว่าเราเป็นแม่สื่อให้เจ้าของบ้านกับสถาปนิกมาเจอกัน เขาจ่ายเงินกัน นี่คือได้รายได้ใช่ไหม เราก็เหมือนกับสร้างงานให้กับคนนี้แล้ว 1 งาน แล้วถามว่า UDMVD ได้อะไร ก็คือการทำให้เกิดการเชื่อมโยงแบบนี้แหละ ก็คงไม่ได้อะไรมากมาย แต่เราจะได้อยู่ในเมืองอย่างมีความสุขมากขึ้นซึ่งถ้าทำสำเร็จก็คงจะดี เราไม่ได้เป็นองค์กรโลกสวยขนาดนั้น แต่ทุกคนไม่ได้คิดร้าย และก็พยายามให้แนวคิดนี้ถูกกระจายไปให้รุ่นน้องต่อไป”

ช่วงท้ายของบทสนทนา ปองพลบอกเราถึงเป้าหมายระยะไกลของ UDMVD ที่เขาคาดการณ์ไว้ว่า “เพราะ UDMVD เป็นกลุ่มที่เกิดและอยู่รวมกันแบบหลวมๆ เราไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องเป็นอย่างไรต่อ แต่ถ้าถามว่าในใจลึกๆ อยากจะให้มีต่อไหม แน่นอนว่าเราอยากเห็นภาพนั้น ซึ่ง ณ เวลานั้นอาจจะไม่มีเราแล้วก็ได้ แต่สิ่งที่อยากเห็นคืออยากให้กลุ่มสามารถขับเคลื่อนกันไปได้เองโดยคนในรุ่นต่อไปช่วยกันทำต่อ เพราะว่าเรามองเห็นว่า สมมติเราเข้ามาใน พ.ศ. นี้ ยุคนี้ แล้วมีพี่ๆ รุ่นที่แก่กว่าเรามองมาที่ UDMVD แล้วคิดว่า เฮ้ย! เจ๋งหวะ เราเองก็อยากเป็นรุ่นพี่กลุ่มนั้นที่ยืนมองในอีก 20 ปี ข้างหน้า แล้วเห็นกลุ่มนี้ยังอยู่กับเป้าหมายในการรวมกลุ่มที่ดีทั้งต่อวงการและส่วนรวมด้วย”



ภาพและอ้างอิง: UDMVD

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles