Udon Walkable City อุดรธานี เมืองเดินได้ เดินดี

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์เรื่องเมืองที่น่าสนใจเกิดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี หลายสื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ชิบูย่าอุดรธานี’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทางด้านกายภาพมีความคล้ายคลึงกับทางข้ามในย่านชิบูย่าที่ญี่ปุ่น ความเปลี่ยนแปลงของ ‘แยกทองใหญ่’ สี่แยกหน้าสถานีรถไฟอุดรธานีที่มีสีสันสดใสพร้อมกับมีทางม้าลายสีเหลืองขนาดใหญ่วางพาดแยก เปิดให้คนทดลองเดินข้ามทางม้าเหลืองนี้ทั้งวันเป็นเวลา 1 วัน หลังจากนั้นก็ปรับไฟจราจรมาเป็นจังหวะที่ข้ามได้เฉพาะช่วงเย็นที่มีจำนวนคนข้ามเยอะ

ปฏิบัติการณ์เปลี่ยนกายภาพของเมืองภายในคืนเดียวนี้เรียกว่า tactical urbanism หรือเทคนิคการจำลองสถานการณ์เสมือนจริงทางผังเมือง โดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี ร่วมกับ สมาคมการผังเมืองไทย กลุ่ม Smart Growth Thailand เทศบาลนครอุดรธานี เครือข่าย UDON2029 และกลุ่มมาดีอีสาน โดยการออกแบบปฏิบัติการณ์นี้ใช้หลักการออกแบบของ Complete Street และ LEED-ND ที่หลายๆ เมืองในโลกนี้ใช้แล้วประสบความสำเร็จจนกลายเป็น Walkable City ได้จริงๆ

Complete Street และ LEED-ND เป็นหลักการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับคนเดินถนนเป็นอันดับแรกและลดความสำคัญของรถยนต์ให้เป็นอันดับถัดมา โดยจะเห็นว่ามีเครื่องมือที่เอื้อต่อคนเดิน เช่น ทางม้าลายขนาดใหญ่ ป้ายสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเดินที่เพิ่มมากขึ้น (ถึงแม้จะเป็นป้ายชั่วคราวที่ใช้สำหรับ 1 วัน) การปรับสัญญาณไฟจราจรที่มีไฟแดงพร้อมกันทั้ง 4 ด้านเพื่อให้สามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย และกราฟิกบนพื้นถนนที่สร้างพื้นที่ยืนรอในตำแหน่งที่รถยนต์จะสามารถมองเห็นคนยืนรอข้ามได้อย่างชัดเจน

ถึงแม้ปฏิบัติการณ์นี้จะเกิดขึ้นเพียง 1 วัน แต่ก็สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับเมือง เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เพราะมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมการใช้ถนนที่เราคุ้นชินมานาน ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแบบนี้ก็เป็นอีกนวัตกรรมการออกแบบเมืองที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอีกเช่นกัน ในปฏิบัติการ tactical urbanism จะเปิดรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งานจริง ซึ่งข้อมูลสำคัญที่จะนำไปพัฒนารูปแบบของถนนในอุดมคติต่อไป และข้อค้นพบที่ทุกคนเรียนรู้ร่วมกันจากปรากฏการณ์นี้คือ เราสามารถมีส่วนร่วมในการทำเมืองที่น่าอยู่ได้ด้วยตัวเราเองได้จริงๆ

นอกจากการปรับพื้นที่บริเวณแยกทองใหญ่ให้เอื้อต่อการข้ามถนนแล้ว ในขั้นตอนถัดไปจะเป็นการออกแบบพื้นที่ทางเท้าที่เอื้อต่อการเดิน ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องที่ใช้แนวคิดของ Complete Street และ LEED-ND เช่นกัน โดยทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ในวันที่ 9 มกราคม 2562 เพื่อปฏิบัติการ tactical urbanism ในเรื่องทางเท้าที่เอื้อต่อการเดินอีกครั้งบนถนนประจักษ์ศิลปาคม โดยเริ่มจากพื้นที่ต่อเนื่องจากแยกทองใหญ่ โดยจะเป็นการใช้เครื่องมือเรื่อง ‘ต้นไม้’ เพื่อส่งเสริมความงามและคุณค่าของไม้พื้นถิ่น เพิ่มความเข้าใจเรื่องขอบเขตของพื้นที่สาธารณะ และกระตุ้นการค้าขายระดับท้องถิ่นภายในย่าน

ปฏิบัติการ ‘ปลูกต้นไม้’ ถูกพูดคุยหลังจากปฏิบัติการแยกชิบูย่า โดยเปิดเวทีสาธารณะ UDON2029 FORUM ที่ว่าด้วยเรื่องของอนาคตเมืองอุดรธานีในอีก 10 ปีข้างหน้าในหัวข้อ ‘เมืองแห่งการเดิน’ โดยได้ อ.ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทยมาแนะนำวิธีการออกแบบเมืองแห่งการเดินซึ่งมีเรื่องของการปลูกต้นไม้เพื่อส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งการเดินอย่างสมบูรณ์ และในเวทีสาธารณะนั้นก็มีชื่อต้นไม้ที่ถูกนำเสนอจากผู้เข้าร่วมหลากหลายชนิด และมีการแสดงความเห็นในหลายๆ มิติ ทั้งในเรื่องของความเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ต้นไม้ที่ตอบสนองฟังก์ชั่นการใช้งาน รูปทรงของต้นไม้ที่จะไม่บดบังร้านค้าหรือยื่นไปกระทบทางสัญจรของรถยนต์ ต้นไม้ที่ไม้ที่จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างของเมืองเช่นระบบราก หรือฤดูกาลผลัดใบ วิธีการดูแลรักษา การลดอุณหภูมิภายในย่านจากร่มเงาและความชื้นจากพื้นผิว ปริมาณการดูดซับสารพิษและกรองฝุ่นในอากาศ รวมไปถึงงบประมาณที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่การจัดหาซื้อพันธุ์ไม้ไปจนถึงกระบวนการดูแลรักษาที่ออกแบบให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เป็นคนดูแลต้นไม้ร่วมกัน

ซึ่งหลังจากที่ได้ลงปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 2 ก็พบว่า ประชาชนเริ่มเข้าใจกระบวนการของ tactical urbanism มากขึ้น มีคนรักโครงการนี้ไปเลย และมีคนที่ตั้งใจมาบอกว่าไม่เห็นด้วย มีการรับฟังความเห็นที่แตกต่าง และพัฒนาโปรแกรมให้เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะไปถึงจุดที่ลงตัว แต่ทุกคนเห็นตรงกันว่า อย่างน้อยมันได้เกิดขึ้นแล้ว และความน่าสนใจของโครงการอีกอย่างคือ มันได้รู้ข้อมูลจากคนที่ใช้งานจริงๆ แล้วเป็นประเด็นที่ต้องเอามาบูรณาการทั้งหมด เช่น ต้นไม้มีผลกับระบบสายไฟใต้ดิน (ในอนาคต) หรือการออกแบบทางเท้าก็ไปมีผลกับธุรกิจสตรีทฟู้ดริมทาง ซึ่งก็ต้องคิดกันต่อว่าบริบททุกอย่างจะลงตัวที่จุดไหน

‘อุดรธานี เมืองเดินได้ เดินดี’ คือโครงการที่เริ่มต้นจากความเชื่อว่า การเดิน มีผลดีต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของเมือง พอเริ่มคิดและทดลองลงพื้นที่แล้วมันได้ข้อมูลและไอเดียต่อยอดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระบวนการตรงนี้คือสิ่งที่ทีมงานอยากให้เกิดและคิดว่ามันคือคุณค่าที่แฝงอยู่ก่อนที่จะถึงปลายทางที่เราฝันไว้ร่วมกัน

 

ขอขอบคุณ: คุณธานินทร์ วงศ์อาษา เอื้อเฟื้อภาพถ่ายประกอบบทความ

Pongpon Yuttharat

See all articles

Next Read