ตามล่ากาชาปอง ‘อับเฉาไม่อับเฉา’ ศิลปะร่วมสมัยให้อะไรมากกว่าที่คิด

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเทศกาลแสดงผลงานทางศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018 (19 ตุลาคม 2018 – 3 กุมภาพันธ์ 2019) ผลงานของเหล่าศิลปินทั้งระดับสากลและในประเทศวางแสดงตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ล้วนเป็นที่สนใจของผู้คนเป็นอย่างมาก รวมถึง กาชาปอง ‘อับเฉาไม่อับเฉา’ ของศิลปิน คมกฤษ เทพเทียน ซึ่งจัดแสดงที่วัดอรุณฯ ด้วย ตุ๊กตาหุ่นแกะสลักจีนตัวจิ๋วในไข่ ‘กาชาปอง’ ลอกแบบจากหุ่นหินแกะสลักที่ประดับอยู่ภายในวัด หรือที่เรียกกันว่า ‘อับเฉา’ ได้กลายเป็นที่ต้องการของบุคคลทั่วไปและเหล่านักสะสม เมื่อได้ไข่และตุ๊กตาหุ่นจีนอับเฉาออกมาจากตู้แล้ว ภายในนั้นยังใส่ลายแทงแผนที่ให้ผู้คนเดินตามหาตัวหุ่นจริงว่าอยู่ตรงไหน นอกจากจะส่งเสริมในการท่องเที่ยวแล้ว ยังกระตุ้นให้เราสืบหาที่มาของแนวคิด และย้อนวันเวลากลับไปสู่เรื่องราวการค้าทางเรือสำเภาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

‘กาชาปอง’ มีที่มาจาก ‘กาชะ’ (Ghacha) เป็นตู้ขายของเล่นหยอดเหรียญของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อลูกค้าบิดแล้ว สินค้าภายในวัตถุรูปไข่จะหล่นออกมา เสียงที่หล่นนี้เองถูกล้อเป็นคำว่า ‘ปอง’ ศิลปินนำมาดัดแปลงโดยสร้างเป็นรูปคล้ายหุ่นยนต์ทำหน้าที่เป็นเครื่องไทม์แมชชีน ซึ่งจะพาเรากลับไปสู่เรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวอับเฉาอีกที  ‘อับเฉา’ มาจากชื่อในสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ‘เอียบฉึง’ ซึ่งมีความหมายว่าการถ่วงเรือ ลำพังหินเนื้ออ่อนสีเขียวอมเทาที่นำมาใช้เป็นวัสดุแกะสลักรูปปั้นเหล่านี้ ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘ฮ่วยส่งง้ำ’ ลักษณะของหุ่นแกะสลักที่นำมาใช้ก็จัดแบ่งตามประเภท เช่น สัตว์, ทหาร, เซียน, นางฟ้า, สัตว์ในตำนาน, ขุนพล

เป็นเรื่องชวนพิศวง ที่เจ้าหุ่นยนต์ตู้ตัวนี้ ดึงดูดผู้คนมาจากทั่วสารทิศ วันละมากกว่าร้อยคน เพราะสินค้ามีจำนวนจำกัด บางรายมาไม่ทันต้องผิดหวังกลับไป ในแต่ละวันนั้นผู้คนสมัครใจจะมายืนเรียงแถวรอเวลาเป็นชั่วโมงๆ เพื่อลุ้นว่าวันนี้ตัวเองจะได้ตัวอับเฉาแบบไหน สำหรับคนที่กดแล้วได้ตัวซ้ำก็ชักชวนคนอื่นแลกเปลี่ยนตัวอับเฉากัน เป็นที่สนุกสนาน ได้มิตรภาพในกลุ่มคนที่รักชอบสะสมด้วยกัน บางคนเดินทางมาจากที่ไกลๆ หรือขึ้นเครื่องบินมาจากแพร่, เชียงใหม่ เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ในวันท้ายๆ ของงาน ผู้คนมาเตรียมรอคิวกันตั้งแต่ก่อนเจ็ดโมงเช้ากันเลยทีเดียว

เมื่อย้อนมองงานของศิลปิน คมกฤษ เทพเทียน แล้วก็จะพบวิธีคิดและการเล่าเรื่องในเชิงประวัติศาสตร์, การผสมผสานทั้งด้านความเชื่อและค่านิยมที่ถ่ายเทถึงกัน ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่มองผ่านบริบททางสังคมปัจจุบัน แน่นอนว่ารวมถึงชิ้นนี้ด้วย

‘อับเฉาไม่อับเฉา’ นี้ทำหน้าที่เกินกว่าผลงานศิลปะที่วางแสดงอย่างไร้ชีวิต แต่เป็นกิจกรรมที่กลมกลืนเข้ากับความเคลื่อนไหวของสังคม ล้อเลียนรูปแบบการค้าด้วยเรือสำเภาในอดีตให้กลายเป็นการแลกเปลี่ยนของสะสมในยุคใหม่ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายได้ในกิจกรรมนี้ ศิลปินจะนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ยากไร้ เท่ากับเป็นการผสมผสานแนวคิดแบบหลากหลายไว้ในกิจกรรมเดียว ทั้งชื่นชมงานศิลปะ, การทำบุญ, การสะสมของเล่น, การค้าและเก็งกำไร, ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์, นำเที่ยวชมวัด และได้มิตรภาพไปด้วยพร้อมกัน

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งจาก กลุ่มกาชาปอง (อับเฉา) พูดคุย แลกเปลี่ยน โชว์

อ้างอิง: mgronline.com, silpa-mag.com, birdkm.com

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles