‘วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ’ พี่ซุปแห่งซูเปอร์จิ๋ว กว่า 20 ปีกับการสร้างสรรค์เพื่อเด็กและสังคม

หากเอ่ยชื่อของ วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ หรือ ‘พี่ซุป’ แล้วล่ะก็ เชื่อแน่ว่าเด็กในยุค 80 ทุกคนจะต้องจำผู้ชายขาวตี๋ใส่แว่นที่มาพร้อมกับซูเปอร์จิ๋ว รายการเด็กที่เริ่มต้นออกอากาศตั้งแต่ปี 2534 และดำเนินมาต่อเนื่องจนถึงปี 2556 นี้ได้ขึ้นใจ วันนี้เรามีโอกาสได้เจอกับพี่ซุปตัวเป็นๆ พร้อมกับการอัพเดทความเป็นไปของรายการ ‘ซูเปอร์จิ๋ว’ และรายการใหม่อย่าง ‘วิตามินข่าว’ รวมไปถึงทิศทางของบริษัทซูเปอร์จิ๋วในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนมุมมองในเรื่องเด็กและสังคมของพี่ชายขาวตี๋ใจดีคนนี้แบบเจาะลึก

Q: ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไป แนวคิดและจุดประสงค์ของรายการวิตามินข่าวให้เราฟังหน่อยได้ไหม?

A: แนวคิดของรายการวิตามินข่าวเกิดจากการที่เราเห็นว่าข่าวเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ข่าวเป็นการนำเสนอสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเนื้อหาของข่าวนั้นมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเด็กอยู่ด้วย แต่ปรากฏว่าข่าวส่วนใหญ่กลับไม่ได้พูดกับเด็ก แต่มักจะพูดกับผู้ใหญ่โดยตรง แล้วถ้ามองลึกลงไปก็พบว่าการนำเสนอข่าวโดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการบอกว่าเกิดอะไรขึ้น มีความสูญเสียอย่างไร เราก็มองว่าเรามีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับเด็ก และรู้สึกว่าข่าวเป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากจะทำอย่างไรที่จะให้เด็กรู้ว่าข่าวนี้เกิดขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เด็กสามารถเอาตัวรอดถ้าเกิดสถานการณ์แบบนั้นขึ้นกับตัวพวกเขา ที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เด็กๆ ตกเป็นข่าว

ซึ่งจุดเริ่มต้นจริงๆ ของรายการนี้เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน ตอนนั้นทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดโอกาสให้คนทำรายการโทรทัศน์มานำเสนอโครงการซึ่งรายการวิตามินข่าวผ่านอนุมัติแล้ว เพียงแต่ว่ารอเวลาว่าจะได้ออกอากาศเมื่อไหร่ ช่วงไหน ซึ่งตอนนั้นเราเองก็ยังไม่รู้และยังไม่มีความชัดเจน แต่ประจวบเหมาะที่ว่าตอนนั้นเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่พอดี เราก็กำลังหนีน้ำกันอยู่ แล้วก็มีโอกาสได้ไปช่วยเขาทำกับข้าวที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำได้เลยว่าพี่ทำอะไรไม่เป็นเลย ทอดเต้าหู้ก็ไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าเราก็เป็นผู้ใหญ่ แต่ทำไมเราไม่มีประสิทธิภาพเลย ในขณะเดียวกัน น้องของเราซึ่งเราจะรู้สึกว่าเด็กมากๆ แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก สับหมู ช่วยเขาได้เยอะมาก พี่จำเลยพี่ใส่เต้าหู้แล้วน้ำมันกระเด็น คนเขาก็มองค้อนว่าไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมทำอะไรไม่เป็นเลย (หัวเราะ) เราก็เก็บเรื่องนี้กลับมาคิดว่าเราช่วยพวกเขาได้นะ แต่เราน่าจะทำเรื่องที่เราถนัดที่สุดมากกว่า ช่วงแรกเราทำผ่านสื่อโซเชียลมีเดียซึ่งเราเองก็มีแฟนเพจซูเปอร์จิ๋ว มีแฟนในเพจ YouTube อยู่แล้ว เราก็เลยทำเป็นรายการที่ให้เด็กๆ ได้รู้เกี่ยวกับน้ำท่วม พอทำออกมาแล้วทางไทยพีบีเอสเขาก็บอกว่าดี ให้เอามาออกในไทยพีบีเอสด้วย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการออกอากาศอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากนั้น พอทุกอย่างลงตัวแล้ว เราก็มีโอกาสได้ทำกับไทยพีบีเอสมาโดยตลอด

Q: คุณมีวิธีการคัดเลือกแต่ละหัวข้อมานำเสนออย่างไร?

A: รายการวิตามินข่าวจะคิดถึงผู้ดูเป็นหลัก คิดถึงครอบครัว โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็ก เราก็ยึดเป้าหมายนั้น แล้วก็ปรับให้รูปแบบรายการออกมาสอดคล้องกับเป้าหมายที่เราต้องการนำเสนอ เราจะไม่นำเสนออะไรที่จะไปมีผลกระทบกับเด็ก โดยประเด็นเราก็ดูในช่วงเวลาต่างๆ วิตามินข่าวที่ออกอากาศในช่วงแรกๆ ต้องพูดตรงๆ ว่าเป็นการทำงานที่เร่งด่วนมาก คุณภาพและเรื่องที่ทำเราก็ทำได้เท่าที่สถานการณ์ในตอนนั้นจะอำนวย คือเราถ่ายทำตอนที่น้ำมาแล้ว แล้วทีมงานก็เริ่มมาไม่ได้ทีละคนสองคน เด็กๆ เริ่มมาไม่ได้ เพราะติดน้ำท่วม ขณะที่ในปัจจุบันมันก็จะมีสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของมันอยู่แล้ว ทีมงานก็จะมานั่งดูว่าในแต่ละสัปดาห์มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ อย่างเช่นช่วงนี้จะเป็นเรื่องของฝน เราก็มานั่งคิดกันว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอคืออะไร เราก็ตั้งคำถามว่ามีอะไรเกี่ยวกับฝนที่เราสามารถบอกเด็กๆ ได้บ้าง สุดท้ายก็มาสรุปกันในเรื่องภัยที่มากับฝนมีเรื่องอะไรบ้าง เราก็รู้ละว่าเป็นเรื่องของสัตว์ต่างๆ เช่น แมงป่อง ตะขาบ งู เราก็นำเสนอเรื่องนี้เพื่อให้เด็กๆ ระวังตัว เรามีเรื่องเยอะมาก เช่น เรื่องอาเซียน เรื่องกีฬาต่างๆ มีแทบทั้งหมด ค่อนข้างครบถ้วนและมีหลากหลายเรื่องราว

Q: คุณมีวิธีการอย่างไรในการนำเสนอความรู้และสร้างความเข้าใจกับประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนสำหรับเด็ก อย่างเช่นเรื่องเพศ

A: หัวใจของวิตามินข่าวก็คือหยิบเอาประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ ซึ่งประเด็นที่ละเอียดอ่อน รวมไปถึงประเด็นที่เรามักไม่ค่อยสื่อสารกับเด็กๆ ก็เป็นสิ่งเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับพวกเราเลย เมื่อต้องมานำเสนอในหัวข้อเหล่านี้ สิ่งที่เราทำก็คือการหาผู้ช่วยที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องที่พวกเขาถนัด เช่น ถ้าเราจะนำเสนอเรื่องอุบัติภัยเราต้องไปปรึกษาคนนี้นะ สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับเพศ เราเองก็ทำการบ้านกันหนักมาก เนื่องจากว่าไม่ค่อยมีการพูดเรื่องนี้ในสังคมไทยมากหนัก แค่เราจะพูดเราก็อาย ยิ่งพอต้องพูดกับเด็กยิ่งแล้วใหญ่ เราจึงติดต่อไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กซึ่งเป็นองค์กรที่มีความรู้ด้านนี้โดยตรง เขาจะดูแลเด็กที่โดนทำร้าย ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเพศอย่างเดียว แต่รวมถึงความรุนแรงด้านอื่นๆ ด้วย มูลนิธิเหล่านี้จะทำงานร่วมกับต่างประเทศซึ่งพวกเขามีองค์ความรู้อยู่ชุดหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับเด็กๆ ในขณะเดียวกัน เราเองก็มีประสบการณ์ในการนำสิ่งดีๆ มาถ่ายทอดเป็นสื่อให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้นและเป็นประโยชน์กับตัวเด็กๆ ด้วย มันเลยเป็นการผสมผสานกันระหว่างคนที่มีความชำนาญต่างกันมาทำงานร่วมกัน จากนั้นเราจึงพัฒนาในหลายส่วนทั้งวิธีการนำเสนอ การใช้อุปกรณ์ การใช้เพลงเพื่อมาทำให้ทุกอย่างดูเบาขึ้น เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราพยายามเลือกเด็กที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติในการสื่อสารเรื่องนี้ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจนัก แต่เราก็ไม่ได้นำเสนอให้มันลึกซึ้งมาก เพียงแต่บอกเด็กว่าถ้ารู้สึกไม่ดีควรจะต้องทำอย่างไร ทำอย่างไรที่จะไม่พาตัวเองไปอยู่ที่ที่มันมีความเสี่ยงแบบนั้น และถ้าเกิดอะไรขึ้นจะเอาตัวรอดอย่างไร เราจะบอกเด็กในพื้นฐาน

Q: หลังจากที่รายการวิตามินข่าวออกอากาศสู่สาธารณชนแล้ว ผลตอบรับที่ได้จากผู้ชมทั้งตัวเด็กเองและผู้ปกครองเป็นอย่างไร?

A: เสียงสะท้อนออกมาดีมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเสียงสะท้อนที่เราได้จากครอบครัว พ่อแม่ดูแล้วจะรู้สึกชื่นชมและชื่นชอบ คือเขามีหลายๆ อย่างอยากจะสอนลูก แต่ไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร พอมีรายการวิตามินข่าวก็เหมือนเราเป็นสื่อกลางที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้สอนลูกได้ ขณะเดียวกันก็มีสถานศึกษาหยิบเอาเนื้อหาของเราไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน ให้เราช่วยส่งซีดี ดีวีดีได้ไหม แต่เราไม่สามารถส่งให้ได้ทั้งหมด เราเลยใช้วิธีอัพขึ้นยูทูปให้แทน แล้วก็ให้คุณครูนำไปใช้ในการเผยแพร่ได้เลย

Q: เมื่อมีผลตอบรับจากผู้ชมค่อนข้างดีแบบนี้แล้ว มีการต่อยอดจากรายการวิตามินข่าวไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก ครอบครัว หรือสังคมบ้างไหม?

A: ถ้าพูดถึงกิจกรรมต่อยอดตอนนี้ยังไม่มี แต่เรามีแพลนว่าอยากจะทำในเรื่องการป้องกันภัยต่างๆ คิดไว้กับไทยพีบีเอส อาจจะเป็นปีหน้า เราอยากรวบรวมสิ่งที่เกี่ยวกับภัยทั้งหมด คือเด็กไทยไม่ค่อยระวังภัย หน้าฝน ฟ้าผ่า ไฟไหม้ อะไรต่างๆ เราอยากจะทำเป็นเหมือนอีเว้นต์หรือเป็นคู่มือให้เด็ก ถ้าสังเกตเวลาที่เราดูข่าวทั่วๆ ไป เขาก็จะบอกว่าเมื่อวานเกิดเหตุเพลิงไหม้ มีผู้เสียชีวิต 3 คน ค่าเสียหายเท่าไหร่ แล้วจบข่าว แต่ว่าสิ่งที่วิตามินข่าวทำคือเจาะเข้าไปให้เห็นว่าเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ ถ้าอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้น เด็กๆ ควรจะทำอย่างไร เช่น ถ้าจะหนีให้ก้มตัวให้ต่ำที่สุด ใช้ผ้ามาชุบน้ำมาปิดจมูกแล้วคลานไป จากนั้นก็ให้มองหาบันไดหนีไฟ อย่ามองหาลิฟต์ ก่อนจะเปิดประตูให้เอามืออังก่อน ถ้าร้อนๆ ห้ามเปิดนะ แล้วถ้าเปิดจะเจออะไร เราก็เปิดให้เด็กดู พอเปิดปุ๊บไฟก็จะพุ่งออกมาให้เห็นเป็นไฟเลย พออีกสัปดาห์เราก็บอกว่าเพลิงไหม้เกิดจากอะไร เคยได้ยินคำว่าไฟฟ้าลัดวงจรใช่ไหม เราก็อธิบายว่า ‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ คืออะไร ก็จะมีการสอนความรู้ต่างๆ เหล่านี้เพื่อให้เด็กและครอบครัวได้เข้าใจ คือเราอยากจะนำเสนอในลักษณะของการรวมองค์ความรู้ ถ้าเป็นไปได้ ก็น่าจะมีการทำอะไรแบบนี้

Q: หลังจากที่คุณมีโอกาสได้ทำงานกับเด็กมาตลอด คุณเห็นพัฒนาการของเด็กๆ ในแต่ละยุคเป็นอย่างไร?

A: ไม่ว่าจะยุคไหน เด็กก็มีทั้งดีและไม่ดีผสมกันอยู่แล้ว แต่พี่รู้สึกว่าเด็กโตเร็วขึ้น เช่น สมัยก่อนซูเปอร์จิ๋วอาจจะมีเด็ก ม.3 ดูอยู่ ถึงแม้ตอนนี้ก็มี ถ้าเราดูเฟสบุ๊คของเรา แม้กระทั่งคนเรียนจบแล้ว พ่อแม่ก็ดู แต่ว่าน้อยลง สมัยก่อนฐานของซูเปอร์จิ๋วกว้างมากเลย แต่ตอนนี้ฐานของซูเปอร์จิ๋วแคบลง เพราะเด็กโตเร็วขึ้นและเด็กก็สามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้นด้วย จากสมัยก่อนเราก็จะบอกว่าทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงเด็กได้มากที่สุด ก็มีความกังวลกันว่าถ้าทีวีอยู่ในห้องนอนลูก แล้วลูกดูอะไรอยู่แม่จะรู้ได้อย่างไร แต่ตอนนี้เป็นมือถือที่ติดตัวเด็กๆ แล้ว มันคือโซเชียลเน็ตเวิร์คซึ่งกว้างมาก ไม่มีการกำจัดอายุในการเข้าถึง แล้วเด็กก็มีพฤติกรรมในการแสดงออกที่มีทั้งดีและไม่ดี เด็กชัดเจนมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพบเห็น แล้วสิ่งที่ชัดเจนมากอีกอย่างในช่วงหลังคือพฤติกรรมเลียนแบบ เช่น พฤติกรรมบางอย่าง ท่าที หรือคำพูด ซึ่งบางทีเป็นอารมณ์ชั่ววูบของเด็ก แต่ตอนนี้พอเราอัพคลิปขึ้นยูทูป แล้วเราก็แชร์ต่อๆ กัน พี่คิดว่าเป็นการตอกย้ำบางอย่างที่ทำให้เด็กไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ ด้วยอารมณ์ขันของผู้ใหญ่ ตลกดี ซึ่งตรงนี้พี่รู้สึกว่าเป็นวิจารณญาณของคนที่โตกว่าที่ต้องคิดเยอะกว่า ถ้าสมมติว่าเราไม่สนุกชั่วครู่ชั่วยาม แล้วเราก็หยุดแชร์ มันก็ไม่เป็นประเด็น พี่ไม่เห็นเรื่องแบบนั้นจะให้สาระอะไร ถ้าเด็กรับตรงนี้ไม่ไหวมันก็จะนำไปสู่ปัญหาได้

Q: คุณคิดว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร

A: พี่คิดว่าเราอย่าไปคาดหวังอะไรจากใครนอกจากตัวเองว่าเราเป็นหนึ่งในคนที่ทำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า

Q: ถ้าเทียบกับรายการเด็กในยุคเดียวกัน ซูเปอร์จิ๋วแทบจะเป็นรายการเดียวที่สามารถดำเนินมาจนปัจจุบัน คุณสามารถรักษารายการนี้ รวมถึงการต่อยอดธุรกิจอย่างไรท่ามกลางอุปสรรคทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและรูปแบบรายการที่เน้นเฉพาะกลุ่มเด็กๆ 

A: ซูเปอร์จิ๋วผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาโดยตลอด คนมักจะถามว่าในช่วงที่เศรษฐกิจแย่ที่สุดเรารอดมาได้อย่างไร พี่อยากจะบอกว่า จริงๆ เศรษฐกิจไม่แย่มันก็แย่อยู่แล้ว (หัวเราะ) คือรายการเด็กเป็นรายการที่ยากอยู่แล้ว ทั้งเรื่องต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูง ช่วงเวลาออกอากาศก็ไม่ดีนัก เรื่องของการตลาดที่ลูกค้ามักไม่ค่อยเห็นรายการเด็กเป็นอันดับ 1 แต่จะเป็นเป็นอันดับ 2, 3, 4 แล้วเรตติ้งก็อยู่ในประมาณหนึ่ง ไม่ใช่เรตติ้งที่สูงที่สุด ซึ่งสูงที่สุดก็ยังเป็นการ์ตูน ละคร และเกมที่เด็กชอบ ดังนั้น ถ้าถามว่าซูเปอร์จิ๋วอยู่รอดได้อย่างไร เรารู้สึกเสมอว่าซูเปอร์จิ๋วไม่ได้เป็นแค่รายการโทรทัศน์ แต่ซูเปอร์จิ๋วเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คือเรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ดังนั้น เราก็ทำอะไรมากกว่าการเป็นรายการโทรทัศน์

ที่ผ่านมามีหลายปีที่เราขาดทุน แล้วยังทำต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งก็ขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง ถัวๆ กันไป แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ตลอดเวลา คือ เราไม่เคยอยู่กับที่ อันนี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก เราไม่ได้ทำงานง่าย แต่เราทำงานยากมาก การทำงานยากก็ต้องทำคุณภาพให้ได้ใจทุกคนด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า สถานี หรือผู้ชมรายการ ซูเปอร์จิ๋วจะเป็นรายการที่มีการทำวิจัยบ่อยมาก จุดเปลี่ยนของเราคือตอนปี 2540 ตอนนั้นรายการก็น่าจะเลิกแล้ว เพราะเริ่มมีรายการอื่นๆ เราก็ระดมเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่มา แล้วก็ตัดสินใจทำวิจัย ซึ่งทำให้เราพบว่าปัญหาของการทำรายการเด็กในประเทศนี้คือ สิ่งที่ผู้ใหญ่ให้กับสิ่งที่เด็กอยากรับไม่ตรงกัน ผู้ใหญ่ปรารถนาดี แต่เด็กไม่รู้สึกว่าปรารถนาดี มันเลยกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก คือเราอยากสอน อยากให้เด็ก และอยากให้เกิดความลงตัว นี่คือสิ่งที่เป็น key success ของซูเปอร์จิ๋ว ดังนั้น เราเลยทำให้ซูเปอร์จิ๋วเป็นรายการที่เป็นสาระบันเทิง ซึ่งเรามีความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถ แต่ถ้าปราศจากโอกาส ความสามารถนั้นอาจจะไม่มีความหมาย ซูเปอร์จิ๋วเลยจะทำหน้าที่เป็นเวทีให้เด็กได้ค้นหาศักยภาพในตัวเอง

เรื่องอื่นๆ ที่เราพบหลังจากการทำวิจัยก็คือ เด็กบอกว่ารายการเด็กไม่ลงทุน เป็นของรายการเด็กกรุงเทพฯ ไม่ไปไหนเลย ฉากลงทุนต่ำมาก นี่เป็นคำที่เด็กพูด ทำไมรู้ดี (หัวเราะ) โดนมาก เมื่อการทำวิจัยทำให้ราค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง เราก็เริ่มปรับและพัฒนาให้เกิดสิ่งที่มันสามารถตอบโจทย์เด็กๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของการทำฉากขนาดใหญ่ การเดินทางไปพบเด็กตามที่ต่างๆ แล้วมีการเปลี่ยนรูปแบบรายการทุก 3–6 เดือน ซึ่งทำให้ซูเปอร์จิ๋วมีกราฟที่ไม่ตก แต่ก็ต้องบอกว่าเรื่องการทำเงินนั้นยากมาก ถ้ามองในความเป็นทีวีพี่จะบอกว่าซูเปอร์จิ๋วเป็นรายการที่ไม่ฉลาดนักในเชิงการลงทุนและการทำงานเพราะมันเหนื่อยเกินไป ซูเปอร์จิ๋วลงทุนมากกว่าการ์ตูน 2 เท่า แต่ได้กำไรน้อยกว่าการ์ตูน 2 เท่า ไม่รวมค่าทีมงาน ไม่รวมค่าอะไรเลย พี่คิดว่าที่ซูเปอร์จิ๋วอยู่รอดมาได้เพราะทีมงานของซูเปอร์จิ๋วทำงานหนักมาก และเราก็โชคดีมากที่ได้ทีมงานที่ดี ทุกคนมีความสุขในสิ่งที่ทำ ซึ่งถ้าเราตัดในเรื่องความเหนื่อยความหนัก เราทุกคนก็อยากทำแบบนี้ เรียกว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างเข้าใจ แล้วก็รู้จักพฤติกรรม นิสัย และความต้องการของเด็ก แล้วเราก็ปรับตัวตลอดมา เช่น เราเคยดูใช่ไหม แล้วเราไม่ดูแล้ว พี่ก็ไม่โกรธ แต่ว่ามีเด็กๆ มาดูต่อ มันก็เลยทำให้ซูเปอร์จิ๋วกลายเป็นรายการจากรุ่นสู่รุ่น ณ ตอนนี้ 23 ปีแล้ว อันนี้เราภูมิใจและก็ตั้งเป้าหมายว่าเราอยากเป็นรายการเด็กมีอายุยืนยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้

Q: อะไรคือเสน่ห์ของการทำรายการเด็ก?

A: งานนี้เป็นงานที่เราทำแล้วมีความสุข ถ้าไม่ขาดทุนและมีกำไรด้วยก็จะเป็นพระคุณมาก จะดีใจมากขึ้น

Q: นอกเหนือไปจากรายการเด็กแล้ว บริษัทซูเปอร์จิ๋วมีรายการอื่นๆ อีกบ้างไหม

A: เราเคยถามตัวเองว่าเราอยากทำอย่างอื่นไหม เราตอบตัวเองว่าก็ต้องลองดู ซึ่งพบว่าเราก็สามารถทำรายการรูปแบบอื่นได้นะ แล้วเราได้พิสูจน์ในหลายๆ รายการว่าเราทำได้ ไม่ว่าจะเป็นรายการเมืองใจดี รายการองค์กรซ่อนอ้วน รายการทราบแล้วเปลี่ยน รายการหัวใจใกล้กัน ก็เป็นรายการที่เราได้ทำ แล้วเราก็รู้สึกว่าเรามีความสุขเหมือนกัน

Q: หลังจากที่มีโอกาสได้คลุกคลีกับเด็กๆ มาโดยตลอด พวกเขาให้อะไรกับคุณบ้าง?

A: พี่ได้เรียนรู้อะไรจากเด็กเยอะมาก ถ้าถามในเชิงความรู้สึกพี่ เด็กให้พลังงานในชีวิตพี่ ถ้าในมุมพี่คนเดียวพี่จะรู้สึกว่า การได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินเสียงหัวเราะของเขา มันเป็นการเติมพลังชีวิต คือเวลาเราทำงานเรารู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นฟีดแบคที่กลับมาเร็วที่สุด ก็เหมือนเวลาที่เราทำอาหารอร่อยๆ ให้คนทาน บางทีเราไม่เห็นว่าเขาทานอย่างไร โปรตีนในเนื้อที่เราทำมันไปซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างไร แต่ตรงนี้มันเห็นเร็ว คือเราได้เห็นผลตอบรับที่กลับมาเราก็ชื่นใจ เป็นพลังชีวิตที่ทำให้เรามีกำลังใจ นี่คืออย่างแรก อย่างที่สองคือ ทุกครั้งที่รู้ว่ามีเด็กดูรายการ นอกจากคำว่าดีใจแล้ว พี่รู้สึกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณเขาอยู่ ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร คือเรารู้สึกขอบคุณมากๆ เลย ถึงแม้เราจะรู้ว่าเราตั้งใจทำรายการให้เด็กดูและเราก็มีความตั้งใจที่ดีด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆ แต่พอมีคนดูเราก็รู้สึกว่าเราได้ให้พวกเขาแล้ว เราไม่ได้รู้สึกว่าเราเหนือกว่าแต่เรารู้สึกขอบคุณ ดังนั้น ตลอดเวลา 23 ปีที่ผ่านมา เราก็อยู่ได้ด้วยความเชื่อและความรู้สึกแบบนี้ว่าเราตั้งใจทำรายการที่ดีที่สุด เมื่อรู้ว่ามีเด็กดูรายการเราก็รู้สึกขอบคุณ รู้สึกว่าเป็นการเติมพลังให้แก่กันและกัน

Q: รายการที่คุณทำไปเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กๆ ได้บ้างไหม? 

A: ถ้าเทียบว่าซูเปอร์จิ๋วและวิตามินข่าวเป็นยา ก็ไม่ใช่ยาแรง คืองานที่เราทำ ไม่ใช่เพื่อที่จะไปเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เราทำรายการเป็นวิตามินที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้พวกเขา ซึ่งถ้าถามว่าแล้วอะไรที่จะช่วยในการดูแลเด็กได้ดีที่สุด พี่คิดว่าคือครอบครัว โรงเรียน และสังคม ซึ่งรายการโทรทัศน์เป็นส่วนนึ่งของสังคม แล้วเราก็ทำในส่วนนี้ เพียงแต่เราก็มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำให้กับเด็ก ไม่ใช่สิ่งปนเปื้อน ไม่ใช่สารที่ไม่ดี ทุกๆ รายการของบริษัทซูเปอร์จิ๋ว เราจะให้เรื่องของแรงบันดาลใจ อย่างรายการซูเปอร์จิ๋วก็จะเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เด็กค้นหาพลังในตัวเองด้วยการทำหน้าที่เป็นเวทีในด้านต่างๆ ทั้งดนตรี กีฬา การศึกษา การทดลองที่หลากหลาย เสริมเรื่องทักษะชีวิต ต้นทุนชีวิต หรือรายการเมืองใจดีก็เป็นเรื่องราวการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือถ้ารายการองค์กรซ่อนอ้วนก็เป็นเรื่องของสุขภาวะ พี่ว่าพวกเราก็มีความเชื่อว่ารายการของเราจะมีแรงบันดาลใจสร้างในด้านนั้นๆ พี่คิดว่าเรารู้ว่าทำอะไรอยู่ บางรายการได้รับผลตอบรับทันทีที่รายการออกอากาศ บางรายการต้องใช้เวลารอคอยความงอกงามในอนาคต

Q: ตอนนี้คุณมีความกังวลในแง่ของปัญหาในสังคมที่จะกระทบต่อเด็กบ้างไหม และคิดว่าควรจะแก้ไขอย่างไร?

A: พี่ก็ไม่ได้กังวลอะไรนะ พี่ว่ามันก็เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าถามพี่ว่ามีปัญหาไหม มันก็มีปัญหา แต่พี่คิดว่าจากประสบการณ์ของเรา จากสิ่งที่เราทำ สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ไม่ใช่การแก้ไข ซึ่งกุญแจสำคัญที่สุดคือครอบครัว สำหรับเด็กที่มีครอบครัวที่แข็งแรง เขาก็จะโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ มีเด็กหลายคนที่เราเห็นว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างไร เสียสละตัวเองเพื่อลูกอย่างไร และทำอย่างสร้างสรรค์ด้วย เราก็ได้เห็นเขาเติบโตขึ้นอย่างน่าชื่นชม ดังนั้น พี่เห็นปัญหา และพี่ไม่รู้ว่าเราจะแก้ปัญหาในเชิงรายละเอียดได้เยอะมากน้อยขนาดไหน แต่พี่รู้ว่าเกราะสำคัญที่สุดคือครอบครัว อย่าไปกังวลเรื่องนั้นเลย เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ แต่เราสามารถใส่เกราะลูกหลานเราได้ ให้เขาเดินออกจากบ้านไป แล้วมีวิธีในการดูแลตัวเองได้ พี่ว่าตรงนี้สำคัญกว่า

Q: ทิศทางและเป้าหมายของบริษัทซูเปอร์จิ๋วในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป?

A: จริงๆ แล้ว ซูเปอร์จิ๋วก็เป็นบริษัทด้วย เราก็มีการคุยกันว่าซูเปอร์จิ๋วนั้นเดิมทีหมายความว่าเด็กเก่ง แต่เมื่อเราผ่านประสบการณ์ในการทำงานมานานแล้ว จนถึงวันนี้เราก็ไม่ได้มีแค่ธุรกิจรายการโทรทัศน์ แต่เราก็ขยายไปในส่วนของเรื่องอีเว้นต์ มาร์เก็ตติ้งด้วย แต่คนก็เข้าใจว่าเราทำแค่อีเว้นต์ของเด็ก ซึ่งจริงๆ แล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นอีเว้นต์ทั่วไปของกลุ่มผู้ใหญ่ แล้วก็มีรายการโทรทัศน์ ซึ่งตอนนี้เราทำรายการโทรทัศน์สำหรับผู้ใหญ่มากกว่ารายการเด็ก ตรงนี้เรามีการคุยกันภายในว่าซูเปอร์จิ๋ววันนี้ไม่ใช่ซูเปอร์จิ๋วแบบเดิมแล้ว ซูเปอร์จิ๋ววันนี้คงเป็นความหมายของพลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ คือการที่หลายๆ กลุ่มมารวมกันแล้วสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์เราก็จะสร้างซูเปอร์เทเลวิชั่น แล้วก็ซูเปอร์ทีวี ถ้าเป็นอีเว้นต์ เราก็เป็นซูเปอร์อีเว้นต์ ดังนั้น จากนี้ไปซูเปอร์จิ๋วจะไม่ได้เป็นแค่รายการ เราคุยกันเมื่อต้นปีว่าเราจะทำอะไรมากกว่านั้น แต่ทุกๆ อย่างที่เราทำยังคงอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่าเราได้สร้างแรงบันดาลใจบางอย่างแก่สังคมด้วย

https://youtu.be/9Xe3uxFzasYบันทึก

บันทึก

บันทึก

Tags

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles

Next Read