‘วริศรุตา ไม้สังข์’ Minute VDO Thailand สื่อวิดีโอสร้างสรรค์ส่งต่อความรู้แบบไร้ข้อจำกัด

เราคงไม่ปฏิเสธว่าในยุคนี้สมัยนี้ มีข้อมูล ข่าวสาร และความรู้มากมายเกิดขึ้นอยู่รอบตัว แต่สื่อที่นำเสนอเนื้อหาอันเป็นประโยชน์เหล่านี้กลับมีจำนวนสวนทาง ทั้งๆ ที่มีก็คนเสพสื่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และช่องว่างที่ว่านี้ ได้เปิดโอกาสให้แพลทฟอร์มหน้าใหม่อย่าง ‘Minute VDO Thailand’ เกิดขึ้น เพื่อมาเติมเต็มให้พื้นที่ดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Minute VDO Thailand ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่กลางซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากสื่อดีๆ ที่ผลิตความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ผลิตผลของพวกเขายังเป็นกระจกเงาที่คอยสะท้อนเรื่องราวต่างๆ ในสังคม ตลอดจนสะกิดใจให้ผู้คนได้คิด ทบทวน และถกเถียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม โปสเตอร์ – วริศรุตา ไม้สังข์ หนึ่งในฟันเฟืองของแพลทฟอร์มแห่งนี้ จะมาเล่าสู่กันฟังถึงเส้นทางการทำงานของพวกเขา อุปสรรคและทางออกในการนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่ยังคงเป็นปัญหาในประเทศไทย ตลอดจนบทบาทของสื่อที่ถือว่าเป็นโรงเรียนของสังคมแห่งนี้

เพราะเชื่อว่าสื่อที่ดีเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตที่ดี

“แรกเริ่มเดิมที Minute VDO เป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่ผลิตวิดีโออยู่แล้ว ซึ่งพวกเราเชื่อว่าสื่อมีบทบาทและสามารถให้ความรู้แก่คนได้ วันนั้นเราจึงมานั่งคุยกันและตัดสินใจเปิดเพจ Minute VDO Thailand ขึ้น ถ้านับเวลาตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้ว” โดยจุดประสงค์ของ Minute VDO Thailand คือการสร้างพื้นที่กลางเพื่อทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการได้รับความรู้ที่มากขึ้น ชุมชนดังกล่าวจะเป็นชุมชนที่ผู้คนในสังคมสามารถมาร่วมแบ่งปันความรู้และเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันได้

เจาะประเด็นโรคซึมเศร้าในวันที่สังคมยังไม่เข้าใจ

“ช่วงแรก ไม่มีใครในทีมเชื่อนะว่าจะมีคนดู เนื่องจากเราคิดเสมอว่าคนไทยชอบดูดารา ชอบเสพดราม่า ถ้าเราจะนำเสนอวิดีโอสไตล์การ์ตูนจะเวิร์กไหม แล้วยังเป็นความรู้ด้วย จำได้เลยว่าตอนเริ่มเปิดเพจกัน เราขอร้องให้เพื่อน ให้คนรู้จักช่วยกันกดไลค์ ซึ่งมีไม่ถึง 300 คน ด้วยซ้ำที่ตามเพจเรา แต่ตอนนั้นประจวบเหมาะ เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พี่สิงห์ (ประชาธิป มุสิกพงศ์) มือกีตาร์วง Sqweez Animal ฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้า เราเสียใจมาก ขณะที่มีคนในสังคมวิจารณ์ไปหลายทางว่าในเมื่อไม่รักตัวเองก็สมควรตาย แต่ในความเป็นจริงคือเขาเป็นโรค ซึ่งก็มีคนไม่น้อยนะคะที่ไม่เชื่อว่าโรคทำให้คนฆ่าตัวตายได้ ทำให้ Minute VDO Thailand เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราต้องให้ความรู้เรื่องนี้ เพราะมีใครต่อใครหลายคนที่จากไปเพราะว่าไม่รู้แบบนี้มามากพอแล้ว”

วิดีโอแรกของ Minute VDO Thailand จึงเป็นการสื่อสารเรื่องโรคซึมเศร้าให้แก่คนทั่วไปได้รับรู้แบบรอบด้านซึ่งนั่นทำให้เพจดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากขึ้น “หลังจากวิดีโอนั้นปล่อยออกไป แม้เราจะมีคนตามเพียง 300 คน แต่เราได้ยอดวิววันแรกล้านกว่าวิว โดยที่เราไม่เคยบูสโพสต์ ที่น่าตกใจไปกว่านั้น ด้านล่างวิดีโอมีคอมเมนท์เข้ามาเยอะมาก หลายๆ คนเข้ามาระบายเพราะเขาไม่รู้ว่าจะเล่าให้ใครฟัง หรือแม้กระทั่งพ่อแม่บางคนเข้ามาบอกว่าเขาเข้าใจแล้วว่าลูกเขาเป็นอะไร ประจวบเหมาะกับที่โปสเองก็ป่วยโดยที่ไม่มีสาเหตุ ทำให้แพลนในชีวิตเรารวนไปหมด ทำงานไม่ได้ กลายเป็นคนผิดนัด เป็นคนไม่รับผิดชอบ จนเจอสาเหตุว่ามาจากการเป็นไทรอยด์ เลยทำให้ฮอร์โมนสวิงและกลายเป็น first stage of depression เพราะในร่างกายเราเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งในเคสของโปสถือว่าโชคดีที่ทุกคนเข้าใจ ทุกคนเดินเข้ามากอดทำให้เรารู้สึกไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้น ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โปสต้องมาดูแลตัวเอง ปรับตัวเองใหม่ทั้งหมดจากที่เราเคยรู้สึกแค่ว่าเราอยากให้คนเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่พอมาเป็นเอง เรารู้หมดเลยว่าความรู้สึกแย่ขนาดไหน จึงเอาโรคของตัวเองลองมาแชร์ดูและแทนตัวเองว่าเป็นโรคของแอดมินนะ ซึ่งฟีดแบ็คกลับมาดีมาก เพราะเขารู้สึกว่ามีเพื่อนที่เป็นเหมือนกัน ซึ่งแม้จะไม่รู้จักกัน แต่ทุกคนก็จะนำสิ่งที่เจอมาแบ่งปันกันว่าเขาทำแบบนี้นะถึงหาย จนกระทั่งเกิดภาพที่เราอยากเห็น ภาพที่คนไม่รู้จักกัน เข้ามาช่วยกัน หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้เป็นโรค พอได้รับรู้ก็เกิดความเข้าใจมากขึ้น เพราะว่าขึ้นชื่อคำว่าโรค แน่นอนว่าไม่มีใครอยากเป็น”

ความขาดแคลนนำไปสู่คุณค่าที่เกินคาด

เพราะผลตอบกลับที่ดีจากสาธารณชน ทำให้ทีมงานของ Minute VDO Thailand เห็นถึงสิ่งที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน “ประเทศไทยยังขาดสื่อในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ที่ถูกต้อง ถามว่ามีไหม มีค่ะ แต่ก็ยังน้อยมาก นั่นเลยกลายเป็นแรงขับดันที่ทำให้พวกเราอยากทำต่อไป โดยสิ่งที่คาดหวังก็คือการมีคอมมูนิตี้แบบนี้เพื่อช่วยให้คนเข้าใจในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ให้เขารู้สึกอุ่นใจว่ามีเพื่อน

“เราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำอยู่จะช่วยคนได้เยอะหรือน้อย
เพียงแค่มีคนคนหนึ่งที่มีกำลังใจในการอยู่ต่อเพราะเรา
แค่นั้นก็รู้สึกมีความสุขและเป็นแรงผลักดันแล้ว”

“ต้องยอมรับนะคะว่าสมัยนี้การหาคนที่รับฟังโดยแบบไม่ตัดสินนั้นยากมาก กลายเป็นว่าทุกวันนี้ วันหนึ่งมีคอมมเนต์ มีข้อความ มีโทรศัพท์เข้ามาถล่มทลาย เพราะเขาไม่รู้จะไปปรึกษาใครแล้ว เราเลยกลายเป็นทางเลือกให้เขาสามารถมาพิมพ์มาระบายก็ยังดี ซึ่งพอเราทำโดยไม่ได้มีความคาดหวัง เมื่อผลลัพธ์เกินคาดก็ทำให้เรารู้สึกว่างานของเรามีคุณค่ามากเลย”

การส่งต่อความรู้แบบไร้ข้อจำกัด

ในการทำวิดีโอแต่ละครั้ง หลังจากการคุยกันในทีมถึงประเด็นที่อยากนำเสนอแล้ว Minute VDO Thailand จึงเริ่มรีเสิร์ซ ตามหา scriptwriter โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคอยให้คำปรึกษาในเรื่องข้อมูล ซึ่งนอกจากความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าแล้ว ความรู้จากเพจดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงโรคไบโพล่า เด็กสมาธิสั้น การบีบน้ำนม การพูดกับลูก การออมเงิน การให้ความรู้เรื่องเพศ การคุมกำเนิด ไปจนถึงการสอนการท่องเที่ยวแบบไปคนเดียวด้วย

“เรื่องที่ Minute VDO Thailand นำเสนอจะมีความหลากหลายและไม่ได้จำกัดความรู้ว่าต้องเป็นโรคเท่านั้น แต่คือเรื่องอะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เราทำหมด การสูบบุหรี่ที่กระทบกับลูก หรือความเชื่อผิดๆ ที่เราเคยเข้าใจกัน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการดูแลเล็บที่หักง่าย การดูแลดวงตาที่ใช้งานหนัก บริหารอย่างไร การดูแลจมูก ปอด เราก็ทำ อย่างเรื่องเด็กสมาธิสั้นนี่พีคมาก เพราะกลายเป็นว่าโรคนี้เป็นโรคฮิตของเด็กยุคนี้ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยแท็บเล็ต บางคนเป็นหนักถึงกระทั่งว่าเรียนหนังสือไม่ได้ อยู่กับคนไม่ได้ มีช่วงหนี่งผู้ปกครองโทรมาร้องไห้เพราะไปโรงพยาบาลแล้วลูกไม่หาย เขาต้องการที่พึ่ง”

เงื่อนไขของการสื่อสารในวันที่สื่อแทรกซึมได้ทุกวัย ทุกที่ และทุกเวลา

“ยิ่งมีคนตามมากขึ้น Mood and Tone ที่ใช้ คำพูดต่างๆ เราต้องระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งพอเราบอกว่าเราอยากทำวิดีโอให้คนไทยดู คำว่า ‘คนไทย’ เราหมายถึงทุกช่วงอายุ เพราะฉะนั้นคำพูดที่เราใช้สื่อสาร ต้องสามารถใช้ได้กับคนทุกช่วงอายุ คำพูดไหนที่เป็นกลางที่สุด หัวข้อไหนที่คนอยากรู้ เรื่องเหล่านี้ดูเหมือนง่าย แต่การจะรักษา Mood and Tone ในการโต้ตอบ เราต้องคำนึงถึงมากเป็นอันดับต้นๆ เลยนะ ซึ่งเราต้องดูด้วยว่า เรากำลังนำเสนอหัวข้อไหน กลุ่มคนที่สนใจคือใคร การตอบกลับเราก็ต้องใช้คำที่เหมาะสม ขณะที่ยังต้องให้ความรู้และให้กำลังใจเขาไปในตัวด้วย อีกเรื่องคือในเพจของเรามีเนื้อหาที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเขียนคอนเทนท์ก็จะหลากหลายด้วยสำนวนการใช้ภาษาก็จะมีความเป็นตัวเขา ซึ่งเราเคารพต้นฉบับมากๆ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เมื่อเราเลือกแล้ว เราก็ต้องพยายามคงเนื้อหาเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด แม้บางสำนวนหรือคำบางคำอาจจะมีคนไม่ชอบ แต่เรายอมรับผลที่จะตามมา”

ความตั้งใจดีให้ผลที่คุ้มค่าเสมอ

“นอกจากคอมเมนท์ ยอดไลค์ ยอดแชร์แล้ว สิ่งที่ได้รับกลับมากคือการที่มีคนอ่านและคนดูเข้ามาปรึกษาแบบส่วนตัว ทั้งทางโทรศัพท์และกล่องข้อความ ซึ่งเราไม่ได้นับจำนวนนะ แต่สิ่งที่เรานับคือการที่มีคนอยากมีชีวิตอยู่เพราะเราเพิ่มขึ้น มีคนมาขอบคุณที่ทำให้เขาเข้าใจลูกเขามากขึ้น ขอบคุณที่เป็นเพื่อน ขอบคุณที่รับฟัง ซึ่งในระดับรายคนมีแบบนี้เยอะมาก ขณะเดียวกันเราได้รับการติดต่อจากองค์กรต่างๆ เพื่อจะนำวิดีโอของเราไปใช้เป็นสื่อการสอนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ไปเปิดให้คนไข้ดูระหว่างรอคุณหมอ ซึ่งการได้รับคำขอบคุณที่เราทำความรู้เหล่านี้ขึ้นมาคือการวัดผลที่ดีและคุ้มค่าที่สุด”


มองสังคมผ่านสายตา Minute VDO Thailand

หลังจากทำ Minute VDO Thailand มาได้พักใหญ่ ซึ่งสิ่งที่โปสเตอร์และทีมงานได้เห็นและรับรู้ผ่านการทำงานก็เป็นเรื่องที่น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย “เรามองเห็นจุดแข็งในสังคมไทยคือการเป็นเมืองพุทธ ผู้คนใจดี รักการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างที่เราเห็นๆ กันซึ่งหากเกิดวิกฤตใดๆ ที่นี่ ก็มั่นใจได้เลยความช่วยเหลือถึงแน่ๆ แต่ในความใจดีนั้นก็จะมีมายาคติอยู่ ในความใจดีนั้นก็ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และในความใจดีนั้นก็อาจจะไปทำร้ายคนอีกกลุ่มหนึ่งได้เช่นกัน เช่น..

“การช่วยเหลือคนพิการที่เราจะติดภาพว่าคนพิการคือความน่าสงสาร และเราต้องให้เขาฟรีนะ
แน่นอนว่าไม่มีใครคิดร้าย แต่ในความใจดีของเราอาจจะไปทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกไม่มีคุณค่า
ซึ่งถ้าเรามีความเข้าใจกันมากขึ้นก็น่าจะทำให้สังคมดีขึ้นด้วย”

“อีกข้อจำกัดจากการเป็นสังคมเมืองพุทธ เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมดีงาม และติดอยู่ในมายาคติ ทำให้เราพูดเรื่องเพศไม่ได้ การมีวิดีโอที่นำเสนอประเด็นนี้ ก็จะมีคนมองว่าเป็นการสนับสนุนให้เด็กๆ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทั้งๆ ที่ความจริง หากเรามองในโลกแบบปัจจุบันนะ เราห้ามเขาไม่ได้ ซึ่งจะดีกว่าไหมถ้าเราสอนเด็กๆ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกัน นี่คือสิ่งที่เรายังหยุดมายาคติของสังคมไทยใจดีไม่ได้”

“ต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีความย้อนแย้ง เป็นกรอบสังคมที่ดีงามมาก
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังปิดกั้นทุกอย่างจากการรับรู้
นั่นจึงกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศได้เลยนะ”

เมื่อประเด็นต้องห้ามนำไปสู่การถกเถียงและพัฒนา

“อย่างที่บอกว่าเรื่องบางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องที่คนในสังคมพูดกัน แต่เรานำเสนอเพราะอยากให้เกิดการถกเถียง ซึ่งความคิดเห็นต่างนี่แหละจะทำให้เราได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย คนในสังคมจะได้เห็นความคิดแบบที่พวกเขายังไม่เคยเจอ และนั่นจะนำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคต เช่น การนำเสนอเรื่องการกินยาคุม เพราะเราเห็นปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรที่มีแนวโน้มสูงขึ้น วิดีโอนี้เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการทานยาคุมกำเนิด ทั้งประเภทยาคุมกำเนิดแบบกินเป็นประจำ และยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ตอนแรกเราคิดกันนะคะว่าเรื่องวิธีการกินยาคุมคงไม่มีใครมาดูหรอก เราจึงใช้ชื่อเรื่องว่า ‘เผลอหลั่งในทำไงดี’ ทุกคนในทีมก็คุยกันนะคะว่า ชื่อแรงเกินไปไหม แต่ก็ได้ข้อสรุปว่าก็เพราะพวกเราไม่กล้าพูดกัน ทำไมไม่ลองพูดให้เป็นเรื่องปกติล่ะ โปสได้เห็นการเรียนการสอนในหลายๆ ประเทศที่สอนการสวมถุงยางตั้งแต่ ป.6, ม.1 ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อถึงวันหนึ่ง เราต้องรู้จักที่จะป้องกันตัวเอง แต่ถ้าเราไม่รู้จักอะไรเลยและเด็กก็ไม่กล้าแม้กระทั่งซื้อถุงยาง ซื้อยาคุม เพราะกลัวที่จะถูกมองด้วยสายตาแบบนั้น นั่นทำให้พวกเรารู้สึกว่าหากเราเปิดกว้าง อาจจะช่วยลดปัญหาท้องไม่พร้อมได้เยอะขึ้น เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดมาจากการที่เด็กๆ ไม่ได้รับความรู้เรื่องเหล่านี้และมีความอาย”

ปัญหาคือแรงขับดัน

การที่มีโอกาสได้ทำเนื้อหาเหล่านี้ทำให้ทีม Minute VDO Thailand ได้เปิดโลก ได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่นักสังคมสงเคราะห์เลยไปจนถึงกรมสุขภาพจิต ซึ่งแม้ปัญหาในสังคมไทยยังมีอยู่อย่างมหาศาลและหนทางในการแก้ปัญหาดูจะยังอีกยาวไกล แต่นั่นไม่ได้ทำให้พวกเขาท้อ แต่คือแรงขับดันชั้นดีที่ทำให้เดินหน้าต่อเพื่อเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือที่พวกเขามี

“เราได้ทราบว่ามีเคสของน้องๆ ที่มีปัญหาเยอะมาก เช่น เคสเด็กอายุ 14 มีลูก 3 คน จากสามี 3 คน ซึ่งส่วนมากปัญหามักเกิดจากการที่เด็กไม่ได้รับความรัก มีปัญหาในครอบครัว และคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์คือความรัก และการมีลูกคือสิ่งที่จะผูกมัดผู้ชายคนนั้นเอาไว้ได้ ในวันที่เด็กผู้หญิงท้อง ผู้ชายยังสามารถเรียนได้อยู่ ได้เจอสังคมใหม่ ขณะที่น้องๆ ผู้หญิงต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก สุดท้ายก็เกิดปัญหาการเลิกรา ไปฝากลูกไว้กับแม่ ผู้หญิงไม่ได้เรียนต่อ แต่ไปทำงานอยู่ในโรงงาน เมื่อเจอผู้ชายคนใหม่ก็ยังคิดแบบเดิม ซึ่งต้นตอคือการที่พวกเขาไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา พร้อมๆ ไปกับการมีปัญหาครอบครัว เอาจริงๆ คือก็ไม่ได้สนับสนุนเลยนะ แต่สำหรับเรา จะมีหรือไม่มีอะไรก็ตาม ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ที่จะได้รับความรู้เรื่องการป้องกันเพื่อให้ไม่เป็นภาระของสังคม เราสงสารเด็กที่เกิดมาและถูกทิ้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า ลองสังเกตเวลาไปสถานสงเคราะห์ ธรรมชาติของเด็กทั่วๆ ไป เมื่อเห็นคนแปลกหน้า เขาก็จะหลบหลังผู้ปกครอง แต่เด็กที่นั่นจะวิ่งเข้ามาหาเรา นั่นแหละเพราะพวกเขาขาดความรัก ซึ่งเราไม่ได้ไปหาเขาทุกวัน อีกวันหนึ่งเราหายไปและเปลี่ยนคนใหม่ พวกเขาก็ถูกกระทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน ทำให้ไม่รู้จักความรักที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร ความรักในมุมมองเขาจึงไม่ยั่งยืน และกลุ่มเด็กเหล่านี้ก็จะไปหาความรักทางกายภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ Minute VDO Thailand อยากให้ความรู้และหวังว่าจะช่วยลดจำนวนเด็กที่น่าสงสารลงได้ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่มีในสังคมด้วย”

หมุดหมายของ Minute VDO Thailand

“ระยะสั้นเราก็อยากมีคนติดตาม อยากให้มีคนยังดูวิดีโอของเราต่อไปและเข้าใจทั้งตัวของเขาเอง รวมถึงคนรอบข้างมากขึ้น เรารู้สึกว่าความเข้าใจคือพื้นฐานของการทำให้สังคมดีขึ้น เมื่อเข้าใจกันมากขึ้น เราจะตัดสินกันน้อยลง ในระยะยาวเราอยากเห็นพื้นที่ที่คนมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ซึ่งกันและกัน มีวิดีโอดีๆ มาอยู่กับเรา คือไม่จำเป็นว่าต้องเป็น Minute VDO Thailand ทำเอง แต่เราอยากเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจจะมีแพลตฟอร์มหนึ่งขึ้นมาที่ทุกคนสามารถมาปล่อยของที่ดีๆ เพื่อให้ความรู้และข้อมูลเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมดีขึ้น เราอยากเป็น Netflix ที่รวบรวมงานสร้างสรรค์ในแง่มุมต่างๆ เอาไว้”






ภาพ: Maneenoot Boonrueng, Facebook: thaiminutevideos
อ้างอิง: Facebook: thaiminutevideos

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles