‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ ปั้นเมืองโอ่งให้เป็นเมืองศิลปะ ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก

‘เมืองศิลปะ’ ใช่จะสร้างกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมืองศิลปะที่ทุกหลังคาเรือนมีส่วนร่วมได้จริง แม้พวกเขาจะไม่เคยหาคำตอบในความหมายของ ‘ศิลปะ’ เลยก็ตาม คือเมืองศิลปะที่ศิลปะไม่ได้ทำตัวเหินห่างจากชุมชนจนกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม ตรงกันข้าม ศิลปะและชุมชนกำลังละลายเป็นเนื้อเดียวกันโดยที่ชาวเมืองอาจไม่เคยรู้ตัว ‘ราชบุรี…เมืองศิลปะ‘

Q: คุณจะอยากสร้างเมืองศิลปะทำไม  ดีกรีการศึกษาจากเยอรมันก็มี  แล้วยังเป็นทายาทรุ่นที่ ของ ‘เถ้าฮงไถ่’ โรงงานโอ่งมังกรรายแรกและรายใหญ่แห่งราชบุรีอีกต่างหาก อยู่เฉยๆ ก็ได้?

A: เออ เนอะ ไปๆ มาๆ เริ่มถามตัวเองแล้วเหมือนกันนะ (วศินบุรีรำพึงออกมาในขณะที่กำลังใช้สมาธิอยู่กับงานเซราหมิกชิ้นใหม่ตรงหน้า) มันก็แค่มาจากความรู้สึกชอบและอยากให้บ้านเรามีอะไรกับเขาบ้าง เอาแค่ราชบุรีก่อนนี่ล่ะ อยากให้ศิลปะอยู่กับชุมชนจริงๆ ซึ่งศิลปะชุมชนนี่ก็ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มทำนะ มันเริ่มมาตั้งแต่ผมอยู่เยอรมันแล้วมีช่วงหนึ่งได้กลับเมืองไทย (ปี 1999) ซึ่งเราไม่มีคอนเน็กชั่นอะไรกับใครทั้งสิ้น ไม่รู้อะไรเลยทั้งนั้น คิดแค่ทื่อๆ ว่าอยากให้ศิลปะได้มาอยู่กับ ‘บ้านเรา’ กับชุมชนราชบุรี ตอนนั้นจึงไปคุยกับพิพิทธภัณฑ์ราชบุรีซึ่งสมัยนั้นเป็นตึกร้างและเขายังไม่มีแผนจะทำอะไร เข้าไปขอสถานที่ว่าจะใช้เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ กะว่าจะยืมงานของเพื่อนที่เยอรมันมาแสดง แล้วทำโปรเจ็กต์เป็น ‘โมเดินอาร์ตคอลเล็กชั่นแห่งแรกของประเทศไทย’ ซึ่งงานเพื่อนที่ขอมาก็เป็นคนดังๆ ทั้งนั้น พอทางพิพิทธภัณฑ์โอเค เราก็กลับไปคุยคอนเซ็ปต์กับเพื่อนที่โน่น จนขนของขึ้นคอนเทนเนอร์มาถึงเมืองไทยหมดแล้ว ปรากฏพิพิทธภัณฑ์บอกว่านโยบายเปลี่ยน เขาจะทำออฟฟิศ จะใช้เป็นที่แสดงของพื้นเมือง เราก็เสียใจนะ เพราะกว่าจะได้งานแต่ละชิ้นข้ามมาถึงเมืองไทยมันไม่ใช่ง่ายๆ ตอนนั้นก็ อ้าว…ทำไงดีวะกู เลยต้องเอางานทั้งหมดที่ขอเพื่อนมาไปยกให้กับหอศิลป์แห่งชาติเจ้าฟ้า เพราะเพื่อนเขาให้งานเรามาแล้ว ที่สำคัญ ‘เขาไม่ได้ให้เรานะ เขาให้เมืองเรา ให้จังหวัดราชบุรี’

จากนั้นมาเราก็ยังมีความคิดเดิมว่าหลายๆ เมืองในเยอรมันที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย แต่ทำไมเขาถึงทำพิพิทธภัณฑ์ศิลปะระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปิกัสโซหรือดาลี่ต้องบินมารับรางวัล แล้วทำไมเราจะทำในเมืองราชบุรีของเราบ้างไม่ได้!? จนกระทั่งผมกลับมาเมืองไทยจริงจังก็เลยอาสาเป็นโต้โผเวิร์คช็อปในเรื่องของเซรามิกให้กับเด็กๆ นักศึกษาไปก่อน เพราะโรงงานเราซัพพอร์ตเรื่องต่างๆ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีนักศึกษานักเรียนมาทำงาน ทำ thesis เราก็ช่วยทุกคน เพราะอย่างมากเราก็แค่เสียเวลา เสียแมททีเรียล เสียแรงงานคน ซึ่งบ้านผมเป็นระบบกงสี พ่อยังทักเลยว่า เรื่องของ know-how เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโรงงานเซรามิก แต่ทำไมผมเอาไปสอนให้คนอื่นเขาหมด ซึ่งผมว่าถ้าคนนิสัยดีก็ต้องหาทางออกในแบบของตัวเอง know-how มันเป็นเรื่องหนึ่ง การเอา know-how ที่ได้ไปสร้างงานในรูปแบบของตัวเองมันก็ไม่เห็นจะเป็นไร ผมว่าบ้านเรามีเรื่องของการก็อปปี้เยอะมาก ฉะนั้นเราต้องสร้างคน เพราะถ้าเราไม่สร้างคน บ้านเราก็จะเป็นแบบนี้ตลอดไป เราต้องสร้างให้คนมี signature มีตัวตนของตัวเอง ก็เลยเป็นที่มาของ ‘Clay Overture 75 ปีเถ้าฮงไถ่’ นั่นล่ะ ตอนนั้นก็เกรงใจระบบกงสีเหมือนกันนะที่เขาต้องมาออกเงินช่วยซัพพอร์ทสตางค์ แต่ผมบอกเขาไปว่าขอให้เงินก้อนนี้ (หนึ่งล้านบาท) เป็นส่วนแรกที่จะมาใช้หมุนเวียนเพื่อต่อยอดทางศิลปะของพวกเราต่อไป แต่ไปๆ มาๆ ค่าสติ๊กเกอร์ค่าสูจิบัตรก็หมดไปแล้วห้าแสนกว่าบาท ค่าใช้จ่ายในงานส่วนอื่นๆ อีก แต่งานนั้นขายผลงานศิลปินได้สองแสน รวมกับที่ศิลปินเองเขาบริจาคให้บ้างก็เลยมีเงินเหลือสำหรับตั้งต้นเพื่อทำโปรเจ็กต์ต่อๆ ไปประมาณสองแสนห้า ซึ่งหลังจากนิทรรศการครั้งแรกนั้น ผมก็ไม่เคยขอเงินโรงโอ่งอีกเลย

งานแรกที่จัดไปมันก็เหมือนกับเราเริ่มเข้ามาชุมชนแล้วแต่มันยังอยู่แค่ในเถ้าฮงไถ่กับคนเฉพาะกลุ่มที่สนใจดูงานเซรามิก ถ้าพูดถึงจุดเปลี่ยนแปลงที่เข้าถึงตัวชุมชนเลยจริงๆ ก็คือหอศิลป์ดีคุ้น (d Kunst)  มันเหมือนเราได้กระดึ๊บเข้าไปหาชุมชนมากขึ้น แต่ในช่วงแรกๆ ชาวบ้านก็อาจจะยังรู้สึกว่ามันแตะต้องยาก จนพอเราเริ่ม ‘งานติดศิลป์บน’ เราได้เยาวชนมาทำงานด้วยกันเพียบเลย เป็นพวกน้องๆ ในราชบุรีที่ขึ้นมานั่งกินกาแฟนี่แหละ ซึ่งการจัดหลายๆ อีเว้นท์ต่อมาก็มาจากกองเงินสองแสนห้าเดิม ถ้าเป็นงานแสดงของเยาวขน ขายได้เท่าไร เราให้เขาหมด แต่ถ้าเป็นศิลปินเราจะขอหักสามสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งโดยมากศิลปินเขาก็จะยกให้เราเองหมดเลย แต่ก็มีบ้างที่บางงานเราอาจจะได้สามหมื่นบาทจากเปอร์เซ็นต์ของการขายงานศิลปะ  แต่เอาเข้าจริงค่าอาหารวันจัดงานก็ปาเข้าไปสามหมื่นแล้ว นั่นหมายถึงเราไม่ได้อะไรเลย บวกลบเท่ากับศูนย์ ซึ่งก็ถือว่ายังโอเค กูไม่ต้องควักเองเยอะก็โอเคแล้ว เพราะไอ้การควักเนื้อมันเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้ว

Q: การนำพาศิลปะเข้าสู่วิถีชุมชนอันเรียบง่ายของราชบุรี มั่นใจได้ยังไงว่าพวกเขาจะสนใจในสิ่งที่คุณพยายามขับเคลื่อนอยู่?

A: มันต้องเริ่มไง ตราบใดที่เรามีแต่คำว่า ‘อุดมคติ’ เราจะไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรบวกหรือลบ ดีหรือไม่ดี คนไทยสนุกและรู้สึกเท่มากกับคำว่าจินตนาการ  ซึ่งสำหรับผม  จินตนาการไม่ได้มีประโยชน์ ผมเป็นคนชอบ ‘ทำลายจินตนาการ’ และผมรู้สึกว่าเราต้องสอนให้คนรู้จักการทำลายจินตนาการ ซึ่งมันก็คือการลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่สรุปเอาเองตั้งแต่ต้นว่ามันคงเป็นไปไม่ได้หรอก เราไม่ควรจบอยู่แค่ illusion, fantasy หรือ imagine เราต้องลงมือทำด้วย พอทำลงไปแล้ว ก็เท่ากับจินตนาการมันได้ถูกทำลายแล้ว

Q: จากวันแรกจนวันนี้ เสียงตอบรับของชุมชนต่อหอศิลป์ดีคุ้นเป็นยังไงบ้าง?

A: ณ วันนี้คนแถวนี้เริ่มเป็นพันธมิตรกับเรา ซึ่งมันไม่ได้ใช้เวลาแค่วันสองวัน มันคือการที่เราต้องเข้าไปอยู่ที่นั่น ทำตัวให้กลมกลืนกับชุมชน ไม่ใช่ทำตัวให้ชุมชนรู้สึกว่าเขาแตกต่าง ผมจะสอนลูกน้อง สอนเด็กๆ ในร้านตลอดว่าต้องมีสัมมาคารวะ อย่าทำตัวโดดเด่น เราต้องทำตัวกลมกลืนกับเขา ซึ่งพอเวลาผ่านไปจนวันนี้ น้าฮั้ว (เจ้าของร้านชำที่อยู่ติดกับดีคุ้น) กลายเป็นพีอาร์ชั้นดีของเรา เวลาใครมา แกจะบอกให้เลย ‘วันนี้ปิด…วันนี้เปิด…ขึ้นข้างบนต้องขึ้นทางนี้’ ซึ่งจริงๆ เขาไม่ต้องยุ่งอะไรเลยก็ได้ แต่เพราะอะไร เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเราแล้วไง ซึ่งไม่ใช่แค่น้าฮั้วคนเดียวแต่ยังมีอีกหลายคนมากๆ หรือ น้องพานา หลานตัวเล็กของร้านข้าวหมูแดงจะชอบเข้ามานั่งเล่นที่ร้านกาแฟบนหอศิลป์บ่อยๆ ซึ่งผมมองว่ามันคือจุดเริ่มต้นที่ดี การที่เด็กไม่รู้สึกแปลกกับคำว่าหอศิลป์ เขาคุ้นเคยกับมันมาตั้งแต่เล็ก พื้นที่นี้ก็จะไม่ใช่พื้นที่แปลกแยกสำหรับเขา ความคุ้นเคยเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน จนอีกหน่อยเขาจะเริ่มคิดต่อว่า เอ๊ะ…แล้วหอศิลป์ที่อื่นจะเป็นยังไง จะเหมือนบ้านเราไหม แต่ถ้าราชบุรีไม่มีหอศิลป์ ไม่มีศิลปะให้เด็กทำ วันนึงเขาจะรู้สึกไม่คุ้นเคยและไม่รู้สึกว่ามันต้องมี จริงๆ คำว่า ‘ศิลปะ’ มันไม่ได้ยากนะ ผมว่าแค่การจัดวาง การแขวนปฏิทิน มันก็เป็นการมองอย่างมีองค์ประกอบทางศิลปะได้ การแขวนกระจกอันหนึ่งว่าไว้มุมนี้สวยไหม ดีไหม ชัดไหม นี่ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดองค์ประกอบเพื่อให้ตัวเราเองชอบว่า ‘เออๆ แขวนตรงนี้สวยดีนะ’ ซึ่งสวยที่เรารู้สึกของเราก็ไม่ได้เป็นสากล ความงามไม่ได้เป็นสากล มันเป็นความชอบของปัจเจก แต่จากนั้นก็เป็นไปได้ว่าจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งอาจเห็นคล้อยตามว่า เออวะ มันสวยจริงๆ

Q: ปัญหาของการทำหอศิลป์ดีคุ้น คืออะไร?

A: ปัญหาคือกูทำคนเดียว! มันเหนื่อยนะ เพราะงานก็ไม่ได้มีแค่นี้ ต้องคิดตั้งแต่ตัวงาน คุยงาน เตรียมงาน พีอาร์งาน หาเงิน ทำมันทุกอย่างนี่ล่ะ ก็มั่วๆ งงๆ บ้างอะไรบ้าง ซึ่งถามว่าอยากยึดอำนาจอยู่ศูนย์กลางคนเดียวหรือเปล่า กูไม่ได้อยากยึด! แต่กูไม่มีคน ช่วงแรกๆ ก็มีเด็กนักศึกษามาช่วยหรอก แต่ตอนหลังเขาเอาเราไปพูดไม่ดีเสียๆ หายๆ ก็เลยเข็ดที่จะเชื่อใครแบบนี้อีกแล้ว

Q: สำหรับคุณ ‘ศิลปะกับชุมชนเมืองราชบุรีในวันนี้’ ใกล้จะเป็นเนื้อเดียวกันหรือยัง?

A: ยังหรอก มันเพิ่งเริ่มต้นด้วยซ้ำ คิดดูว่าทั้งราชบุรีมีตั้งกี่ครอบครัว แล้วจากที่เราเดินเข้าไปเคาะประตูบ้านแนะนำตัว คุยโปรเจ็กต์ปกติศิลป์ที่ผ่านมาให้เขาฟังจนมีห้าสิบครอบครัวซึ่งเข้าร่วมกับเรา มันเป็นการเดินทางที่ดูจะยังอีกไกลมากนะ แต่ก็คุยกับพวกเด็กๆ ในชุมชนว่า ไม่อยากให้ทุกงานเกิดจากความคิดของเรา เราอยากเป็นเบื้องหลัง ถ้าเด็กๆ เขาอยากทำอะไรให้เขาไปคิดแล้วเอามาคุยกัน เพราะถ้าทุกงานมาจากเราหมดก็หมายถึงปีนี้อาจจะคึกหน่อย แต่ปีหน้าอาจจะไม่มีเลยสักงานก็ได้ เพราะเราก็เหนื่อยเหมือนกัน เราถึงอยากให้ทุกคนคิดและเราจะเป็นเบื้องหลัง แต่ว่าไป มันก็ยาก เพราะขนาดเราเอง เวลาต้องเข้าไปคุยกับราชการยังยากเลย แล้วพวกเด็กๆ ที่ไม่มีแบ็คกราวด์อะไรทั้งนั้นมาก่อนเลย จะเข้าไปคุยกันท่าไหนล่ะ

Q: จาก 50 บ้านในวันนี้ คุณคาดหวังยังไงกับจำนวนครอบครัวที่จะมาเข้าร่วมโครงการศิลปะในโอกาสต่อๆ ไป?

A: ค่อยๆ เพิ่มทีละบ้านก็ดีนะ ได้เพิ่มมาสักปีละบ้านก็ถือว่ากำไรแล้ว คล้ายๆ คนทำงานศิลปะแหละ ขายได้ก็ถือว่าเป็นกำไร ถ้าขายไม่ได้ อย่างน้อยเราก็ได้ทำงานของเราให้เห็นสำเร็จออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว บางคนอาจะบอก ใช่สิ ก็มึงมีโรงงานหนิ มึงก็ไม่ต้องคิดมากสิ อ้าว…แล้วไง? ก็กูเป็นอย่างนี้ และโรงงานมันก็มีของมันอยู่แล้ว จะให้ทำไง? ซึ่งในเมื่อมีโรงงานแล้วทำไมกูจะใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดความสุขตามที่ต้องการไม่ได้ล่ะ ในชีวิตประจำวันของคนคนหนึ่ง มีอะไรตั้งเยอะแยะที่เราไม่อยากทำแต่จำเป็นต้องทำ งั้นแล้วทำไมสิ่งที่เราต้องการ เราจะไม่ทำล่ะ

Q: “เขาก็ทำได้สิ เขามีตังค์ เขาคือเถ้าฮงไถ่ … คุณคิดอย่างไรกับประโยคนี้?

A: (ถอนหายใจ…เฮือก) จริงๆ เคยโมโหอาจารย์อยู่คนนึงนะ แกพูดว่าก็เถ้าฮงไถ่นี่หว่า จะทำอะไรก็ได้ เราก็อยากถามกลับไปเหมือนว่า แล้วกูต้องทำเหรอ? กูไม่ต้องทำก็ได้! เฮ้อ!! (ถอนอีกเฮือก)…ทำไมไม่ดูที่เจตนาของการกระทำ แทนที่จะมาช่วยคิดกันสร้างแต่กลับนั่งคิดกันแบบนั้น อย่างทุกวันนี้ ถามว่าคาดหวังเลยไหมว่าคนจะต้องมาชอบศิลปะในทันที ผมไม่เคยคิดนะ ทุกอย่างเราต้องทดลอง ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ แต่ผมอยากรู้ผมก็เลยต้องทำ อย่างหอศิลป์เราก็ไม่ได้มานั่งเร่งเวลาแต่เป็นการทำไปเรื่อยๆ มีเวลาก็ทำ มีตังค์ตอนไหนกูก็ทำ และส่วนของร้านกาแฟ จริงๆ แล้วมันเป็นแค่ตัวเชื่อม เพราะทำหอศิลป์อย่างเดียวคนไม่เข้าหรอก ซึ่งพอมีร้านกาแฟ คนที่เข้ามาดื่มกาแฟเขาก็ได้เสพในส่วนของหอศิลป์เป็นของแถมกลับไปนิดๆ หน่อยๆ ‘ศิลปะอาจจะเป็นของแถมในวันนี้ แต่มันอาจเป็นเมนหลักของเขาในวันหน้าก็ได้’ เพราะเอาเข้าจริง เราพูดกันว่า ‘คนไทยไม่สนใจศิลปะ’ แต่เคยคิดไหมว่า ‘หรือแท้ที่จริงแล้วศิลปินต่างหากที่ไม่สนใจคนทั่วไป?’ ศิลปินมักจะทำงานตอบสนองแต่ need ตัวเอง หรือเราต่างหากที่ทำตัวเหินห่างจากคนทั่วไป? ศิลปะของผมที่ทำๆ อยู่เลยทำให้มันง่ายจนเคยมีคนรู้จักทักงานของเถ้าฮงไถ่ว่าทำไมเชย ผมก็เออ ไม่สนใจ เชยก็เชย ผมอยากทำ ผมทำ ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องทำงานเพื่อตอบสนองกลุ่มดีไซน์เนอร์หัวสูงหรืออะไร เราแค่ทำงานเพราะเราสนุกและเราอยากเห็นมันออกมาเป็นรูปธรรม ก็แค่นั้น

…จบการสัมภาษณ์…วศินบุรีมองหน้าเราและถามว่า “เฮ้ย… นี่กดเทปสัมภาษณ์ไปแล้วเหรอ”…เรายิ้มพร้อมพยักหน้า และบอกเขาว่า “ไม่ได้มาสัมภาษณ์ ที่มาเนี่ยเพราะอยากได้ตัวตน“ ฟังเสร็จ เขาไม่สนใจอะไรมากไปกว่าพูดลอยๆ ขึ้นมาว่า “เออ เว้ย” จากนั้นก็ก้มระบายสีลงเซรามิกที่รอเข้าเตาเผาต่อไป

คุณได้อะไรจากบทสัมภาษณ์นี้ไหม? เราได้ตัวตนของเขา

บันทึก

Pattrica Lipatapanlop

พัทริกา ลิปตพัลลภ (แพท) ทำงานอยู่ที่กองบก.นิตยสารเล่มหนึ่งแต่เธอไม่เคยเรียกตัวเองว่า ‘นักเขียน’ เธอเป็นแค่ ‘คนเล่าเรื่อง’ ที่สนุกกับการเดินทางลำบากเพราะไปสบายทีไรไม่เคยมีอะไรให้เขียน ดวงของเธอสมพงษ์มากกับกลุ่มคนทำงานศิลปะที่เธอเรียกว่า ‘ARTDERGROUND’ ซึ่งอาร์ตเด้อกราวด์คือพวก ‘คนมีของ’ ทำงานศิลปะจากเนื้อแท้ไม่ดัจริตเป็นอาหารจานเดียวในโลก เป็น ‘ของจริง’ ที่รอให้ใครสักคนไปขุดเจอซึ่งเธอดันชอบถือจอบด้วยสิ

See all articles

Next Read