ปัจจุบันปัญหาเรื่องการจัดการขยะถือเป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลกที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพราะปริมาณขยะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการจัดการขยะที่ถูกต้องและกระบวนการนำกลับมาใช้ประโยชน์ กลับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งถ้ามองกันจริงๆ ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาก็ไม่ใช่ใครที่ไหนหรอก ก็พวกเรานี่แหละ ง่ายๆ ก็ลองไปดูในถังขยะที่บ้านซิว่ามีอะไรอยู่ในนั้นบ้าง รับรองว่าหลายสิ่งอันไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก อาหาร ทิชชู และอื่นๆ นั้นอยู่รวมกันหมดในถังเดียว ไม่มีการแยกประเภทของขยะแต่อย่างใด!!
การที่ไม่มีการแยกขยะนี้เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญของปัญหาการจัดการขยะ แม้ว่าในบ้านเราจะมีการรณรงค์และให้ความรู้ในเรื่องการแยกขยะ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับในย่าน Amsterdam-Noord (ตอนเหนือของอัมสเตอร์ดัม) ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่การจัดการด้านขยะยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เป็นเหตุให้โปรเจ็กต์ WASTED ถือกำเนิดขึ้นโดยองค์กร CITIES Foundation ร่วมมือกับ Municipality of Amsterdam และ Nedvang เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนในชุมชนหันมาสนใจการแยกขยะในครัวเรือนมากขึ้น โดยการนำเสนอรางวัลให้เป็นสิ่งตอบแทน ผู้ที่สนใจเพียงลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.wastelab.nl และติดตั้งแอพฯ สแกน QR code บนสมาร์ทโฟน จากนั้นทีมงาน WASTED ก็จะส่งถุงขยะไปให้เพื่อใช้แยกขยะประเภทต่างๆ อาทิ แก้ว, กระดาษ, ผ้า และพลาสติก เมื่อถุงขยะเต็มผู้ใช้ก็เพียงนำไปทิ้งที่ถังขยะที่มีสติ้กเกอร์ WASTED พร้อม QR code ติดอยู่ ซึ่งก่อนทิ้ง ผู้ใช้ต้องสแกน QR code นี้พร้อมกับถ่ายรูปถุงขยะที่จะทิ้งแล้วอัพโหลดรูปขึ้นบนเว็บ เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็โยนขยะลงถังได้เลย เพียงเท่านี้ระบบก็จะโอนเงิน (เหรียญดิจิตอล) เข้าบัญชีผู้ใช้ทันที โดยเหรียญดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดหรือนำไปแลกเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากร้านต่างๆ ในชุมชนได้ เช่นใช้ 1 เหรียญแลกรับกาแฟฟรี 1 แก้ว หรือใช้ 4 เหรียญเพื่อรับส่วนลด 20% ในการซื้อสินค้าจากร้านที่เข้าร่วมแคมเปญ เป็นต้น
นับว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่สร้างแรงจูงใจให้คนมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เพราะไม่เพียงช่วยอำนวยความสะดวกในการแยกขยะในครัวเรือน ยังช่วยให้เศรษฐกิจร้านค้าต่างๆในชุมชนกระเตื้องขึ้นอีกด้วยและที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะได้เป็นอย่างดี โดย WASTED มีแผนที่จะขยายไปเมืองอื่นๆ เพื่อต่อยอดเป้าหมายด้านขยะต่อไปไปในอนาคตด้วย
อ้างอิง: Wastedlab.nl, Popupcity.net