ความคืบหน้าโปรเจ็กต์ภาพถ่าย ‘What I Be’ สร้างความเข้าใจในความต่างของเพื่อนมนุษย์

หลายครั้งที่ผลงานของศิลปินกระตุ้นสังคมแค่ครั้งเดียวสร้างความตื่นตัวแล้วก็จางหายไป แต่ก็มีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่มีความต่อเนื่องและแผ่กระจายออกไปในวงกว้าง นั่นก็เพราะแนวคิดในการสร้างงานนั้นเป็นอะไรที่ตอบรับกับปัญหาที่มีอยู่จริงทางสังคม ‘What I be’ เป็นอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่ยังคงขับเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญโดยช่างภาพ Steve Rosenfield นำเสนอแนวคิดบนภาพถ่ายแนวพอร์ตเทรตที่มีตัวหนังสือสั้นๆ บอกถึงตัวตนของเจ้าของภาพที่ต้องการสื่อสารต่อสังคมว่าฉันไม่ใช่เป็นสิ่งที่คุณคิด เป็นเสมือนภาพสะท้อนการประกาศตัวตนของปัจเจกชนที่ทรงพลังตอกย้ำมุมมองอันคับแคบของสังคมที่มองอะไรเพียงด้านเดียว พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องความเข้าใจและเป็นคนอย่างเท่าเทียม

เราเคยพูดถึงโปรเจ็กต์นี้ไปครั้งหนึ่งแล้วใน ‘What I be‘ รวมพลคนกล้าเผยจุดอ่อนภายในผ่านภาพถ่าย ซึ่งก็คราวนี้เรามาตามดูความเคลื่อนไหวของพวกเขากัน แน่นอนว่าการจะเปลี่ยนมุมมองทางสังคมที่ปิดกั้นตายตัวคงไม่อาจทำได้ในเวลาสั้น และจะว่าไปแล้ว การเผยแพร่แนวคิดที่นอกกรอบผิดจากมุมมองมาตรฐานทางสังคมเหล่านี้จำเป็นต้องนำเสนอบ่อยๆ จากมุมเล็กๆ แผ่กระจายออกไป ซึ่งวิธีการนี้เองที่มีพลังเหมือนกับกองทัพมดที่ยกกิ่งไม้ พลังจากคนตัวเล็กๆ ที่ประกาศธาตุแท้ของตัวเองไปพร้อมๆ กับการกระชากหน้ากากจอมปลอมที่สังคมพยายามยัดเยียดให้สวมใส่ และยิ่งเห็นคนที่ทำอะไรแบบเดียวกับเราก็ยิ่งเป็นการเติมพลังใจให้แก่กันด้วย เพราะมนุษย์นี้คือความเหมือนที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง หลังจากเผยแพร่โปรเจ็กต์ไปผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งในโลกออนไลน์เมื่อหลายปีก่อน มาปี 2018 นี้มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการมากมายโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาตามรั้วมหาวิทยาลัยทั้งจากซานดิเอโก, มหาวิทยาลัยดุ๊ก, มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ฯลฯ ต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลและความมีอยู่ในฐานะเพื่อนมนุษย์

ในทางกลับกันสำหรับคนสร้างสรรค์ผลงานก็ต้องการเสียงตอบรับที่คอยโอบอุ้มเสริมสร้างกำลังใจให้ผลักดันงานต่อไปด้วยเช่นกัน ทุกคนไม่ควรถูกตัดสินด้วยการมองเห็นเพียงรูปกายภายนอก หลายภาพที่นำเสนออาจทำให้คิดไม่ถึงว่าแม้เพียงเรื่องน้อยนิดก็กลายเป็นการตัดสินคนอื่นอย่างผิดๆ ได้ พื้นที่ส่วนตัวของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกันเช่น การคิดว่าเขากำลังป่วยด้วยโรคร้าย รูปร่างไม่ดี อ้วนหรือผอมเกินไป หรือมองว่าเขากำลังเครียดและวิตกกังวล ก็เกินพอที่จะรบกวนพื้นที่ส่วนตัวของชีวิตคนอื่นแล้ว นับประสาอะไรกับคนที่มีรูปร่าง ผิวพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนาที่แตกต่าง และด้วยการเลิกตัดสินคนอื่นผ่านรูปกายภายนอกนี่เองที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีให้แก่เพื่อนมนุษย์

อ้างอิง: whatibeproject.comFacebook: Steve Rosenfield Photography

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles