What’s Up With Everyone? จิตตกไม่ใช่เรื่องแปลก…เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นทุกคน

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด–19 มีรายงานพบว่าวัยรุ่นหนุ่มสาว 2 ใน 3 มีอาการสุขภาพจิตแย่ลงในช่วงที่มีการล็อคดาวน์ เพราะต้องเผชิญกับความความรู้สึกโดดเดี่ยว ห่างเพื่อน จิตใจยิ่งหมกมุ่นกับความกลัว ความว้าเหว่ กระวนกระวาย และความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต ในหลายๆ เรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องทั่วไปก็กลับเกิดความรู้สึกสับสน จิตตก จนเกิดคำถามกับตัวเองว่า “เกิดอะไรขึ้นกับฉัน?”

สภาวิจัยศิลปะและมนุษยศาสตร์ (AHRC) แห่งสหราชอาณาจักร ออกแอนิเมชันชุด What’s Up With Everyone? มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพจิตของเยาวชนอายุ 17-24 ปี สร้างสรรค์โดยเอเยนซี่โฆษณา ilk ร่วมมือกับสตูดิโอแอนิเมชัน Aardman ชื่อดังที่มีผลงานคุณภาพ เช่น Gromit, Shaun the Sheep และ Wallace ประกอบด้วยภาพยนตร์แอนิเมชัน 5 เรื่องกับเรื่องราวของตัวละคร 5 ตัว โดยแต่ละเรื่องมีประเด็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดและเป็นประเด็นที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ซึ่ง 5 ประเด็นดังกล่าวประกอบไปด้วย Perfectionism – ความสมบูรณ์แบบ, Loneliness & Isolation – ความรู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก, Social Media – โซเชียลมีเดีย, Independence – การพึ่งพาตัวเอง และ Competitiveness – การแข่งขันกับผู้อื่น

โดยแอนิเมชันทั้ง 5 เรื่องแสดงให้เห็นประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งในความรู้สึกของวัยรุ่น ด้วยเรื่องราวง่ายๆในชีวิตประจำวันที่สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นทุกคน

Perfectionism  ความสมบูรณ์แบบ เรื่องราวของชาลีกับความอับอายที่ได้เกรดไม่ดี แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เห็นว่ามันเป็นความผิดพลาด แต่ชาลีก็ติดอยู่ในกับดักของการวิจารณ์ตัวเองตลอดเวลาว่า “ฉันดีพอหรือยัง” ชาลีไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนี้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้าใจว่าการไล่ตามมาตรฐานที่ไม่เป็นจริงอาจทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลง

Loneliness & Isolation เมิร์ฟ กับ “ความเหงาและความรู้สึกโดดเดี่ยว” ถึงแม้จะอยู่กับเพื่อนๆ เขาก็ยังรู้สึกเขินอายและไม่มีอะไรน่าสนใจที่จะพูดคุย เมิร์ฟมีความรู้สึกสับสนระหว่างความอยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มกับการหลบซ่อนตัว ด้วยขั้นตอนง่ายๆ ที่แนะนำ เมิร์ฟก็หาทางเชื่อมต่อกับคนรอบข้างได้อีกครั้ง

Social Media อเล็กซ์ที่ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนในโซเชียลมีเดีย การหวังให้คน “กดไลก์” ทำให้เธอหยุดตรวจสอบฟีดและการแจ้งเตือนไม่ได้ แม้จะรู้ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพจิตก็ตาม! ตอนนี้อเล็กซ์รู้สึกว่า เธอแค่ไถฟีดไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีความว่างเปล่าและรู้สึกไม่มีความสุขจริงๆ ที่ทำมัน อเล็กซ์ต้องจัดการควบคุมโซเชียลมีเดียไม่ใช่ให้โซเชียลมีเดียมาควบคุมตัวเอง

Independence แอชลี่ย์ผู้ต้องการความเป็นอิสระ ไม่พึ่งพาพ่อแม่และครอบครัวอีกต่อไป แต่มันอาจมาพร้อมกับความท้าทายที่คาดไม่ถึง แค่การซื้อหลอดไฟก็รู้สึกเป็นเรื่องน่าหนักใจและยากที่จะรับมือ เธอคิดว่าคนอื่นดูเหมือนจะจัดการได้โอเค แต่ไม่สำหรับเธอ เธอเริ่มสับสน เพียงแค่ตั้งสติสักนิด และให้เข้าใจว่าเธอยังสามารถพูดคุยปรึกษากับเพื่อนหรือครอบครัวได้

Competitveness ไทผู้ชอบการแข่งขัน ไม่ว่าจะทำอะไร ฉันต้องดีที่สุด ฉันต้องชนะ! แต่นั่นอาจเป็นการบั่นทอนและอาจทำให้ความนับถือตนเองลดลง! ไทเริ่มคิดว่ามันส่งผลต่อมิตรภาพ ความสุขและความสนุกสนานในชีวิตแล้ว ทางออกคือ ขอให้รู้เป้าหมายของตัวเองว่าเราทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร  ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร

เนื้อหาของทั้งห้าเรื่อง ทั้งโดนและเข้าถึงแก่นความรู้สึกของวัยรุ่นได้ดี วิธีการนำเสนอแบบแอนิเมชันยังทำให้เนื้อหาเข้าถึงและเข้าใจง่าย ไม่รู้สึกเครียด What’s Up With Everyone? ทั้ง 5 เรื่องยังถูกกระจายไปตามแพลตฟอร์มยอดนิยมของวัยรุ่น ทั้ง TikTok, Instagram, Facebook, Twitter และ YouTube ในทุกๆ เรื่องยังเชิญชวนให้วัยรุ่นเยี่ยมชมเว็บไซต์ What’s Up With Everyone? เพื่อรู้จักกับปัญหาทุกประเด็นให้มากขึ้น ซึ่งทั้งห้าประเด็นยังมีรายละเอียดหนทางแก้ปัญหาวิธีอื่นๆ ที่วัยรุ่นนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก เช่น การพูดคุยกับเพื่อน การเขียนบันทึก การพบที่ปรึกษา เป็นต้น

หันมามองวัยรุ่นไทยในช่วงโควิดก็คงประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ต่างจากวัยรุ่นประเทศอื่น น่าจะมีแคมเปญดีๆ ที่สื่อสารกับวัยรุ่นได้ดีแบบนี้ด้วยก็คงจะดีไม่น้อย

อ้างอิง: What’s Up With Everyone, Creative Boom

Tags

Tags: ,

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles