Zero Waste Daniel แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้ารักษ์โลกสุดเท่กับแนวคิดขยะเหลือศูนย์

แม้ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาและยุโรปต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่มูลค่าการค้าขายสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังคงสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ในทางคู่ขนาน มลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่นก็สูงอย่างน่าตกใจ เพราะแค่ในอเมริกาประเทศเดียว ขยะที่เกิดขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 70 ปอนด์ต่อประชาชนชาวอเมริกัน 1 คน ต่อปี นั่นหมายถึงจำนวนขยะที่พุ่งสูงถึง 21,000 ล้านปอนด์ต่อปีเลยทีเดียว

Daniel Silverstein คือหนึ่งในแฟชั่นดีไซเนอร์ในนิวยอร์กที่เห็นถึงปัญหาดังกล่าว และเริ่มพัฒนางานออกแบบของเขากับ Zero Waste Daniel หรือ ZWD ขึ้นในปี 2016 โดยมีเป้าหมายหลักคือการเข้าไปจัดการกับกองขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยหลักการของเสียเหลือศูนย์หรือ Zero Waste เพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันมีผลโดยตรงต่อการลดปริมาณขยะ รวมถึงลดปัญหามลพิษระหว่างกระบวนการทำงานและกำจัดของเสียด้วย

หากคุณมีโอกาสได้เข้าไปในสตูดิโอของ Daniel คุณจะไม่มีทางได้เห็นขยะแม้เพียงสักชิ้น เพราะเขาและทีมงานเลือกเทคนิคในการทำแพทเทิร์นให้เหลือเศษผ้าน้อยที่สุด เป็นต้นว่าการนำวัสดุที่เหลือมาประกอบขึ้นใหม่ด้วยเทคนิค appliqués ที่จะนำเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาเย็บบนแบ็คกราวน์ผ้าที่ต้องการ ตกแต่งประดับประดาจนเกิดเป็นเสื้อผ้าในรูปโฉมใหม่แบบ ready wear “บางเทคนิค มันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะมีเศษผ้าหลงเหลือ แต่เราไม่เคยทิ้งมัน เราจะวัสดุเหล่านี้ไปใช้ในโปรเจ็กต์อื่นๆ หรือเอาเศษผ้ามาทำเป็นพรมใช้กันเองในสตูดิโอ รวมถึงส่งต่อไปให้ดีไซเนอร์คนอื่นๆ ที่เขาสามารถใช้งานมันได้ด้วย” ไม่เพียงเท่านี้ Daniel ยังเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลในการขนส่ง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเป็นข้าวของเครื่องใช้ในสตูดิโอเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานแบบ Zero Waste ที่ครบวงจร “เราพยายามกำจัดขยะทุกที่และทุกเวลาที่ทำได้ เราค่อยๆ ปรับปรุงวิธีการทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทีละน้อย”

นอกจากการออกแบบไลน์ ZWD ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้ว Daniel ยังพาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการเป็น fashion critics และผู้บรรยายรับเชิญในงานเลคเชอร์และเวิร์คช็อปเพื่อให้คำแนะนำด้านแฟชั่นกับการออกแบบแบบ zero waste การสนใจในประเด็นด้านสังคมอย่างการแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในการทำงานของตัวเองมาผลิตคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าเพื่อช่วยระดมทุนให้กับโครงการ Dress for Success และองค์กรป้องการการความรุนแรงในเด็กและสตรีอย่าง Jersey Battered Women’s Service Inc. ตลอดจนนำวิถีแบบ Zero Waste มาใช้กับการดำเนินชีวิตตั้งแต่การใช้ tote bag ที่มาจากกระบวนการรียูส การใช้ช้อนส้อมจากไม้ไผ่และหลอดโลหะที่ล้างแล้วใช้ได้ใหม่ แก้วกาแฟรีไซเคิล แปรงสีฝันไม้ไผ่

จนถึงตอนนี้ ZWD ก้าวสู่ปีที่สองแล้ว และแม้จะเพิ่งเริ่มต้นได้เพียงปีกว่าๆ แต่ Daniel และทีมงานของเขาอีกสามชีวิต (Emelie Bergh, Mia Lopes และ Julia Valencikova) ก็ช่วยลดจำนวนเศษผ้าที่จะกลายสภาพเป็นขยะให้กับมหานครนิวยอร์กไปแล้วหลายตัน การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนรู้ที่เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ อาจจะดูไม่ใหญ่โต หวือหวา หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แบบฉับพลันทันด่วน แต่สิ่งที่พวกเขาร่วมกันคิด ออกแบบ ทดลอง ปรับปรุง และพัฒนา ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่นอกจากจะตอบโจทย์ด้านสร้างสรรค์แล้ว ความคิดเชิงบวกแบบนี้ยังขยายไปสู่สังคมแบบไม่ยัดเยียด แต่เป็นการซึมซับให้คนอื่นๆ เห็นคุณค่าได้แบบยั่งยืนผ่านข้าวของในชีวิตประจำวัน

















สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles