Cofact แพลตฟอร์มเช็ค ‘ข่าวลวง’ เพิ่มความชัวร์ก่อนแชร์ ช่วยคนไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อข่าวลวงทุกรูปแบบ

หลายคนคงเคยสงสัยว่าข่าวหรือข้อมูลที่เราได้รับนั้น “ชัวร์หรือมั่วนิ่ม” เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวสารนั้นมาจากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นทางเฟสบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ แถมในพื้นที่เหล่านี้เรายังสามารถเป็นผู้นำเสนอข่าว แชร์ข้อมูลต่างๆ ได้เองอีกต่างหาก ทำให้ข่าวสารแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหารู้ไม่ว่าบางครั้งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นเป็น “ข่าวลวง” (Fake News) ที่สร้างความสับสน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และหากคนในสังคมไม่รู้เท่าทัน ก็อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ

Cofact.org (Collaborative Fact Checking) จึงถือกำเนิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.), Center for Humanitarian Dialogue (HD), มูลนิธิ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ChangeFusion, Wisesight, Open Dream, สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรวิชาชีพสื่อ Cofact.org เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบเรื่องที่น่าสงสัย ข่าวลวง ข่าวลือ หรือความเชื่อต่างๆ ให้กระจ่างชัด ด้วยการร่วมกัน post และ comment ให้ความคิดเห็น ให้แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ แบ่งปันความรู้ประสบการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Cofact.org เพื่อช่วยให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงทุกรูปแบบ

โคแฟคจะมีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครในการกรองข่าว มีพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความเห็น อีกทั้งมี Chatbot หรือโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติที่เปิดให้ทุกคนมาส่งข่าวเพื่อให้ทีมกลั่นกรองได้ มีการพัฒนางานข่าวเชิงลึก นำเสนอบทความที่น่าสนใจอันสืบเนื่องจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแส จากนั้นก็จะมีทีมเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนด้วย อีกทั้งการใช้ก็งานง่ายเพียงเข้าสู่ระบบแล้วพิมพ์ข้อมูลคำที่ต้องการตรวจสอบหรือค้นหาได้เลย  หากมีฐานข้อมูลเรื่องดังกล่าวก็จะปรากฏข้อความให้ทราบว่ามีคนตรวจสอบและสืบค้นแล้วหรือไม่อย่างไร โดยแรงบันดาลใจของโคแฟคนี้ได้มาจากกรณีศึกษาโครงการ Cofact ในไต้หวันที่เชื่อเรื่องพลังของภาคพลเมืองในการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร โดยใช้เทคโนโลยีออนไลน์สร้างพื้นที่กลางเพื่อให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง คัดกรองและตรวจสอบข่าวลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อคนหันมาจับมือช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการตรวจสอบข่าวสารโดยภาคประชาชน ทุกคนจะกลายเป็นคนตรวจสอบข่าว หรือ Fact Checker และสร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ดังนั้น หากเราพบข้อมูลที่น่าสงสัย อย่าเพิ่งแชร์ต่อ เราขอชวนท่านนำมาตรวจสอบร่วมกันที่ Cofact.org กันก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวลวงนะจ๊ะ

อ้างอิง: Cofact.or

Nungruethai Katuszkewski

แป้ง อดีตเคยทำงานด้าน Marketing และ Buyer แต่ด้วยใจที่รักการเขียนและชอบศึกษาภาษาต่างประเทศ บวกกับการชอบเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระให้กับนิตยสารและบริษัทต่างๆ

See all articles

Next Read