การขับเคลื่อนสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหา อาจฟังดูเป็นเรื่องซีเรียสและน่าหนักใจ แต่ความจริงมันเป็นเรื่องที่สนุกและสุนทรีได้ไปพร้อมกัน ดังเช่นงานออกแบบสุดสร้างสรรค์ทั้ง 6 โปรเจ็กต์นี้ที่ชวนให้ว้าวและประทับใจ และยังเป็นข้อพิสูจน์ให้เราเห็นด้วยว่า ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ตามแนวทางและความถนัดของตัวเอง
โปรเจ็กต์ป้ายบอกทางสุดสร้างสรรค์ในปารีสที่ใช้ชื่อว่า ‘Mens Sana In Corpore Sano’ มาจากภาษาลาตินแปลว่า “จิตแจ่มใสย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง” เป็นผลงานของสองสถาปนิกชาวฝรั่งเศส Nicolas Lelievre และ Florian Brillet ที่แปลงโฉมป้ายบอกทางในกรุงปารีสให้กลายเป็นจุดออกกำลังกาย 10 จุด ที่นอกจากช่วยปลุกพลังให้ชาวเมืองมาออกกำลังกายแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อันแสนวุ่นวายได้เงยหน้าขึ้นมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งรอบตัว
กลับมาเดินกันที่เมืองไทย กับปรากฏการณ์ ‘ชิบูย่าอุดรธานี’ ที่ ‘แยกทองใหญ่’ ตรงสี่แยกหน้าสถานีรถไฟอุดรธานี ภายใต้โครงการ ‘อุดรธานี เมืองเดินได้ เดินดี’ ที่มีการเพนท์ทางม้าลายสีเหลืองขนาดใหญ่พาดแยกไว้ เพื่อทดลองให้ชาวเมืองเดินข้ามเป็นเวลา 1 วัน ภายใต้หลักการออกแบบของ Complete Street และ LEED-ND ที่ให้ความสำคัญกับคนเดินถนน แบบเดียวกับที่หลายเมืองทั่วโลกใช้สร้าง Walkable City จนกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
อ่านต่อ: https://wordpress-1299448-4724881.cloudwaysapps.com/udon-walkable-city
ผลงานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ผสานเสียงนกใกล้สูญพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์
Robin Perkins นักดนตรีและเจ้าของค่ายเพลงผู้ที่สนใจปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตัวยง โดยเฉพาะเรื่องของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เขาทำโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ‘A Guide to the Birdsong of Mexico, Central America and the Caribbean และ A Guide to the Birdsong of South America’ โดยชวนกลุ่มนักดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์จากเม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และกลุ่มแคริบเบียน มาร่วมกันสร้างสรรค์บทเพลง โดยมีโจทย์ว่าต้องใส่เสียงนกในท้องถิ่นที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ลงไปในเพลงของแต่ละคนด้วย เป็นอัลบั้มที่เป้าหมายให้คนหันมาสนใจเสียงจากธรรมชาติและตระหนักถึงปัญหานกสูญพันธุ์ และเงินรายได้ทั้งหมดนำไปสนับสนุนโครงการอนุรัก์นกอีกหลายโครงการ เรียกได้ว่าอิ่มหูอิ่มใจกันทั้งศิลปินและคนฟัง
หันมาทบทวนปัญหาเรื่องอคติทางเพศกันสักนิด กับแคมเปญ ‘Petition C190’ ในประเทศเยอรมนีที่ใช้ป้ายโฆษณาดิจิทัลมาเป็นสื่อหลักในการเรียกร้องกฎหมายป้องกันการกีดกันทางเพศและล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน โดยทีมออกแบบเลือกใช้ตัวอักษรสีดำบนพื้นขาวที่ดูเรียบง่ายแต่แสดงคำพูดเหยียดเพศที่ผู้หญิงมักเจอเป็นประจำ จากนั้นลายเซ็นดิจิทัลจะค่อยๆ ปรากฎขึ้นมาทีละอัน และทับลงไปบนคำพูดเหล่านั้นจนสุดท้ายก็มองไม่เห็น เป็นการชวนให้เราฉุกคิดว่าเสียงของทุกคนมีค่าและเมื่อรวมกันก็ยิ่งมีความหมาย มาร่วมด้วยช่วยแก้ปัญหานี้ไปด้วยกัน!
อ่านต่อ: https://wordpress-1299448-4724881.cloudwaysapps.com/petition-c190