‘นฤเบศ กูโน’ ผู้กำกับท่ายาก จากซีรีย์ Side by Side พี่น้องลูกขนไก่

ซีรีย์ ‘Side by Side พี่น้องลูกขนไก่’ จบไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือผลจากละครสำหรับครอบครัวเรื่องนี้ได้ช่วยเปิดตาเปิดโลกให้กับคนจำนวนมากได้เข้าใจในเรื่องของ ‘ออทิสติก’ อย่างถูกต้องมากขึ้น การจับปากกาเขียนบทหนังบทละครไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะสร้างเรื่องราวและสื่อสารออกมาอย่างไรให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นกับสังคมหรือกับโลกได้จริง ไม่ใช่เรื่องง่าย บ่ายวันหนึ่งเรามีนัดกับ บอส – นฤเบศ กูโน ผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงวัย 25 ปี เกือบ 40 นาทีที่เรานั่งคุยกับเขา เราเห็นทั้งน้ำตาที่คลอออกมาเบาๆ ทั้งรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของผู้กำกับวัยใสที่นั่งอยู่ตรงหน้า

เราอยากให้คุณอ่านจนจบ เพราะชื่อเถอะว่าหลังจบบรรทัดสุดท้าย คุณจะเกิดความสงสัยในบางอย่างและย้อนกลับมาถามตัวเอง

Q: คำถามแรกเป็นคำถามยอดฮิตที่เราจะไม่ถามก็คงไม่ได้ เพราะหลายคนเองก็อาจไม่เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของบอสจากสื่อช่องทางอื่นๆ มาก่อน  อะไรทำให้บอสสนใจในประเด็นของออทิสติก

A: มันเริ่มมาจากเป็นแค่ซีรีย์กีฬาแบดมินตันก่อนครับ ยังไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับออทิสติกเลย เราได้นักแสดงคือ ต่อ (ธนภพ ลีรัตนขจร) กับสกาย (วงศ์รวี นทีธร) มาอยู่ในมือ ซึ่งเราอยากเห็นสองคนนี้เล่นหนังด้วยกันมาก พอได้สองคนนี้มาโดยโจทย์ของเราคืออยากทำเรื่องราวแบดมินตันที่เป็นซีรีย์ครอบครัว แต่คราวนี้เราจะเล่าแบบไหนให้ดูใหม่กับสังคมละ เราก็พยายามหาวิธีการทั้งที่เหมาะกับครอบครัวและเหมาะกับต่อซึ่งเคยเล่นแต่บทหล่อบทเท่มาแล้วทั้งนั้น คำถามคือครอบครัวแบบไหนที่จะฉีกออกไปและเป็นการให้ความรู้คนดูได้ด้วย จนไปค้นเจอว่าออทิสติกคือกลุ่มของผู้พัฒนาการช้า เราก็เริ่มมีประกายขึ้นมาว่าถ้าเอาต่อมาเล่นเป็นเด็กคงจะน่าสนใจมาก แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้อินกับออทิสติกนะครับ กระทั่งพอหาข้อมูลเรื่องนี้มากๆ เข้าก็กลายเป็นว่าเราอินหนักมาก ค้นไปค้นมา พบว่า อ้าว! น้องชายเราเองก็เป็นออทิสติกโดยที่เราไม่เคยรู้มาก่อน  บอสโตมากับลูกพี่ลูกน้องคนนี้ในบ้านเดียวกัน เราทรีตว่าเขามีลักษณะของการทำอะไรซ้ำๆ ช้าๆ แบบนั้นมาตลอดเพราะเข้าใจว่ามันเป็นคาแรคเตอร์ของเขา โดยที่เราไม่เคยทรีตว่าเขาเป็นออทิสติกเลย

Q: เมื่อตัดสินใจว่าจะทำละครที่เกี่ยวกับเรื่องของออทิสติก บอสมีวิธีการรีเสิร์ชข้อมูลอย่างไรบ้าง ใช้เวลานานขนาดไหน

A: ช่วงเขียนบทใช้เวลาประมาณ 7 เดือนครับ ซึ่งการเขียนบทจะมีน้องอีกคนหนึ่งช่วยเขียนกับเราชื่อน้องแตง เราตกลงทิศทางกันชัดเจนเลยว่า หนึ่ง..เราจะต้องได้ข้อมูลเรื่องแบตมินตัน สอง..ถ้าเราจะจับท่ายากเรื่องออทิสติก เราก็ต้องทำมันออกมาให้สวยงามมากๆ เราจะต้องทำตัวเองให้มีข้อมูลให้ได้เยอะที่สุด ในหนึ่งอาทิตย์ ทุกวันศุกร์เราจะต้องสัมภาษณ์คุณแม่ที่ดูแลเด็กที่เป็นออทิสติก ส่วนทุกวันเสาร์เราต้องไปหาผู้ดูแลที่ศูนย์ออทิสติก กฎการทำงานของเราคือใน 7 เดือนนี้เราต้องเจอข้อมูลให้ได้มากที่สุด เราทำแบบนี้ทุกอาทิตย์อยู่เจ็ดเดือน และก่อนนอน เราก็จะหาหนึ่งบทความอ่านเพื่อให้ตัวเองอินให้ได้เยอะที่สุด  อ่านไปๆ ก็งงมาก เพราะเรื่องของเด็กออทิสติกแต่และเคสในบทความไม่มีใครเหมือนกันเลย ไม่ว่าจะที่ตัวเด็กเองหรือวิธีการดูแลของพ่อแม่ ฉะนั้นโจทย์ยากคือเราต้องเลือกว่าอะไรที่จะเหมาะกับเรื่องที่สุด ก็กลายเป็นว่าต้องทำงานเพิ่มขึ้นไปอีกสเต็ป

กระทั่งไปเจอเคสหนึ่งที่ร้านกาแฟในมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งน้องคนนี้วิ่งเล่นดูสนุกสนานมาก เขาเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเฝ้าร้านกาแฟ หน้าที่ของน้องคือต้องคอยเปิดประตูให้คนที่มาซื้อกาแฟ ฉะนั้นทุกวันเราจะเห็นเขายืนจับประตูบานนั้นไว้แน่น ไม่ไปไหน พอใครเข้ามาเขาก็จะตั้งใจเปิดและรีบปิด แม้กระทั่งตอนเขาวิ่งไปฉี่เขาก็ยังคอยเหลียวหลังมามองว่ามีใครเดินเข้ามาที่ร้านกาแฟหรือเปล่า ถ้ามี เขาก็จะรีบวิ่งกลับมาเปิด เรารู้สึกว่ามันเป็นคาแรคเตอร์ที่น่ารักมาก ซนสดใส ขณะเดียวกันเขาก็ไม่ยืดหยุ่นด้วย หน้าที่เขาคือหน้าที่เขา ซึ่งเรามองว่านี่ละคือหัวใจของออทิสติกที่ทำให้พวกเขาดูมีความน่ารักแต่ขณะเดียวกันมันก็มีปัญหา เราก็เลยหยิบสิ่งเหล่านี้มาสร้างเป็นพี่ยิมขึ้นมา รวมทั้งในช่วงรีเสิร์ชเราค้นเจอเฟซบุ๊คของครูสุขที่สอนแบดมินตันให้กับเด็กออทิสติก โอ้โห! ตอนที่คลิ้กเจอ ตกใจเหมือนกัน ไม่เคยคิดว่าจะเจอ เพราะเราคิดมาตลอดว่าภาพของเด็กออทิสติกเล่นกีฬาแบตมินตันที่วางไว้มันคือภาพที่เรามโนไปเอง แต่เฮ้ย ไม่นะ มันมีอยู่จริงนี่หว่า เราก็เลยไปหาครูคนนี้ ซึ่งแกสอนแบตมานานมากแล้วและดุมากด้วย

พอไปที่นั่น เราได้เจอเด็กออทิสติกจับไม้แบต ตีๆๆ เวลาที่ครูสุบอกเด็กให้ยืนนิ่งๆ และก็ถามเด็กว่า เอ้า..ไหนเสิร์ฟยังไง เสิร์ฟเหมือนกินน้ำใช่ไหม กินยังไง ไหนทำซิ คือพอเราเห็นก็เฮ้ย เสิร์ฟเหมือนกินน้ำ! ครูคิดได้ไงเนี่ย แล้วท่าที่เกิดขึ้นมันตอบโจทย์ท่าเสิร์ฟได้จริงๆ ด้วย มันเป็นเรื่องของวิธีการคิดจริงๆ เราก็เลยไปนั่งคุยกับครู ให้ครูช่วยหาเด็กคาแรคเตอร์แบบพี่ยิมมาให้ ครูก็หามาให้ พอมาถึงก็วิ่งเล่นกันใหญ่ มีเด็กคนหนึ่งคาแรคเตอร์เหมือนพี่ยิมมาก พอสี่โมงปุ๊บเขารู้แล้วว่าเดี๋ยวคุณแม่จะมารับไปบ้านคุณยาย เขาก็เริ่มร้อนรนจะวิ่งออกไป ครูต้องบอกว่าวันนี้เป็นกรณีพิเศษ ยังไม่ต้องรีบหรอก แม่รออยู่ข้างล่างนั่นละ เขาบอก ไม่ได้ ต้องไปบ้านคุณยายสี่โมง เดี๋ยวนี้เลย

Q: จากวันรีเสิร์ชข้อมูลกระทั่งจนวันที่ละครอวสานไปแล้ว บอสค้นพบอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็กออทิสติกบ้าง

A: เยอะมากครับ ตัวอย่างหนึ่งเลยคือเรื่องความรัก เวลาไปที่มูลนิธิออทิสติกไทย ครูจะหาเด็กมาให้เราได้นั่งคุย เวลาคุยเราก็จะถามคำถามง่ายๆ เช่น วันหนึ่งทำอะไรบ้าง ตื่นกี่โมง แม่ตีไหม มีความฝันไหม จนมีน้องคนหนึ่งซึ่งชอบการ์ตูนลูนี่ตูนมาก เขาก็จะเล่าให้เราฟังแต่ลูนี่ตูนนี่แหละ คุยไปคุยมา เขาก็เริ่มเล่าต่อว่า เมื่อวานได้เจอน้องอีกคน เขาก็ชอบลูนี่ตูนเหมือนกันเลยนะพอพูดจบเขาก็ยิ้มหวาน เราก็เอ๊ะ ยิ้มอะไร! เขาก็ไม่พูด จนเราเริ่มสังเกตพบว่าอ้อ เขากำลังมีความรัก! คือเอาเข้าจริงเด็กออทิสติกมีความรู้สึกในเรื่องความรักความรู้สึกทางเพศเหมือนคนปกตินี่ล่ะ แค่เขามีพัฒนาการช้าเท่านั้นเอง พอบอสไปถามเรื่องนี้กับครู ครูบอกว่าเป็นเรื่องปกติมากและหลายๆ คนในนี้เขาก็มีแฟนด้วย มันก็เลยทำให้จากที่เราเคยมีกำแพง มีทัศนคติของการแบ่งแยกว่าฉันคือคนทั่วไป แต่เขาเป็นออทิสติก เปลี่ยนเป็นเรามองเขาเหมือนคนทั่วไปมากขึ้น

Q: การหยิบประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาทำละคร มีอะไรที่เราในฐานะผู้เขียนบทและผู้กำกับการแสดงต้องระวังเป็นพิเศษไหม

A: เราพยายามเลี่ยงที่จะนำเสนอในมุมที่มันเซนซิทีฟเกินไป แต่เลือกนำเสนอในเรื่องของพัฒนาการที่ช้าซึ่งเป็นบุคลิกที่ไม่มีใครเลยที่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องบอกว่าบุคลิกผ่านตัวละครที่เรายื่นให้คนดูนั้นเป็นแค่หนึ่งในร้อยในพัน  ซึ่งการที่เราสร้างพี่อิมขึ้นมาก็เปรียบเหมือนกับเขาเป็นลูกของเรา เขาคือลูกที่เราจะเขียนบทให้โตขึ้นแบบไหนก็ได้ภายใต้คีย์เวิร์ดของคำว่า ‘พัฒนาการช้า’ ฉะนั้นช่วงแรกๆ ไอ้ความกลัวในการนำเสนอมันก็ต้องมีบ้างละครับ จนพอเราเชื่อว่านั่นคือลูกของเราจริงๆ ความกลัวก็ค่อยๆ ลดลง เพราะเราจะสร้างเขาอย่างไรก็ได้ มีแม่แบบไหนก็ได้ ให้โตแบบไหนก็ได้ แต่สุดท้ายสิ่งที่สำคัญสำหรับหัวใจของเด็กออทิสติกคือ ต้องมีคนรอบข้างที่รักเขาจริงๆ

Q: ความสัมพันธ์เป็นเรื่องซับซ้อน บอสใช้วิธีไหนในการทำความเข้าใจความรู้สึกของผู้เป็นพ่อและแม่ ในเมื่อบอสเองก็ยังไม่เคยมีลูก

A: ใช่ครับ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเพราะบอสเองก็ไม่เคยมีลูก รวมทั้งมนุษย์เองก็ไม่มีใครเลยที่เหมือนกัน ซึ่งพอเราจับท่ายากที่ออทิสติก เราก็พยายามที่จะทำให้ตัวละคร น้องโด่ง’ เป็นตัวละครจากประเด็นที่แมสที่สุดที่ทุกครอบครัวจะสามารถอินได้ทันที นั่นคือเรื่องของการรักลูกลำเอียง ส่วนสำหรับความยากของตัวละคร พี่ยิม เราก็ต้องมานั่งนึกว่าเขาควรจะมีคุณแม่ที่เลี้ยงเขามาแบบไหน? เราก็เริ่มหาโมเดลที่ชัดเจนที่สุด หาคนที่มีความใกล้เคียงกับพี่ยิมมากที่สุด จนพอเจอ เราก็พยายามแซะหาต่อว่าคุณแม่เขามีวิธีเลี้ยงลูกของเขายังไง และหน้าที่ของคนเขียนบทคือนอกจากต้องรู้ว่าเขาเลี้ยงยังไงแล้ว ยังต้องรู้ด้วยว่าปัญหาของเขาคืออะไร เพราะในซีรีย์เองมันต้องมีข้อขัดแย้ง เราก็เลยพยายามมองหาอยู่หลายประเด็นจนเจอหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ตอนไปนั่งฟัง เราก็ร้องไห้เหมือนกันน

มีโมเมนต์หนึ่งที่คุณแม่ท่านหนึ่งพอมีลูกเกิดมาเป็นออทิสติกแล้ว เขาอายคน เขาผ่านสิ่งนี้ไปไม่ได้ เวลาไปทำงานเขาไม่รู้จะบอกเพื่อนยังไง แต่ขณะเดียวกัน พอเราไปนั่งคุยกับตัวลูก ลูกเขากลับบอกว่าเขาภูมิใจในแม่ของเขาคนนี้มาก เราเลยเจอหัวใจสำคัญว่าระหว่างแม่กับลูกที่เป็นออทิสติก มันก็คงจะมีเงื่อนไขในปัญหาข้อนี้ละมังที่เยียวยาซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าวันหนึ่งเขาภูมิใจกันและกันได้ เขาก็คงไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว แม่ลูกก็ต้องการแค่นี้

Q: เสื้อสีชมพูที่ใช้ในเรื่อง สื่อถึงอะไรเป็นพิเศษไหม

A: เราพยายามหาตัวแทนว่าพี่ยิมจะสามารถแสดงออกในการภูมิใจในตัวแม่ของเขาได้ด้วยวิธีใดบ้างที่ไม่ต้องใช้คำพูด จนเราพบข้อหนึ่งว่าเด็กออทิสติกจะไม่ยืดหยุ่นเรื่องการใช้สิ่งของ เช่น ต้องกินข้าวหมูทอดทุกวัน ต้องเล่นเกมในทุกสี่โมงเย็น เราเลยพยายามหาอะไรที่มันเนียนๆ ไปกับความไม่ยืดหยุ่นของเด็กออทิสติกที่จะสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ในการบอกรักของพวกเขาได้ เราก็เลยเลือกใช้สีชมพู ซึ่งความไม่ยืดหยุ่นของภาวะออทิสติกในละครทำให้ตัวละครเลือกที่จะใส่เสื้อสีชมพูทุกวัน โดยที่สีชมพูยังเป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่าเขารักแม่และเขาก็อยากให้ทุกคนรู้ว่าเขาเป็นลูกแม่ตั้ม

Q: กลับไปที่ช่วงเริ่มต้นของการทำซีรีส์  โจทย์ของละครได้กำหนดไว้หรือเปล่าว่าจะต้องเป็นละครแนวเพื่อสังคม

A: ไม่เลยครับ โจทย์จริงๆ มันมีแค่เรื่องกีฬา แต่ประเด็นคือตัวเราเองก็ไม่ได้เป็นคนเล่นกีฬา ฉะนั้นจะมีกีฬาอะไรบ้างล่ะที่เราจะพอเข้าใจมันได้ บอสก็นึกถึงตอนตีแบตหน้าบ้านกับแม่ขึ้นมา และเมื่อมีภาพแบบนี้ในหัว มันก็เลยกลายเป็นว่าต้องเป็นละครที่ว่าด้วยเรื่องของครอบครัวเพื่อที่เราจะได้เล่ามันออกมาได้จากความอินจริงๆ ตัวเราเองจำได้ดีว่าเรารักแม่รักพ่อรักพี่น้องยังไง มันเป็นภาพที่ชัดเจนมากจนทำให้เราอยากเล่าประเด็นนี้ และในประเทศเราเองก็มักจะเล่าแต่เรื่องพระเอกนางเอก เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ชายกับผู้ชายแบบหนังวาย แต่ยังไม่เคยมีหนังเรื่องไหนที่ให้แม่เป็นนางเอกและให้ลูกชายเป็นพระเอกเลย ซึ่งก็เป็นความกล้าๆ เสี่ยงๆ เหมือนกัน

Q: สำหรับผู้กำกับหน้าใหม่แล้ว คล้ายว่าถนนที่เราเลือกเดินมันเพิ่งเริ่มต้น บอสมีหลักในการทำงานบนเส้นทางนี้อย่างไร

A: ด้วยความที่เราเป็นน้อง โดยที่ทีมงานรอบๆ ตัวเราไม่ว่าจะตากล้อง ผู้ช่วย โปรดิวเซอร์ ทุกคนมีประสบการณ์มากกว่าเราหมดแต่ต้องมาฟังคำสั่งเราซึ่งประสบการณ์น้อยนิดกว่าเขามาก หรือน้องต่อเอง เขาก็ผ่านประสบการณ์การเล่นหนังมาตั้งหลายเรื่องแล้ว บอสถือว่าทุกคนเหล่านี้เป็นครู ในช่วงการทำงานต้องบอกว่าบอสค่อนข้างจิตใจว้าวุ่นมาก แต่ก็บอกตัวเองว่าจะมานั่งกลัวไม่ได้ ถ้ากลัวทุกอย่างก็พัง บอสเลยยึดหลักของความเชื่อในแต่ละวันก่อนไปทำงานว่าเอาละ พรุ่งนี้เราจะถ่ายซีนนี้นะ เราเชื่ออะไรในซีนนี้บ้าง เราต้องหาหัวใจของมันให้เจอเพื่อที่เราจะได้เอาหัวใจนี้ไปบอกกับคนอื่น เช่นเราเชื่อว่าซีนนี้แม่ต้องแสดงออกกับลูกแบบนี้ ลูกต้องมีวิธีการแสดงออกกลับไปหาแม่แบบนี้ ฉะนั้นเมื่อเราจะต้องอยู่ในหน้าที่ของการไปสั่งคนอื่น เราก็ต้องพกความมั่นใจและความเชื่อในสิ่งนั้นไปบอกกับเขา และเมื่อทีมงานทุกคนเชื่อว่าบอสเชื่อในสิ่งนี้สิ่งนั้นจริงๆ รูปแบบการทำงานมันก็ง่ายขึ้น หลังๆ เราเลยเริ่มเสียงดังมากขึ้น(หัวเราะ)

Q: ‘ฉันจะเปลี่ยนโลก เป็นคำพูดที่สวยงามและดูหึกเหิมมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทียบกับขนาดของโลกอันกว้างใหญ่ มนุษย์ก็แค่ผงธุลี บอสคิดว่าผงธุลีสามารถเปลี่ยนโลกได้จริงไหม

A: เราเห็นด้วยครับว่าการลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เราก็ยังมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าทุกคนทำทีละเล็กละน้อย มันก็สามารถเปลี่ยนได้เหมือนกัน มันยังมีความหวังอยู่ปลายทางนะครับ อย่างซีรีย์เรื่องนี้อาจจะเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนคนอีกหกสิบกว่าล้านคนไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันก็ต้องมีสักสิบคนที่ทัศนคติต่อเด็กออทิสติกของเขาจะเปลี่ยนไปจากการได้ดูซีรีย์เรื่องนี้  หรืออาจจะมีแม่อีกสักร้อยคนที่หลังดูละครซีรีย์เรื่องนี้แล้ว เขาเกิดความภูมิใจในตัวลูกเขามากขึ้น เราหวังเพียงว่าสิ่งที่เราทำจะได้ถูกต่อยอดความคิดไปเรื่อยๆ ถ้าทุกคนเชื่อว่าในสิบคนจะสามารถต่อเป็นร้อย ในร้อยจะต่อไปอีกเป็นพัน ในทุกๆ คอนเทนต์หรือทุกๆ คนที่ทำก็อาจจะเป็นพลังที่รวมกันจนกลายเป็นมวลใหญ่ จริงอยู่ มันอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักร้อยสองร้อยปีก็เป็นได้ แต่ก็ไม่เป็นไรหนิ เพราะอย่างน้อยมันก็ได้เริ่มทำอะไรสักอย่าง จริงไหมครับ

 

คุณค่าในตัวเองเริ่มจากความรักในสิ่งที่ทำก่อเกิดเป็นความภูมิใจ ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่คือแม้เป็นแค่ผงธุลีก็เป็นผงจุดๆ ป่นๆ ที่มีประโยชน์ เทียบกับโลกใบนี้ มนุษย์เป็นแค่ผงธุลี แต่ถ้าทุกธุลีใช้ศักยภาพในตัวเองคิดสร้างสรรค์ทำประโยชน์คืนให้กับสังคมบ้าง หลายธุลีรวมกันก็จะกลายเป็นหลายก้อนดิน วันนี้นอกจากการเรียกร้อง คำบ่น และตัดสิน คุณได้ทำอะไรเพื่อคนสังคมบ้าง?

Photo: Pattrica Lipatapanlop

Pattrica Lipatapanlop

พัทริกา ลิปตพัลลภ (แพท) ทำงานอยู่ที่กองบก.นิตยสารเล่มหนึ่งแต่เธอไม่เคยเรียกตัวเองว่า ‘นักเขียน’ เธอเป็นแค่ ‘คนเล่าเรื่อง’ ที่สนุกกับการเดินทางลำบากเพราะไปสบายทีไรไม่เคยมีอะไรให้เขียน ดวงของเธอสมพงษ์มากกับกลุ่มคนทำงานศิลปะที่เธอเรียกว่า ‘ARTDERGROUND’ ซึ่งอาร์ตเด้อกราวด์คือพวก ‘คนมีของ’ ทำงานศิลปะจากเนื้อแท้ไม่ดัจริตเป็นอาหารจานเดียวในโลก เป็น ‘ของจริง’ ที่รอให้ใครสักคนไปขุดเจอซึ่งเธอดันชอบถือจอบด้วยสิ

See all articles

Next Read