เปิดเบื้องหลัง ‘ทำอะไรก็ธรรม’ สารคดีธรรมะย่อยง่ายกับ ศศวรรณ จิรายุส

‘ทำอะไรก็ธรรม’ คือสารคดีที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (หรือ สวนโมกข์กรุงเทพ), LINE ประเทศไทย, และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นรายการที่นำเสนอเรื่องราวของคนธรรมดาผู้เป็นนักบันดาลใจในการทำงาน ใช้ชีวิต และสร้างสรรค์สังคมในแนวทางของตัวเอง โดยมีหลักชัยคือการชวนผู้ชมมาร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับหัวใจ แสวงหาความหมายและคุณค่าของชีวิต ตลอดจนหนทางแห่งการค้นพบความสุขที่แท้จริงในแบบตัวเอง และการตระเตรียมทั้งกายและใจให้พร้อมรับกับทุกการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติของชีวิต 

จากวันแรกที่ออกอากาศเมื่อ 2 ปีก่อน จนถึงวันนี้ ทำอะไรก็ธรรมดำเนินมา 2 ซีซั่น กับ 22 ตอน และกำลังถ่ายทำซีซั่นที่สามกันอยู่ พร้อมกับกิจกรรมธรรมะอีกมากมายที่เครือข่ายธรรมของพวกเขากำลังตั้งตารอที่จะทำให้เป็นจริง วันนี้ เราชวน แอน – ศศวรรณ จิรายุส หัวหน้าฝ่ายสื่อสารงานธรรม (ส่วนสร้างสรรค์และกิจกรรมพิเศษ) หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ผู้บุกเบิกรายการที่ว่านี้มาเล่าถึงแนวคิดเบื้องลึก เบื้องหลัง และอนาคตของสารคดีแนวธรรมที่แสนธรรมดา แต่สงบ ร่มเย็น และเป็นประโยชน์ที่ใครๆ ก็สามารถนำไปต่อยอดกับชีวิตของตัวเองได้ ไปฟังแอนเล่าเรื่องธรรมๆ พร้อมกันในสัมภาษณ์ฉบับนี้เลย

จากโลกบันเทิงสู่งานสายธรรม 

ย้อนกลับไปเมื่อราว 12 ปีก่อน แอนมีชีวิตทำงานเหมือนกับหนุ่มสาวออฟฟิศส่วนใหญ่ในประเทศนี้ อยู่ในบริษัทเอกชน ทำงานแสวงหาความก้าวหน้า ไล่ตามความฝัน ใช้ชีวิตแบบ Work hard, play harder กระทั่งวันที่จังหวะชีวิตของเธอได้มาเจอกับธรรมะ สิ่งซึ่งเปลี่ยนทั้งการใช้ชีวิตและมุมมองในการมองโลกของเธอไปตลอดกาล

“ด้วยความที่เราทำงานในสายบันเทิง ออแกไนเซอร์ ซึ่งธรรมชาติในการทำงานของเรา เราเป็นคนชอบคิด คิดเก่ง หยุดไม่เป็น เลิกงานก็ปาร์ตี้ทุกวัน แล้วเราจะเป็นคนนอนไม่หลับ พอไม่หลับ ก็นั่งทำงานไปเรื่อยๆ ได้แบบ 3 วันไม่นอนก็ได้ พอไม่นอนก็จะโทรหาเพื่อน โทรทุกวัน ตอนนั้นเพื่อนเข้าวงการธรรมะแล้ว จะบอกให้เราดูจิตซึ่งไม่เข้าใจว่าดูจิตคืออะไร จนเพื่อนชวนมา ‘สวนโมกข์กรุงเทพ’ เราปฏิเสธในตอนแรก จนวันที่ได้ไปเพราะลูกค้ายกเลิกประชุม พอมาถึง ทั้งบรรยากาศบริเวณโถง แสงในช่วงเวลานั้นที่นวลตา ความสงบ จำได้เลยว่าเหมือนชีวิตเราสว่างวาบอะไรนั้นเลย เรายืนอ่านบอร์ดรับสมัครคนทำกิจกรรมของสวนโมกข์ แล้วก็หันไปบอกเพื่อนว่า ‘แกฉันจะสมัครงานที่นี่’ นั่นก็ 12 ปีมาแล้ว เราเริ่มจากตำแหน่งนักกิจกรรม จนมาเป็นหัวหน้าฝ่ายสื่อสารงานธรรม โดยตอนนี้ขยับมาโฟกัสเรื่องการชวนผู้คนใหม่ๆ ให้เข้ามารู้จักสวนโมกข์มากขึ้น  เรียกว่าเหมือนเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่งเลยกับการได้เริ่มต้นทำงานที่สวนโมกข์แห่งนี้” 

ทำเล่นให้เป็นธรรมสอนใจ 

‘พื้นที่อบอุ่น สนับสนุนกำลังใจ ทุกการลงมือทำ ด้วยหัวใจดวงเล็กๆ อย่างมีความสุข’ คือนิยามสั้นๆ ในเพจของทำอะไรก็ธรรม ที่แอนบอกกับเราว่า โปรเจ็กต์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเล่นล้วนๆ เธอย้อนเล่าไปถึงจุดเริ่มต้นของรายการว่าเกิดขึ้นระหว่างการกักตัวในช่วงวิกฤตโควิด จากที่เคยไปทำงาน ทำกิจกรรมทุกวันที่สวนโมกข์ เมื่อต้องมาอยู่บ้านแบบ 24 ชั่วโมง การทำงานจึงต้องปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ที่ถ้าต้องอยู่กับบ้านแล้ว เธอและทีมจะทำกิจกรรมและโครงการอะไรออกมาได้บ้าง

“เวลานั้น Zoom เพิ่งเข้ามา เราเลยเขียนอีเมลไปหาพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ว่าอยากทำรายการทางบ้าน ด้วยความบ้าคลั่งตอนนั้นเราทำแบบ 5 วัน 5 รายการ วันจันทร์เป็นรายการหนังสือก้นกุฏิ กับ พระไพศาล วิสาโล วันอังคาร รายการอยู่บ้านกับ อ้อม สุนิสา วันพุธ คุยกับหมอบัญชา วันพฤหัส รายการรอดหรือไม่รอด กับ อุ๋ย บุดดาเบลส วันศุกร์ รายการพุทธธรรม ดับข่าวร้อน กับ พระครูธรรมรัต วัดญาณเวศกวัน ซึ่งเราสนุกมากๆ พอทำรายการเหล่านี้ไป เรายังรู้สึกสนุกและอยากทำอีก เลยคิดจะลองเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อไปขอทุน ซึ่งมีคำแนะนำให้ลองส่งไปที่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะที่นั่นเปิดรับอยู่ เราเองอยากทำรายการทำอะไรก็ธรรมให้เป็นจริง เลยตัดสินใจส่งไป เมื่อได้รับการตอบรับจากกองทุนสื่อฯ ก็ลงมือทำเลย 

“ตอนเริ่มต้น เราตั้งใจให้รายการนี้ออกมาในรูปแบบสารคดีที่มีเป้าหมายเพื่อส่งต่อเรื่องของการใช้ชีวิต เข้าไปเติมเต็มพร้อมสร้างภูมิคุ้มกันให้จิตใจเข้มแข็งผ่านกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าใครจะทำอะไร จะอ่านหนังสือ จะอยู่บ้าน จะปลูกต้นไม้ ฟังข่าว จะทำกับข้าว เราอยากให้ ‘ทำอะไรก็ธรรม’ เป็นรายการที่จะเป็นกัลยาณมิตรกับทุกคน ด้วยเจตจำนงที่อยากนำคำสอนของพระพุทธเจ้าและท่านพุทธทาสมาใช้ในการดำเนินชีวิต 

“สำหรับพัฒนาการของเนื้อหาในซีซั่นแรก สอง และสาม เราโฟกัสต่างกัน ในซีซั่นแรก เรานำเสนอจุดเล็กๆ ของคนธรรมดาที่รักในการทำบางอย่าง เราเดินทางไปพบเพื่อพูดคุยกับพวกเขาว่าทำไมถึงชอบทำสิ่งนี้ ทำแล้วดีกับตัวเขาอย่างไร มีความสุขอย่างไร พอซีซั่น 2 เราขยายให้กว้างขึ้นว่าสิ่งที่บุคคลนี้ทำ ทำแล้วช่วยคนในชุมชนรอบๆ บ้านเรือนอย่างไร หรือนำไปสู่การต่อยอดอย่างไรอีกบ้าง ขณะที่ซีซั่นล่าสุดที่เรากำลังทำงานกันอยู่ เราวางคอนเซ็ปต์ว่าจะให้กว้างขึ้นไปอีก โดยจับประเด็นระดับสังคมและโลกแล้ว เช่น โลกที่เราอยู่ กำลังมีปัญหาเรื่องของอากาศ ประเทศไทยได้รับผลกระทบไหม แล้วคนตัวเล็กๆ คนนี้เห็นปัญหานี้ แล้วลุกขึ้นมาทำอะไร เราทำเนื้อหาออกมาเป็นสารคดีทั้งแบบสั้นเป็นคลิปไวรัลและแบบยาวที่ทำลงในยูทูป 

“สำหรับเรา เทปที่อิมแพคกับคนหมู่มากและผู้ถูกสัมภาษณ์ได้นำใช้ประโยชน์ น่าจะเป็นการทำงานของกลุ่มพระคิลานธรรม ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มพระสงฆ์อาสาที่มีความปรารถนาในการช่วยเหลือ ดูแล และบำบัดจิตใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกระบวนการปรึกษาแนวพุทธที่ผสมผสานกับหลักการทางจิตวิทยา เราชอบตรงที่การเป็นมนุษย์ธรรมดาที่สร้างประโยชน์บางอย่างให้กับคนอื่น กับสังคมของเรา ซึ่งนอกจากรายการแล้ว ภายใต้ทำอะไรก็ธรรมยังมีกิจกรรมอื่นๆ ตั้งแต่การเสวนา ทอล์ก ฉายหนัง ในซีซั่น 3 อันนี้ เราทำงานร่วมกับ Thai PBS ทั้งในเรื่องของการออกอากาศ และมีการคุยกันถึงเรื่องของไปสัญจรที่จะมีทั้งในและนอกกรุงเทพฯ ซึ่ง Thai PBS ก็บอกว่าเราไปทำด้วยกันนะ”

ธรรมะบันดาลใจ

“เวลาทำอะไรก็ตาม เรามักนึกถึงคำของท่านอาจารย์ที่ว่า ‘สวนโมกข์มีแต่การเล่น’ ฉะนั้น การทำงานของเราจึงเหมือนการเล่น พอมีความรู้สึกแบบนั้น เราจึงรู้สึกสนุก ทำงานได้ไม่รู้จักเบื่อ ไม่เหนื่อย แบบที่ใครๆ ถามตลอดว่าทำไมทำงานได้ทุกวัน แต่ถ้าลึกซึ้งหน่อย เราจะนึกถึงคำว่า ‘ไม่เป็นอะไรกับอะไรได้ไหม’ ซึ่งหลวงพ่อคำเป็นผู้เขียนประโยคนี้ ถ้าให้เข้าใจง่ายขึ้นก็เช่น คนคนนี้มาทำให้เราไม่พอใจ เราเห็นความไม่พอใจนั้น แต่แค่เห็นได้ไหม ไม่ต้องไปรู้สึกกับมัน พอเรามีธรรมเป็นแนวทาง ชีวิตเราเปลี่ยนเลยนะ เราจะไม่รู้สึกเหลิงเวลาทำดีหรือมีคนชม แต่รู้สึกประมาณว่า โอเค วันนี้ฉันทำดีนะ จบ ลืม หรือถ้าเราไม่มีความสุข ก็ไม่ได้ไปบังคับให้ตัวเองต้องกลับมาร่าเริ่ง พระอาจารย์ท่านสอนเสมอว่า จริงๆ แล้ว เมื่อมีความขุ่นเคืองเกิดขึ้น เราไม่ต้องไปบังคับให้มันดับเดี๋ยวนั้น เพียงแต่ให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งแปลกดีนะคะ พอเรายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่นานความขุ่นเคืองนั้นก็หายไปเอง” 

มีธรรมนำทาง

จากการทำงานในบทบาทของออแกไนซ์สายบันเทิงสู่การทำงานทางธรรมที่สวนโมกข์กรุงเทพ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา นอกจากการปรับตัวแบบหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายในตัวเธอ  

“เรียกว่าต้องปรับทุกอย่าง แต่ก่อนที่เรารับงานอีเว้นต์ ในแง่ของรายได้ ทำงานหนึ่งงานเท่ากับรายได้ที่เราทำงานที่นี่สัก 2 ปี ดังนั้น สิ่งที่เคยสุรุ่ยสุร่ายมาทั้งหมดในชีวิต เราต้องมานั่งคุยกับตัวเองก่อนว่าจะจัดสรรค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตที่จำเป็นจริงๆ ได้ไหม เราจะอยู่ได้ไหมกับชีวิตที่ไม่ใช้แบรนด์เนม ไม่ปาร์ตี้ กินข้าวแบบกินข้าวจริงๆ แล้วจะต้องตื่นเช้า เราทำสิ่งเหล่านี้ได้ไหม 12 ปี คือคำตอบทั้งหมด ซึ่งนานมากเลยนะคะ ไม่เคยทำที่ไหนนานเท่านี้มาก่อนเลย (ยิ้ม)

“ในแง่ของจิตใจ ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าตัวเองเปลี่ยนอะไรมากมาย แต่ผู้คนรอบข้างบอกว่า แอนเปลี่ยนไปเยอะเลย รู้ตัวไหม ทั้งอุปนิสัยและพฤติกรรม แต่ก่อนเราดื่มเหล้าทุกวัน แบบที่มีเหล้าวางอยู่ข้างเตียง สูบบุหรี่ เที่ยวกลับเช้า ตอนนี้ไม่ได้ไปเตะแล้ว ไม่ติดแบรนด์เนม หรือสิ่งนอกกายที่ไม่จำเป็น เมื่อก่อนเราเป็นพวกลำบากไม่ได้ ไม่แอร์ไม่ได้ เดินไกลไม่ได้ แต่ตอนนี้ ได้หมด กลายเป็นว่าเราใช้ชีวิตง่ายขึ้นมาก ความขี้หงุดหงิด ขี้โมโห ลดลงไปแล้วน่าจะสัก 60% จากเมื่อก่อนถ้าใครมาว่า ต้องมีสวนกลับ แนวๆ ว่าพร้อมไฟว้อะไรแบบนั้นเลย ตอนนี้เราได้มองเห็นความไม่ดีและไม่น่ารักของตัวเอง สิ่งไหนแก้ได้เราแก้ แต่ข้อเสียบางอย่างก็ยังอยู่ รวมถึงมายด์เซตในการทำงานด้วย เมื่อมาดูตัวเองก็พบว่า แต่ก่อนเวลาทำงานอีเว้นต์ คำถามของเราคือ กิจกรรมนี้จะสนุกและทำเงินได้แค่ไหน แต่ตอนนี้คือกิจกรรมนี้จะทำประโยชน์ได้มากแค่ไหน ใครได้ประโยชน์บ้าง ความยาวนานของการได้ประโยชน์ มีการร่วมมือกับองค์กร ชุมชน หรือผู้คนไหม ซึ่งพอแกนเปลี่ยนไป ทุกอย่างเลยเปลี่ยนทั้งหมด แล้วพอเราตั้งต้นด้วยคำว่า ‘ประโยชน์’ เราจะลดสิ่งไม่จำเป็นลง เพื่อเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่จะได้และส่งประโยชน์กับคนอื่นจริงๆ   

“ต้องบอกว่าการได้มาทำงานที่นี่ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ เป็นเหมือนโอกาสที่ดีมากในชีวิต เราได้เรียนรู้ชีวิตจากสิ่งที่ทำ การได้รู้จักและปฏิบัติธรรม ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตมีสิ่งจำเป็นอยู่แค่ 4 อย่างตามปัจจัย 4 ซึ่งน้อยและเบามาก มีแต่ตัวเรานี่แหละที่เยอะและทำให้ตัวเองลำบาก คงต้องขอบคุณความเป็นคนบาปหนาของตัวเอง คนบาปหนาที่ไกลวัด วิ่งหนีพระ ไม่สวดมนต์ ปาร์ตี้หนัก เพราะวันนี้เราสามารถพูดได้เต็มปากว่าถ้าคนอย่างฉันทำได้ ใครๆ ก็น่าจะทำได้ ทุกวันนี้ ความสุขของเราคือได้ทำงาน ได้เห็นว่างานที่ทำส่งผลดีกับผู้คนและสังคมวงกว้างอย่างไร

“อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนไฮเปอร์ เลยมีสิ่งที่อยากทำอีกเยอะมากเลย แล้วก็เคยคิดว่าชีวิตเราน่าจะตายตอน 60 ถ้านับนิ้วก็เหลือเวลาไม่ถึง 10 ปี แล้ว ฉะนั้นตอนนี้ ถ้าอยากทำอะไร ต้องรีบแล้ว แต่การทำนั้นจะไม่ใช่แค่เราทำ ต้องไปให้คนอื่นที่เขารู้สึกสนุกแล้วให้เขาช่วยสานต่อ เราเลยมีโปรเจ็กต์อาสาที่เราทั้งเข้าไปให้ไอเดีย ไปช่วยออกแบบ รวมถึงทำงานในโปรเจ็กต์นั้นแบบเต็มตัว เช่น การออกแบบชุมชนรมณียกรุณาที่เราทำร่วมกับวัดบันดาลใจ, แคมเปญ ‘พุทโธ zero waste วัดไทยไร้ขยะ’ ที่สวนโมกข์กรุงเทพทำร่วมกับกลุ่มแยกขยะกันเถอะ เพื่อเป็นต้นแบบการแยกขยะในวัดและสถานที่ปฏิบัติธรรมทั่วประเทศได้รู้วิธีในการแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มโปรดักชั่นหลายๆ กลุ่มว่าเรื่องนี้ทำได้นะและจะทำได้อย่างไร 

“สำหรับ ‘ทำอะไรก็ธรรม’ เรารักช่วงเวลาที่ได้เดินทางไปนั่งฟังเขาคุยกัน ได้ดูสิ่งที่เขาทำ ได้ไปเจอผู้คนแบบนั้นมากๆ เมื่อก่อนไม่คิดว่าเราจะรู้สึกดี แต่เราพบว่าช่วงเวลาเหล่านั้นดีมากจริงๆ เราไม่รู้ว่าหรอกว่าอนาคตของทำอะไรก็ธรรมจะเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นได้อีกกี่ตอน แต่ ณ วันนี้ การที่ได้รู้ว่าสิ่งที่นักบันดาลใจในทุกๆ ซีซั่นเล่าเอาไว้ไปสร้างประโยชน์ให้ผู้ชม แม้เพียงเล็กน้อย นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีเพราะสิ่งที่พวกเราทำได้ส่งคลื่นพลังงานดีๆ ออกไปเพื่อเป็นแรงบันดาลใจที่จะนำไปสู่สิ่งดีๆ ต่อไป” 

 

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร
ข้อมูลและภาพเพิ่มเติม: happyworkheartbuddhadasaarchives 

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles

Next Read