‘ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต’ กับการออกแบบรักษ์โลกเพื่อโรงพยาบาลและผู้สูงอายุ

“ผมเริ่มจากการเห็นปัญหาของอาชีพตัวเอง เลยเริ่มแก้ปัญหาตรงนั้น ผมไม่คิดที่จะไปแก้ปัญหาที่ขั้วโลกเหนือ หมีขาว ไม่ใช่นะ ผมแก้ปัญหาตรงนี้ที่เราสร้างขึ้นนี่แหละ” ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเขาในการนำเอาเศษขยะมาผ่านกระบวนการทางความคิดและใช้เครื่องมือที่เขาเรียกว่า ‘งานออกแบบ’ เพื่อชุบชีวิตสิ่งไร้ค่าให้กลับมาสร้างประโยชน์ขึ้นใหม่ภายใต้แบรนด์ Osisu

จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เขาเริ่มต้นมาไกลเกินกว่าที่เราคาดคิดและแตกกิ่งก้านสาขาเป็นร่มไม้ใหญ่ให้วงการออกแบบ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ชุมชน และคน ในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะและสุขภาพ เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์สิงห์อีกครั้งถึงบทบาทล่าสุดของเขาในโครงการ Upcycling: Value Creation with Design ที่ทำร่วมกับโรงพยาบาลกลาง และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุจากขยะโรงพยาบาลด้วยการแปลงเป็นสินทรัพย์ที่มีค่า มีราคา และสร้างอรรถประโยชน์ การพูดคุยตลอด 1 ชั่วโมงเต็ม ทำให้เรานึกย้อนไปถึงความรู้สึกและคำถามเดิมในหัวแบบเดียวกับเมื่อ 10 ปีก่อน ว่าอะไรที่ทำให้ผู้ชายคนนี้ถึงมีพลังงานเหลือล้นกับการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ กับสิ่งที่คนอื่นไม่เหลียวแล แน่นอนล่ะว่าทางออกที่เกิดขึ้นก็ทำให้เรารู้สึกใจชื้นขึ้นเป็นกองว่า ‘ประกายแห่งความหวัง’ ยังคงหลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้

Q: จากก่อนหน้าที่อาจารย์นำขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ในนาม Osisu อะไรคือจุดเปลี่ยนให้เข้ามาทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับคนชรา ผู้ป่วย และบุคคลากรภายในโรงพยาบาล?

A: ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนคือคนในสังคมเริ่มเห็นว่าผมเอาเศษวัสดุและขยะต่างๆ มาแปลงเป็นสินค้าที่ขายได้ มีราคา รวมถึงส่งออกด้วย ซึ่งโรงพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งที่เห็นข่าวแบบนี้และสงสัยว่ามีโอกาสที่ผมจะเข้าไปและศึกษาดูว่าจะสามารถนำขยะของโรงพยาบาลกลับมาใช้ได้ไหม นี่คือจุดเริ่มต้น ในช่วงแรกที่ติดต่อเข้ามาก็มีหลายโรงพยาบาลเลย ทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ แต่ตอนนั้นผมก็คิดว่าไม่น่าไหว เพราะขยะจากโรงพยาบาลเป็นขยะอันตราย เป็นขยะติดเชื้อ แต่ก็คิดว่าถ้ามีโรงพยาบาลติดต่อมาเยอะแบบนี้ก็น่าจะมีความเป็นไปได้เหมือนกัน ขณะเดียวกัน ผมก็มี Scrap Lab (ศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้) อยู่แล้ว ซึ่งช่วงเวลานั้น ผมได้พบกับ ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลกลาง ครั้งแรกที่เจอกัน ผมเป็นกรรมการให้กับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่ง ดร.ภัทรารัตน์มีนวัตกรรมส่งเข้ามาประกวดและผ่านรอบสุดท้าย

ผมมีโอกาสได้พูดคุยถึงสิ่งที่ทางทีมกำลังทำว่า การจะทำให้คนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่กำลังพักฟื้นในโรงพยาบาลรู้สึกดีกับเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำขึ้นมา เราต้องอาศัยทีมของคนที่มีทักษะด้านออกแบบ ทำงานกับวิศวกร ให้พวกเขามาร่วมด้วยช่วยกัน ดร.ภัทรารัตน์ก็เลยสงสัยว่า แล้วการออกแบบนี่เป็นอย่างไรกัน ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลเองก็พอทราบว่าผมทำงานอะไรอยู่ จึงขอมาเรียนใน Scrap Lab ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เกษตร ซึ่งโดยปกติคนที่ขอมาเรียนที่นี่ ก็จะมาแค่ 2-3 อาทิตย์ แล้วหายไป แต่ ดร.ภัทรารัตน์มาตั้งแต่ต้นจนจบ พอผมเห็นแบบนั้น ก็คิดว่าถ้าเอาจริงขนาดนี้แสดงว่าจะต้องมีอะไรที่น่าสนใจ

จากตรงนั้น ผมเลยเริ่มเข้าไปเยี่ยมโรงพยาบาลและขอให้เขาคัดแยกขยะดู พอคัดแยกเรียบร้อยก็พบว่า 40% ของขยะโรงพยาบาลเป็นขยะไม่ติดเชื้อ ก็ไม่คิดมาก่อนนะว่ามีเยอะขนาดนี้ หากลองคำนวณดู เดือนๆ หนึ่งจะมีขยะประมาณ 2-3 แสนชิ้นที่ไม่ติดเชื้อ เมื่อเห็นแบบนั้น ก็คิดว่ามีโอกาสแล้วล่ะ ผมจึงนำบรรจุภัณฑ์ที่ทางโรงพยาบาลใช้บรรจุเครื่องมือต่างๆ มาดูว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ก็พบว่า วัสดุที่ใช้เกี่ยวกับการแพทย์จะมีความพิเศษ เช่น เหนียวพิเศษ หนาพิเศษ ทุกอย่างพิเศษหมด แต่กลับใช้เพียงครั้งเดียวทิ้ง เราเลยเริ่มเอาเศษวัสดุกลับมาพัฒนาเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับนางพยาบาล คนไข้ และญาติใช้งาน


ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ

Q: โครงการที่ทำร่วมกับ ดร.ภัทรารัตน์ คือโครงการอะไร?

A: ผมเรียกว่า Hospital Waste Fabulous ตอนนั้นมีเด็กๆ จากฝรั่งเศส เยอรมัน ไทย ญี่ปุ่น ที่เรียนใน Scrap Lab ประมาณ 18-19 คน ในเทอมนั้น ปี 2014 ที่ผมให้เขาเลือกขยะในโรงพยาบาลมาลองพัฒนาดู เป็นโครงการเล็กๆ ของเราเอง ทำกันเอง ไม่มีงบประมาณจากโรงพยาบาลเลย ผมได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อมาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินงานของ Scrap Lab เมื่อได้เห็นผลลัพธ์และความเป็นไปได้ว่าขยะจากโรงพยาบาลสามารถแปลงเป็น solution ได้เยอะขนาดนี้ ก็เลยมีการต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์จริงขึ้นมา


Q: ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้างที่ใช้งานจริงแล้ว?

A: เรานำเอาผ้าห่อเครื่องมือแพทย์ (ผ้าสีฟ้า) ที่ใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งปกติจะใช้ครั้งเดียวทิ้งและมีปริมาณเป็นหมื่นชิ้นต่อเดือนมาทำเป็นกระเป๋าที่แจกให้แก่ผู้ป่วยที่มานอนพักฟื้นในโรงพยาบาล มีหนังสือคลายเครียดสำหรับผู้ป่วย โดยหนังสือนี้เรานำกระดาษรีไซเคิลมาตัดเป็นรูปร่างต่างๆ มีกาว และสีเทียน ใส่ไว้ในกล่อง หลังจากนั้นก็ให้เขาบรรเลงเลย แต่ละคนก็จะเขียนหรือตกแต่งสมุดของตัวเองตามอารมณ์ เพื่อช่วยผ่อนคลาย ซึ่งเราเห็น บางคนเล่าถึงชีวิตของเขาว่าในวาระสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เหมือนกับว่าเขาอยากจะบอกลูกหลานในเวลาที่เขาทำได้ ไปๆ มาๆ ญาติและนางพยาบาลก็มาใช้ด้วย เพราะทั้งญาติและนางพยาบาลเองก็มีความเครียดมากเช่นกันเวลาที่ต้องดูแลผู้ป่วย แล้วก็มีการออกแบบเก้าอี้เป็นเก้าอี้รอผู้ป่วย เก้าอี้อาบน้ำผู้ป่วย

Q: นอกจากขยะแล้ว ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่อาจารย์พบระหว่างทำโครงการต่างๆ ภายในโรงพยาบาลอีกบ้างไหม?

A: ทำไปทำมา เราเริ่มเห็นปัญหาอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น ในห้องนอนรวม ตู้หัวเตียงคนไข้รกมาก รองเท้านางพยาบาลที่ผ่านการใช้งานมาอย่างสมบุกสมบัน รองเท้าเดินไม่สบาย หรือที่นั่งรอคนไข้ที่เห็นแล้วรู้สึกหดหู่ ซึ่งในฐานะนักออกแบบ เราเห็นว่า ปัญหาแบบนี้แก้ได้ไม่ยากนี่นา ตอนนี้เลยกลายเป็นสารพัดสิ่งที่เราเห็นจากการไปดูพื้นที่โรงพยาบาล ก็จะหาหนทางแก้ปัญหา เลยกลายเป็นความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง




Q: จากปัญหาที่พบ มีการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์หรือโครงการอะไรบ้างไหม?

A: อย่างหัวเตียงที่รกๆ เราก็คิดว่าออกแบบ ‘ตู้หัวเตียง’ ใหม่ได้ไม่ยาก เพราะคนไข้บางท่านก็อยู่พักฟื้นนาน เป็นอาทิตย์ เป็นเดือนก็มี ‘รองเท้าพยาบาล’ ที่เราเห็น ก็พยายามนำปัญหาและการใช้งานของเขามาปรับให้เกิดฟังก์ชั่นที่เหมาะสมมากขึ้นทั้งในแง่ความคงทนและสวมใส่สบาย เราทำร่วมกับ ADDA อยู่ครับ ส่วน ‘รถสระผม’ คือคนไข้เวลาเขานอนบนเตียง 5-6 วัน หรือเพิ่งผ่าตัด ยังลุกไม่ได้ เส้นผมและศรีษะก็จะหมักหมม เมื่อไม่ได้สระผมนานๆ มีส่วนให้คนไข้รู้สึกไม่สบาย หงุดหงิด ทำให้การฟื้นช้าลง ทำให้นางพยาบาลและญาติดูแลเขายากขึ้น โดยปกตินางพยาบาลก็จะนำกะละมังมาแล้วสระกันตรงเตียงเลย ซึ่งใช้น้ำเยอะและเป็นพื้นที่ที่ไม่สะดวกเพราะคับแคบ เราเลยพัฒนาตู้เคลื่อนที่สำหรับสระผมกับบริษัท Kudos ในขนาดกะทัดรัด เพื่อให้สามารถแทรกไปตามเตียงได้ ใช้น้ำน้อยและสะอาด

อีกอย่างนึงคือ เราพัฒนา ‘ถุงมือเบี่ยงเบนความสนใจ’ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่จะเกิดความสับสนเวลานอนโรงพยาบาลนานๆ มักจะดึงสายน้ำเกลือ สายให้ยา สายอาหาร ทำให้เกิดแผลซึ่งจะนำไปสู่การติดเชื้อ และส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้ ทางโรงพยายบาลก็ต้องป้องกันจึงจำเป็นต้องมัดแขนและมือไว้กับเตียง แต่พอมัด ผู้ป่วยก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ญาติมาเห็นก็ไม่สบายใจ เพราะถ้าเป็นพ่อแม่เราโดนมัด เราคงรู้สึกแบบเดียวกันว่าเขาคงทรมาน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วโรงพยาบาลพยามจะช่วย เราจึงทำ ‘ถุงมือเบี่ยงเบนความสนใจ’ เป็นถุงมือที่ดูเป็นมิตร ให้ญาติเห็นแล้วดูไม่น่ากลัว ไม่มัดกับเตียง แต่ผูกถุงมือไว้ที่ข้อมืออย่างเดียว ในถุงมือจะมีลูกบอลยางรีไซเคิล 1 ลูกใส่อยู่ จะมีหลายความหนาแน่น หลายรูปร่างเตรียมไว้ เพราะปลายนิ้วมือของคนเป็นจุดที่ไวต่อความรู้สึกมาก ถ้ามีอะไรอยู่ก็จะไปแตะตลอดเวลา เมื่อใส่ถุงมือนี้จะทำให้โรงพยาบาลช่วยลดการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ลง คนไข้จะบีบลูกบอลด้วย เป็นการออกกำลังกายมือไปในตัวให้นิ้วและมือแข็งแรง ชิ้นนี้เราทำเกือบเสร็จแล้ว อยู่ในช่วงทดลองกับผู้ป่วยราว 200 คน แล้วก็ทำหมอนชนิดต่างๆ ร่วมกับพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหลากหลายกลุ่ม เช่น คนที่ผ่าตัดสะโพกและต้องนอนในท่าพิเศษ ปกติก็จะใช้หมอนใบเล็กๆ มายัดเต็มเตียงเพื่อให้นอนในท่าที่ถูกต้อง เราจึงพัฒนาหมอนสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งผ่าตัดแบบต่างๆ ผ่าตัดสะโพกก็แบบหนึ่ง เพิ่งคลอดบุตรก็แบบหนึ่ง เหล่านี้จะไม่ได้มาจากเศษขยะในโรงพยาบาลแล้ว เราพัฒนากับผู้ประกอบการขึ้นมาใหม่

Q: สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับคนชราล่ะคะ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

A: จริงๆ เราทราบอยู่มาประมาณ 10 ปี แล้วว่าทิศทางในอนาคต คนชราจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเริ่มศึกษาว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง เวลาไปโรงพยาบาล เราก็จะเห็นหลายๆ อย่างที่ไม่ได้ทำเผื่อคนสูงอายุ เช่น โรงพยาบาลจะมีถาดอาหารหลุมให้ผู้ป่วยสูงอายุ มีช้อน มีส้อม คล้ายๆ ที่เราใช้ในโรงเรียน ซึ่งผู้สูงอายุต้องมีคนป้อน ผมก็สงสัยว่าทำไมจะต้องป้อน แต่เมื่อเข้าไปสำรวจ ก็พบว่าที่ต้องป้อน เพราะมือเขาติดยึดและแข็ง ขยับไม่สะดวก ยกของน้ำหนักมากก็ไม่ได้ เราจึงเริ่มลองออกแบบและพัฒนาชุดทานอาหารสำหรับคนสูงอายุขึ้น โดยมีช้อนที่ทำออกมาหลายแบบ เพื่อให้จับถนัดและป้อนตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งคนอื่น บางอันก็จับกระชับมือได้ดี แต่หนักไป ยก 2-3 ครั้ง ก็หมดแรงแล้ว ต่อมาจึงเปลี่ยนวัสดุให้ตัวช้อนเบาขึ้น เข้าปากง่าย และเราก็ตวงขนาดช้อน รวมทั้งชั่งน้ำหนักเทียบระหว่างช้อนแต่ละแบบ ในหนึ่งคำปริมาณที่ตักควรจะเท่าไหร่จึงจะพอดีที่ไม่ทำให้เขาสำลัก ส่วนส้อมเราไม่ได้พัฒนาเพราะเขาไม่ใช้ ผู้สูงอายุไม่จิ้ม เพราะไม่มีแรงจิ้มแล้ว ลองสังเกตดู เขาจะใช้ช้อนอย่างเดียว ขณะที่ชาม เราต้องออกแบบให้เทไปด้านเดียว คือทุกอย่างที่ทาน พอทานไปเรื่อยๆ จะต้องให้ไหลเทไปด้านเดียว เขาจะได้ตักอย่างเดียวและตักได้ง่าย ถ้าเป็นจานทั่วไปที่พื้นผิวเรียบเสมอกัน เมื่ออาหารกระจัดกระจายทั่วจาน จะกลายเป็นว่าไปเพิ่มภาระในการตักอาหารทาน ซึ่งเขาทำไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ จะมีหมอนสำหรับคนสูงอายุ เพราะพอคนอายุมากก็จะปวดหลัง เราก็พัฒนาตัวหมอนสำหรับรองที่ก้นเพื่อเวลาเขานั่งจะไม่แข็ง จะขยับเอง พอเขาทิ้งน้ำหนักด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป เขาจะรู้สึกทันทีว่าเขากดตรงนี้มากไป ก็จะกลับมานั่งหลังตรง



Q: นอกจากทำงานกับทางโรงพยาบาลและบริษัทที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว มีความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกบ้างไหม?

A: เวลาทำงานแบบนี้ สุดท้ายแล้วเราต้องพึ่งพาองค์กรอื่นๆ เยอะทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม บริษัท MQDC, Osisu รวมทั้งคณะฯ ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับองค์กรอื่นๆ อย่างการพัฒนาชุดทานอาหารในเวอร์ชั่นแรก เราก็ทำร่วมกับทาง SCG เพราะว่าเขามีกลุ่ม Design Catalyst และสามารถผลิตขึ้นรูปได้ แต่เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนวัสดุ เราจึงต้องเปลี่ยนโรงงานด้วย เราทำลูกยางที่ใส่ในถุงมือกับทาง Rubberland รวมถึง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. (ผ่านหน่วยงาน ITAP) เราได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากทางธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ด้วย

Q: หลังจากทำงานร่วมกับโรงพยาบาล ทั้งการนำขยะจากโรงพยาบาลมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการพัฒนางานขึ้นมาใหม่ อาจารย์เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมมองจากคนที่มีต่อขยะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

A: จริงๆ เราเพิ่งเริ่มทำงานจริงจังกับขยะโรงพยาบาล เลยยังตอบไม่ได้ว่าสังคมคิดต่อผลงานจากสถานพยาบาลอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คนภายในโรงพยาบาลเองเปลี่ยนความคิดไปมาก บุคคลากรในโรงพยาบาลเองเริ่มรู้สึกว่าเป็นไปได้ ขยะที่เคยทิ้งกัน สร้างอะไรหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ได้ เขาก็เริ่มเก็บ เริ่มคัดแยกเอาไว้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ เราเลยทำโครงการแรกขึ้นมาเมื่อปลายปี 2014 ชื่อ Hospital Waste Fabulous! และในปี 2017 เราทำโครงการต่อยอด เรียกว่าโครงการ Upcycling: Value Creation with Design โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าให้เศษวัสดุของโรงพยาบาลด้วยการออกแบบควบคู่กับการฝึกอบรม โครงการเพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ตอนแรกเราคิดว่าจบแล้ว ให้ความรู้ทุกอย่างเรียบร้อย เขาขอทำต่อ และในปี 2018 จะสร้างเป็น Pop-up Store ในโรงพยาบาลด้วย นั่นแสดงว่าเขาเห็นความสำคัญแล้วล่ะ



Q: ในโครงการ Upcycling: Value Creation with Design อาจารย์เข้าไปดูแลและให้ความรู้เรื่องอะไรบ้าง?

A: ทุกเรื่องเลยครับ ตั้งแต่การคัดแยก การทำงานร่วมกัน การออกแบบ การแก้แบบ การขึ้นต้นแบบ ทดลองใช้ ทดลองตลาด ผมมีทีมงานอีก 4-5 คน ช่วงต้นที่เราไปเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลกลาง เราเห็นอะไรหลายอย่างที่ทำได้ง่ายๆ เพราะบุคคลากรของโรงพยาบาลทำอยู่แล้ว เช่น เราเริ่มด้วยการทำน้ำยาล้างจาน เพราะในโรงพยาบาลมีหัวเชื้อหลายอย่างที่สามารถนำมาผสมกันแล้วเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีได้ และนำของที่เคยเป็นขยะ เช่น ขวดบรรจุแอลกอฮอลสำหรับล้างมือที่ติดตั้งตามลิฟท์ ตามทางเดินมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เพราะขวดเหล่านี้เป็นวัสดุที่ดี มีเนื้อหนา แต่เมื่อครบเวลา 30 วัน ก็จะต้องทิ้ง เราจึงนำขวดดังกล่าวมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่น้ำยาล้างจาน จากขยะเป็นพันๆ ขวด ตอนนี้ไม่ต้องทิ้งแล้ว กลายเป็นรายได้เข้าสู่โรงพยาบาล เป็นสวัสดิการของโรงพยาบาลต่อ พอเขาทำ มีรายได้ เขาก็อยากทำต่อ ชีวิตก็ดีขึ้น ขยะก็น้อยลงด้วย ส่วนของก็ได้เอาไปใช้งาน ตอนนี้ทุกคนก็พยายามช่วยกันคิดนั่นคิดนี่ (ยิ้ม) ทุกคนบอก “อาจารย์มาดูนี่…” พวกเขาดูตื่นเต้น ผมว่าเจ๋งมากเลยนะกับการเปลี่ยนความคิดของคนที่อยู่ในฟิลด์อื่นได้ จากกลุ่มคนที่ไม่สนใจงานออกแบบเลย มีความเครียดสูง มีคนบอกนางพยาบาลดุ ผมเข้าใจเลยว่าดุเพราะอะไร เขาเครียดมากเลยนะ เขานั่งแป๊บๆ ก็ต้องไปดูคนไข้ ส่วนคนไข้เองเมื่อไม่สบาย แน่นอนว่าไม่มีใครอารมณ์ดีหรอก เพราะฉะนั้น ถ้านางพยาบาลดุผม ผมก็จะเริ่มเข้าใจ เหนื่อยขนาดนั้น การเข้าไปทำงานนี้ ผมเห็นเขาสนุก เขาเห็นของแล้วมีความสุข อย่างน้อย เราก็มีโอกาสได้ช่วยให้เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้น ผลิตโปรดักท์ที่ทำให้ผู้ป่วยใช้แล้วดี ประสบความสำเร็จ สนุกสนาน

สำหรับคนไข้กับญาติคนไข้ที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์อย่าง Eco Scrap Books เขามาบอกเราว่าไม่เคยคิดเลยว่ามีของแบบนี้ในโรงพยาบาลที่ช่วยให้เขารู้สึกคลายเครียด เราก็ไม่คิดนะว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่เขารู้สึกประทับใจ ทั้งผู้ป่วย ญาติ และพยาบาล หรืออย่างช้อนสำหรับผู้สูงอายุ เราคิดว่าถ้ามีการนำไปใช้งานก็จะช่วยให้คนชราสามารถทานอาหารเองได้ คือเขาขยับมือ แขน ไม่สะดวก ไม่ได้แม้กระทั้งกินเอง เขาเศร้านะ แต่พอเขาสามารถยกช้อนทานอาหารเองได้แล้ว ช่วยสร้างความภูมิใจได้ด้วย

Q: ในมุมมองของอาจารย์ คนในแวดวงออกแบบมีส่วนช่วยในการทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นไหม?

A: มหาศาลเลย จะดีขึ้นเยอะถ้าให้นักออกแบบเข้าไปช่วยในทุกๆ อย่างที่ต้องใช้กับคน ยกตัวอย่างเช่น ห้อง ICU ในโรงพยาบาล ไม่ใช่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้วช่างเถอะ เครื่องมืออีรุงตุงนังไปหมด ในห้องคือคนป่วย นอกห้องคือญาติคนป่วย เขามานั่งเข้าเฝ้า 10 กว่าชั่วโมงทุกวัน เขาอาจจะป่วยตาม เพราะฉะนั้นเวลาออกแบบห้อง ICU เราต้องออกแบบทั้งข้างในและข้างนอกพร้อมๆ กัน แล้วเวลาเข้าไปในห้อง ICU เราจะได้ยินเสียงดังจากเครื่องต่างๆ ตลอดเวลา ทำไมเราไม่ลองหาวิศวกรสักคนหนึ่งมาเปลี่ยนเสียงความดัน เสียงการหายใจไปเป็นเสียงดนตรี ให้บรรยากาศภายในห้องดีขึ้น เวลาทุกคนหายใจ กลายเป็นเมโลดี้ เสียงดนตรี ถ้าเขาชอบหมอลำ ก็เป็นเสียงหมอลำ ถ้าเขาชอบแจ๊ส ก็เป็นเสียงดนตรีแจ๊ส อาจจะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นก็ได้นะ เพราะเขาชอบ แม้เขาดูเหมือนไม่รู้สึกตัว จิตใต้สำนึกเขาอาจได้ยิน ถ้าเขาชอบแจ๊สมาตลอดชีวิต ลองเปลี่ยนให้เสียงหัวใจเขากลายเป็นดนตรีแจ๊ส อาจจะทำให้ healing process เขาดีขึ้นด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำในอนาคต ผมอยากเอานักออกแบบเข้าไปช่วยทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ทั้งเรื่องทางกายภาพและอารมณ์ความรู้สึก

Q: แล้วอุปสรรคในการแก้ปัญหาข้างต้นคืออะไร?

A: การที่ดีไซเนอร์จะได้เข้าไปทำอะไรในโรงพยาบาล หรือในโครงการฯ ลักษณะนี้ยังยาก และมีนักออกแบบน้อยมากที่เข้ามาทำ น้อยมากแบบแทบจะไม่มี หมอเองก็ไม่นึกถึงดีไซเนอร์ ดีไซเนอร์ก็ไม่คิดถึงโรงพยาบาล โอกาสเจอกันน้อย แต่ผมเห็นชัดว่า นี่คือโอกาสที่นักออกแบบสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ ตอนนี้เริ่มมีโรงพยาบาลเยอะขึ้นที่สนใจ ต่อไปผมอยากให้อีก 9 โรงพยาบาลในเครือของสำนักการแพทย์ นอกจากโรงพยาบาลกลางที่เป็นโครงการนำร่อง นำไปขยายผล นอกจากโรงพยาบาลของสำนักการแพทย์ ก็จะมีโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งเป็นเอกชนที่เริ่มสนใจ โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เมื่อเขาสนใจ เขาจะติดต่อดีไซเนอร์ ทั้งนี้ทั้งนั้น ดีไซเนอร์เองต้องกล้านิดหนึ่ง ไม่ต้องไปมองว่าโรงพยาบาลเป็นดินแดนที่ไม่น่าเข้าหา

Q: ตอนนี้มีดีไซเนอร์หรือสถาปนิกที่สนใจงานด้านโรงพยาบาลเยอะขึ้นไหมคะ?

A: ยังไม่อยู่ในเรดาร์ของนักออกแบบส่วนใหญ่นะครับ เราต้องมาช่วยกันเพื่อให้ดีไซเนอร์เข้าไปเห็นว่าโรงพยาบาลเป็นศูนย์บ่มเพาะนวัตกรรม ตอนนี้เราเองต้องซื้อของจากต่างชาติเยอะ แม้แต่ถังขยะพลาสติกสำหรับใส่เข็มฉีดยา ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเลย ผมยังเคยคิดเลยว่าเราน่าจะตั้งออฟฟิศเล็กๆ แล้วไปนั่งฟังหมอและพยาบาลบ่น เพราะสิ่งที่เขาบ่นคือช่องว่างที่ยังไม่ถูกแก้ไข เขาเจอปัญหาทุกวัน ให้เขาบ่นแล้วเราจดไว้ แล้วเราก็ตีพิมพ์ Book of Innovative Idea for Healthcare ที่จะรวบรวมนวัตกรรมความคิดเพื่อการพยาบาลแล้วสามารถส่งต่อให้ดีไซเนอร์ไปพัฒนาต่อไปได้อีกมากเลยทีเดียว

Q: ในฐานะที่อาจารย์ทั้งสอนและทำงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม สุขภาพ คน และสังคมมาตลอด อะไรที่อาจารย์อยากจะบอกกับคนในแวดวงออกแบบเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งข้างต้นนี้บ้าง?

A: ผมคิดว่าในอนาคตเรารู้ว่าประชากรเด็กจะมีน้อยกว่าผู้ใหญ่แน่ๆ นั่นหมายความว่า healthcare เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นตลาดที่ใหญ่มาก นี่เป็นสิ่งที่เขาต้องตระหนักว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปีหน้าคนแก่จะเต็มเมือง อย่างผมยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาตั้ง 4-5 ปี เพราะฉะนั้นในอีก 10 ปีแน่ๆ เราจะเห็นคนสูงอายุเต็มเมือง ทำไมเราไม่ใช้เวลาระหว่างนี้ในการรวมรวบข้อมูล ระดมความคิด เรียนรู้ถึงสถานการณ์ พัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เมื่อเราถึงจุดที่สังคมต้องดูแลเรื่องสุขภาวะมากๆ เราจะเป็นคนที่ทำได้เร็ว ผมอยากจะปรับหลักสูตรการออกแบบของมหาวิทยาลัยด้วย อยากให้เพิ่มหลักสูตร Design for Aging Population และ Design for Healthcare เพราะสิ่งแวดล้อมและสังคมโทรมลงมาก มลพิษก็มาก ซึ่งจะทำให้ทุกคนจะหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น คนเรากลัวตายก็จะหาทางยื้อ เราจะเห็นเลยว่าตอนนี้มีวิตามินเสริม หุ่นยนต์ดูดฝุ่น รองเท้ากีฬาที่ลดแรงกระแทก ทุกอย่างพิเศษไปหมดเพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้น

Q: สำหรับประเทศไทยเอง ทิศทางของการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุไปถึงไหนแล้ว?

A: ที่ผมเห็นคือ ตอนนี้ภาคเอกชนเตรียมพร้อมมากกว่า ก็จะเห็นว่ามีศูนย์ที่ BDMS เพิ่งจะเปิด ศูนย์ดูแลพักฟื้นของประเทศเนเธอร์แลนด์ก็มาเปิดที่เชียงใหม่ หรือโครงการพัฒนาหมู่บ้านเพื่อผู้สูงอายุ คอนโดมิเนียมที่ตอบสนองผู้สูงอายุ แนวคิดเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มทำไปแล้ว ขณะที่ของใช้ที่จะไปเสริมภายในยังไม่ค่อยมี สำหรับภาครัฐเอง ถ้าหากเป็นผม ผมคงจะลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพและการสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ healthcare แน่ๆ เพราะสำคัญมาก ตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราไม่ได้สู้รบอะไรกับใครแน่ๆ แต่ที่เราต้องเตรียมพร้อมคือรับมือกับจำนวนผู้สูงอายุในอนาคต จะดูแลเขาอย่างไร นี่เป็นเรื่อง National Security เหมือนกัน การสร้างนวัตกรรมตรงนี้จะนำไปสู่อิมแพ็คที่มหาศาล วิธีการวางกลยุทธ์ของประเทศ ที่ผ่านมาเราไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขว่าอะไรสำคัญมากกว่าแล้วจัดสรรกำลังและงบประมาณเพื่อพัฒนาจุดนั้นให้แข็งแกร่ง สำหรับผม ในฐานะของคนที่อยู่ในแวดวงออกแบบและสถาปัตยกรรม ผมเห็นช่องว่างตรงนี้ที่ดีไซเนอร์สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้อย่างมาก แต่เราก็ต้องช่วยดีไซเนอร์เหมือนกัน เพราะดีไซเนอร์ก็ไม่ได้ถูกเทรนให้มองเรื่องอะไรแบบนี้ แต่สิ่งที่ผมเชื่อคือ ถ้าเปิดโอกาส เขาสามารถทำได้แน่นอน

Q: อาจารย์มีโปรแกรมหรือโครงการที่จะนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมเหล่านี้ไหมคะ?

A: ตอนนี้ผมตั้งศูนย์นวัตกรรมใหม่ขึ้นมาชื่อ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) อยู่บนถนนราชดำริ ผมพยายามจะตั้งศูนย์ฯ ลักษณะนี้ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตั้งแต่ 6-7 ปีก่อน แต่ว่าปัญหาของระบบราชการมีเยอะและขาดงบประมาณ ตอนนี้มีองค์กรที่ใส่ใจด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสนับสนุนแล้ว ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าว จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและต่างประเทศ ร่วมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อมาร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะเปิดปลายปี 2017 นี้ ผมตื่นเต้นที่จะทำมาก ผมไม่อยากเกษียณไปพร้อมๆ กับความรู้สึกว่านี่เราไม่ได้ทำอะไรไว้ให้เกิดการต่อยอดงานนวัตกรรมเลย สอนอย่างเดียวไม่น่าจะสร้างมนุษย์พันธ์ใหม่ได้ ก็เลยคิดว่า เอาล่ะ เราทำศูนย์ฯ นี้ทิ้งไว้และให้มีคนรับช่วงต่อ ผมเองก็จะรวบรวมทุกอย่างเอาไว้ให้ มีนักวิจัยสัก 30 คน ในช่วง 3 ปีแรก ก็แฮปปี้แล้ว แล้วให้ทีมงานไปขับเคลื่อนต่อ ตอนนี้ มีนักวิจัยหลายด้านทั้งนักชีววิทยา วิศวกร สถาปนิก และทีม robotic เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า robot ต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของงานก่อสร้างและการใช้ชีวิตประจำวัน ในช่วงนี้จะเป็นการพัฒนาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยก่อน แล้วจึงจะพัฒนาสู่นวัตกรรมที่ใกล้ชิดคนมากขึ้น มีแล็บที่ทดลองเกี่ยวกับวัสดุเพื่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม เราจะพยายามรวบรวมความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในศูนย์ฯ นี้ สถาปนิกหรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ สามารถมาเลือกใช้ได้ หวังว่านี่จะเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาทั้งอุตสาหกรรมได้

Q: อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้อาจารย์ไม่หยุดที่จะพัฒนางานด้านนี้ต่อไปเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดีขึ้น?

A: ตอนแรกผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นสถาปนิกที่โลกแคบมาก ก็คิดแค่ว่าออกแบบสถาปัตยกรรม ต้องดูดี ต้องใช้พลังงานแต่น้อย ใช้แสงสว่างธรรมชาติ ดูทิศทางลม แล้วพอเริ่มนำขยะกลับมาพัฒนาเป็นวัสดุก่อสร้างและสินค้าต่างๆ โลกเริ่มกวางขึ้น ตอนนี้ทำเรื่อง well-being โลกกว้างมากเลยนะ สนุกมากที่ว่าหันซ้ายก็มีเรื่องตื่นเต้น หันขวาก็มีเรื่องตื่นเต้น กลายเป็นว่าเราได้อยู่ในโลกที่เราเห็นช่องว่าง เห็นปัญหา เห็นการหาทางออก แล้วก็ลงมือทำ ทำให้รู้สึกว่าตื่นมาทุกวันแล้วมีพลัง ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้อะไรในเชิงรายได้ เพราะเราไม่ได้คิดประเด็นนั้น แต่สุดท้ายก็ได้ ผมต้องยอมรับว่าตอนเริ่ม เริ่มด้วยความสนุก และผมเหมือนเด็กสปอยล์ ถ้าไม่สนุกก็ไม่ทำ หรือถ้าสนุกแต่ไม่มีประโยชน์ไม่ทำเหมือนกัน ตอนนี้ผมทำเรื่อง well-being ซึ่งสนุกและมีประโยชน์มากสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ทำให้ยิ่งหยุดไม่ได้ไปกันใหญ่ เพราะทุกอย่างดีไปหมด แล้วเจอใคร เขาก็เป็นมิตรเพราะเรากำลังช่วยเขา หลายคนมักบอกว่าเวลาช่วยคนที่มีปัญหา ส่วนใหญ่เราไม่ได้อะไรหรอก แต่เอาเข้าจริง เราได้กลับมาในรูปแบบที่หลากหลายมาก เกิดเครือข่ายที่ดี เมื่อเราเจอปัญหา ก็มีคนให้ความช่วยเหลือตลอด หรือแม้แต่เงินทุนที่เข้ามา นี่คงจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมยังอยู่ตรงนี้ จริงๆ ไม่ใช่ว่ายังอยู่หรอก เพราะทุกคนอยู่ในโลกของ well-being แต่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง ผมแค่นั่งทำ ยืนทำ นอนทำ วิ่งทำ (หัวเราะ)


Q: สำหรับนักออกแบบ รวมไปถึงคนทั่วๆ ไปที่จริงๆ แล้วพวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศ ให้เมือง ให้ชุมชนที่เขาอยู่ดีขึ้น แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร อาจารย์จะแนะนำพวกเขาอย่างไร?

A: จะเริ่มอย่างไรเป็นจุดที่ยากที่สุด ผมไม่รู้ว่าจะบอกเขาอย่างไรเหมือนกันนะครับ แต่สำหรับตัวผมเอง ผมเริ่มจากการเห็นปัญหาของอาชีพตัวเอง ผมเป็นสถาปนิก ผมเห็นปัญหาว่า โอ้โห ทุกวัน รถ 6 ล้อ รถ 10 ล้อ ขนขยะไปทิ้ง บางทีแอบทิ้งตามตรอกซอกซอย ตามที่ดินรกร้างของคนอื่น เลยเริ่มแก้ปัญหาตรงนั้น ผมไม่ได้คิดที่จะไปแก้ปัญหาที่ขั้วโลกเหนือ หมีขาว ไม่ใช่นะ ผมแก้ปัญหาตรงนี้แหละที่เราสร้างขึ้นนี่แหละ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าทุกคนสามารถเริ่มได้จากอาชีพตัวเอง จากความถนัดของตัวเอง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุด หากคุณเป็นช่างเย็บผ้า อาจจะเริ่มจากการนำเศษผ้ากลับมาเย็บเป็นสินค้า พัฒนานวัตกรรมหรือการออกแบบ ถ้าเป็นตากล้องอาจจะเริ่มโปรโมทสิ่งที่ไปเห็นมา แล้วทำให้คนเริ่มเกิดความตระหนัก เริ่มเกิดแรงกระตุ้นด้วยกัน เราอาจเริ่มด้วยการโฟกัสเป็นเรื่องๆ เช่น เดือนนี้เราอยากให้คนช่วยแก้ปัญหาเรื่องผู้พิการ ก็ลองเริ่มพัฒนาแนวทางให้คนหันมาให้ความสนใจ ผมคิดว่าทุกอาชีพมีโอกาสที่จะทำได้ การทำดีนอกจากจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับตัวเองด้วยนะ ‘It is a power of kindness.’ ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์และประโยชน์มหาศาล

ภาพ: Karn Tantiwitayapitak, Scrap Lab
อ้างอิง: Scrap Lab


Tags

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles

Next Read