‘โอปิออยด์’ ยาแก้ปวดเพชรฆาต ฆ่ามาแล้วเฉลี่ย 22,000 ชีวิตต่อปี

“ยามีคุณอนันต์ โทษมหันต์” เป็นคำกล่าวที่ไม่เคยผิด ยาบางชนิดช่วยชีวิตคนได้ แต่ก็คร่าชีวิตคนได้เช่นเดียวกันหากใช้เกินจำเป็น เช่น กลุ่มยาโอปิออยด์ ที่ดับชีวิตผู้ใช้ในอมริกาไปแล้วปีละเป็นหมื่นๆ ราย

ยาโอปิออยด์ (Opioid) เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมอร์ฟีน (Morphine) การออกฤทธิ์ของสารโอปิออยด์จะมีผลต่อสมอง ระบบประสาทส่วนปลายของร่างกาย และระบบทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหารลำไส้ การแพทย์ได้ระบุให้สารกลุ่มโอปิออยด์เป็นยาแก้ปวดทำให้ร่างกายสามารถทนต่ออาการปวดได้ดีมากขึ้น โดยยานี้จะทำให้เกิดอาการสงบประสาท ทำให้ประสาทผ่อนคลาย  รู้สึกเคลิบเคลิ้ม การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์จีงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น เพราะข้อพึงระวังที่สำคัญคือ การติดยา ซึ่งเมื่อใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์มากเกินไปจนเกิดอาการเสพติดจะทำให้เกิดภาวะกดการหายใจ หัวใจเต้นช้าลง หรืออาจช็อคได้

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริการายงานว่า ในปี ค.ศ. 2017 ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด เฉลี่ยปีละ 22,000 ราย!! จนเรียกว่า ยาประเภทนี้เป็นนักฆ่ารายวันก็ไม่ผิด

National Safety Council สหรัฐอเมริกา ต้องการให้ชาวอเมริกันตระหนักถึงโทษของการใช้ยาโอปิออยด์เกินขนาด จึงผุดแคมเปญ Stop Everyday Killers ในคอนเซปต์ว่า โอปิออยด์ ไม่ใช่แค่ยา แต่คือใบหน้าของผู้สูญเสียชีวิตและมันถึงเวลาแล้วที่เราจะมองปัญหาให้ใกล้ขึ้น โดยแคมเปญถูกจัดขึ้นมาในลักษณะของนิทรรศการอินเตอร์แอคทีฟ ชื่อว่า Prescribed to Death  ประกอบด้วยสามห้อง แต่ละห้องมีกำแพงอนุสรณ์แห่งความสูญเสียของผู้ที่เสียชีวิตจากการใช้ยาโอปิออยด์เกินขนาด และในแต่ละเม็ดของยาโอปิออยด์ 22,000 เม็ด แกะสลักใบหน้าผู้เสียชีวิตทั้งหมด 22,000 คน แสดงจำนวนคนเสียชีวิตต่อปี แต่ละเม็ดบันทึกเรื่องราวของผู้เสียชีวิตแต่ละคนอย่างน่าสะเทือนใจ ตัวอย่างเช่น อาวี พ่อของเด็กหนุ่มผู้เสียชีวิตจากการกินยาประเภทนี้จนเสพติด โดยที่อาวีไม่ได้ตระหนักถึงภัยของมันมาก่อน กว่าจะรู้ก็ถึงวันที่ลูกชายหมดลมหายใจในอ้อมกอดของเขาเสียแล้ว หากต้องการชมคลิปสตอรี่จากพวกเขาเหล่านี้ สามารถเข้าชมได้ในเว็บไซต์ Stope Eeryday Killers

แคมเปญนี้ยังต้องการให้ชาวอเมริกันใส่ใจกับใบสั่งจากแพทย์ เพราะ 4 ใน 5 ของใบสั่งยาในอเมริกาจะมียาในกลุ่มโอปิออยด์ประกอบ และยังเรียกร้องให้มีการติดคำเตือนบนฉลากยาแก้ไขคำเตือนบนใบสั่งแพทย์ว่ามียากลุ่มโอปิออยด์ประกอบอยู่ และระบุชัดเจนว่าการใช้ยาในทางที่ผิดและการเสพติดอาจเกิดขึ้นได้  แม้จะใช้ตามขนาดยาที่แนะนำ และยังอาจก่อให้เกิดการได้รับยาเกินขนาดและเสียชีวิตได้

ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ มอร์ฟีน (morphine), บิวพรีนอร์ฟีน (buprenorphine), เฟนทานิล (fentanyl), เมทาโดน (methadone), เฮโรอีน (heroin) เป็นต้น และถ้าหากอยากทราบว่ายาในกลุ่มโอปิออยด์ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีอะไรบ้าง สามารถดูได้ที่นี่ 

ได้ใบสั่งยาจากแพทย์ทุกครั้ง สอบถามเสียหน่อยก็ดีว่ามีกลุ่มยาประเภทนี้หรือไม่ หากจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องระมัดระวังไม่กินยาเกินตามแพทย์สั่ง เพราะเทียบค่าของมันเท่ากับสารเสพติด

รู้เรื่องนี้แล้วเตือนตัวเอง เตือนคนที่คุณรัก เตือนเพื่อน เพราะเราคงไม่อยากเห็นใบหน้าของพวกเขาถูกสลักบนเม็ดยานักฆ่าเป็นรายต่อไปอย่างแน่นอน

อ้างอิง :  Haarmor,  Stop Everyday Killers, Adweek 

จงจิตร สมิทธิ์

Head of Creative บริษัท Far East Fame Line DDB มีความเชื่อว่างานโฆษณาที่ดีใช้แค่ Creativity ไม่พอ แต่ต้องใช้ Humankind Creativity ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตสังคมและโลกไปในทางที่ดีขึ้นด้วย

See all articles