Throwise เกมทิ้งขยะสำหรับเด็กประถมในแคนาดา ปลูกฝังการแก้ปัญหาขยะล้นโลก

รายงานจากธนาคารโลกเผยว่า ในอีกหกปีข้างหน้า (ปี 2025) ปริมาณขยะมูลฝอยของโลกเราจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เป็นการคาดการณ์ที่ไม่น่าจะพลิกโผ เพราะเท่าที่เห็นทุกวันนี้เรากิน เราใช้ เราบริโภค แล้วเราก็ทิ้งกันอย่างง่ายดายเหลือเกิน ยิ่งเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่มากมายตามไปด้วย ทุกครั้งที่เราซื้อของชิ้นใหม่ นั่นหมายถึง เราสร้างขยะชิ้นใหม่ขึ้นมาทันที

ปัจจุบัน แม้ทั่วโลกจะเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น แต่ก็อาจจะยังน้อยไป ไม่หนักแน่นพอ หรืออาจจะโฟกัสผิดเป้า ตัวอย่างเช่น หลักการ 3R – Reduce/ Reuse/ Recycle ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้น บางทีเราก็มักจะไปให้น้ำหนักกับ Reuse กับ Recycle กันมาก ซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายทาง (คือขยะได้เกิดขึ้นแล้ว) แต่อาจลืมไปว่าเจ้า Reduce ต่างหาก ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ‘ไม่สร้างขยะ’ เสียตั้งแต่แรกนั่นเอง

และนี่ก็เป็นแกนความคิดหลักของ Throwise แคมเปญจัดการขยะรูปแบบใหม่ ผลงานของนักศึกษาด้าน Industrial Design จากประเทศแคนาดา

Throwise มาในรูปแบบของเกมทิ้งขยะที่ได้แรงบันดาลใจจากแนวคิด ‘pay as you throw’ (ทิ้งเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น) เด็กนักเรียนจะได้รับเหรียญที่เรียกว่า Ren ซึ่งเป็นสกุลเงินสำหรับเกมนี้โดยเฉพาะ ทุกครั้งที่ทิ้งลงในถังขยะดิจิทัลของ Throwise เด็กๆ จะต้องจ่ายเงิน Ren ในจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของขยะ เช่น ขยะทั่วไปจ่าย 3 Ren ขยะรีไซเคิลจ่าย 2 Ren ขยะอินทรีย์จ่าย 1 Ren นักเรียนจากชั้นเดียวกันจะได้เหรียญสีเดียวกัน วิธีการแข่งกันไม่ได้อยู่ที่ใครทิ้งขยะได้มากกว่ากัน แต่อยู่ที่ว่าใครเหลือเหรียญมากกว่ากัน เพราะนั่นหมายถึงการทิ้งขยะน้อยกว่า (ทิ้งน้อยก็แปลว่าผลิตขยะน้อย = Reduce) และผู้ชนะก็จะได้รับรางวัลพิเศษ

เพื่อให้นักเรียนรู้สึกสนุกสนานและมีส่วนร่วม ดีไซเนอร์ออกแบบหน้าจอดิจิตัลบนถังขยะให้นักเรียนสามารถติดตามคะแนนของพวกเขา และถังขยะนี้มีความโปร่งใสเพื่อให้เห็นว่าขยะที่พวกเขาทิ้งมีอะไรบ้าง โดยจะถูกวางไว้ตามมุมต่างๆ ของโรงเรียน เช่น ห้องโถง โรงอาหาร หรือห้องสมุด ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้โรงเรียนสามารถตรวจสอบได้ว่าถังขยะแบบไหนที่นักเรียนใช้บ่อยที่สุด ขยะประเภทไหนที่มีเยอะที่สุดในโรงเรียน

เป้าหมายหลักของ Throwise คือการทำให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้ตระหนักและตื่นตัวกับการคิดให้ดีก่อนใช้และทิ้ง เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมลดขยะตั้งแต่ยังเด็ก จะได้ติดตัวเป็นนิสัยไปจนโต

https://www.youtube.com/watch?time_continue=61&v=UreuX5wXSOk

 

 

อ้างอิง: Throwise 

Tags

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles

Next Read