เมื่อพูดถึง ศิลปะบนฝาท่อ (art on manhole cover) หลายคนน่าจะนึกถึงญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก เพราะที่แดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้เริ่มมีการสร้างสรรค์ศิลปะบนฝาท่อมาตั้งแต่ปี 1977 และในปัจจุบัน ตามท้องถนนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศก็มีศิลปะบนฝาท่อที่แสดงถึงเรื่องราวอัตลักษณ์ของภูมิภาคนั้นๆ ได้อย่างประณีตสวยงาม จนนักท่องเที่ยวหลายคนเลือกเดินทางไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อที่จะทำความรู้จักศิลปะบนฝาท่อเหล่านี้
แต่นอกเหนือจากญี่ปุ่นแล้ว อีกหลายเมืองทั่วโลกก็มีศิลปะบนฝาท่อระบายน้ำที่สวยคลาสสิกไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น บูดาเปสต์ (ฮังการี) แวนคูเวอร์ (แคนาดา) เบอร์ลิน (เยอรมนี) และศิลปะฝาท่อที่ไปไกลถึงขั้นเป็นประติมากรรมรูปเจ้าหน้าที่บำบัดน้ำเสียที่โผล่ขึ้นจากพื้นเกือบครึ่งตัว ก็พบได้ที่เมืองบราติสลาวา สโลวาเกีย หรือแม้แต่จังหวัดลำปางของเราเอง ถ้าใครช่างสังเกตสักหน่อย ก็น่าจะเคยเห็นศิลปะบนฝาท่อบางแห่งเป็นรูปรถม้าที่ทำออกมาได้อย่างงดงามคลาสสิก
ล่าสุด อีกจังหวัดในประเทศไทยที่เริ่มมีศิลปะบนฝาท่อให้เห็นแล้วก็คือ ‘กรุงเทพมหานคร’ ของเรานี่เอง โดยบริเวณแรกที่พบศิลปะบนฝาท่อก็คือบริเวณเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงตลาดโบ๊เบ๊ ฝาท่อเหล่านี้อยู่ในลวดลายที่แสดงถึงเรื่องราวและประวัติความเป็นมาในย่านดังกล่าว เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง วิถีชีวิตริมคลองสมัยก่อน และตลาดโบ๊เบ๊ เป็นต้น
ศิลปะบนฝาท่อในบริเวณเลียบคลองผดุงกรุงเกษมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงทัศนียภาพกรุงเทพฯ ของกทม. โดยเมื่อทำเสร็จครบทั้งโครงการก็จะกินพื้นที่ในย่านสำคัญอื่นๆ อีก เช่น ตลาดน้อย วงเวียน 22 โรงเรียนเทพศิรินทร์ สวนมะลิ นางเลิ้ง และเทเวศน์
ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว คงต้องบอกว่า ศิลปะบนฝาท่อในกรุงเทพฯ เท่าที่เห็นนี้ยังสวยคลาสสิกสู้ในญี่ปุ่น ลำปาง หรือประเทศอื่นๆ ไม่ได้ ส่วนหนึ่งคงเพราะฝาท่อส่วนมากใช้การเพนต์สีเป็นลวดลายลงไป ไม่ได้หล่อตัวฝาขึ้นมาใหม่และออกแบบให้มีลวดลายอยู่ในนั้น
อย่างไรก็ดี นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความแข็งแรงของฝาท่อที่ต้องป้องกันไม่ให้คนเดินเท้าตกลงไปหรือว่าลื่นไถล และอย่างน้อย เมื่อฝาท่อมีลวดลายสีสันสะดุดตามากขึ้น ก็นับเป็นการเติมสีสันความสดใสให้กับเมือง ส่วนในอนาคตก็ไม่แน่ เราอาจได้เห็นพัฒนาของศิลปะบนฝาท่อในกรุงเทพฯ ไปไกลกว่าตอนนี้ก็เป็นได้
ภาพถ่าย: สาโรช พระวงค์
ข้อมูลบางส่วนจาก: outlook.com