Cosine Kids Clock ช่วยสอนเด็กเล็กดูนาฬิกา ช่วยเสริมทักษะสมองด้าน EF

การสอนให้เด็กเล็กๆ บอกเวลาเป็นผ่านการดูเข็มนาฬิกานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ในความเป็นจริง เด็กมักมีความเข้าใจต่อเรื่องราวต่างๆ ได้ช้าเร็วต่างกันเป็นเรื่องปกติ (ซึ่งไม่เกี่ยวว่าใครฉลาดมากหรือน้อยกว่ากัน) เด็กบางคนอาจดูนาฬิกาได้เร็ว บางคนได้ช้า ถ้าเรารอไหว–ไม่ใจร้อน (ค่อยๆ สอนไป) ต้องมีวันหนึ่งที่เขาจะทำได้ในที่สุด แต่ถ้ารอไม่ได้ด้วยความจำเป็นบางอย่าง อาทิ ต้องทำข้อสอบที่โรงเรียน หรือต้องเอาไปแข่งกับลูกเพื่อนบ้าน (ฮา) อาจต้องใช้ตัวช่วยกันสักหน่อย ซึ่งแต่ละบ้านต้องหาสูตรของตัวเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวและปัจจัยแวดล้อมที่ต่างกัน

นาฬิกาของแบรนด์ Cosine จากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี ด้วยคุณสมบัติสำคัญ 4 ประการ

เริ่มที่ 1) สีของเข็มสั้นและเข็มยาวต่างกัน ทำให้แยกแยะง่ายไม่สับสน 2) ไม่มีเข็มวินาทีมากวนให้งง เพราะปกติเข็มวินาทีมักดูคล้ายกับเข็มชั่วโมง จนเด็กสับสน 3) มีตัวเลขที่บวกเพิ่มทีละ 5 กำกับอยู่ที่ตัวเลขบอกเวลา 1-12 เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างชั่วโมงกับนาที  4) จุดเด่นที่เลข 8 เน้นสีแตกต่าง เพื่อช่วยให้เด็กเห็นภาพแนวคิดเรื่องเวลา (1 วันมี 24 ชั่วโมง แบ่งครึ่งเป็นกลางวันกลางคืน) เลข 8 ในตอนเช้าคือเวลาที่เด็กไปโรงเรียน ส่วนเลข 8 ในตอนกลางคืนคือเวลาที่เด็กต้องเข้านอน (เลขเดียวกัน วนมาใหม่ แต่เวลาต่างไป)

นาฬิกาเรือนนี้ใช้วัสดุที่ทำจากไม้ ดีไซน์เรียบง่ายไม่หวือหวา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Cosine ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1988 ด้วยแรงบันดาลใจของช่างฝีมือ 4 คนที่อยากจะใช้ทุกชิ้นส่วนของต้นไม้ให้คุ้มค่าที่สุด เศษไม้จากการทำเฟอร์นิเจอร์จึงถูกออกแบบสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และของแต่งบ้านต่างๆ ‘การใช้ต้นไม้อย่างระมัดระวัง‘ คือแนวคิดที่ Cosine ยึดถือมาตลอด 25 ปี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของงานออกแบบที่ ‘น้อยแต่มาก’ สไตล์ญี่ปุ่นจริงๆ

ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในการสอนลูกดูนาฬิกาก็ใช้หลักการ เพิ่มทีละ 5 เหมือนของ Cosine คือถ้าสอนให้ลูกสามารถบวกเลขทีละ 5 ไปจนถึง 60 ได้ หรือท่องสูตรคูณแม่ 5 ได้เมื่อไหร่ จะช่วยให้การบอกเข็มนาทีง่ายขึ้นมาก แต่นาฬิกาทั่วไปมักจะมีตัวเลขแค่ 1-12 ซึ่งทำให้การเห็นภาพว่า 1 ชั่วโมงมี 60 นาทีค่อนข้างซับซ้อนสักหน่อย ต้องใช้ทักษะด้านความจำและการยืดหยุ่นความคิดควบคู่กันไปด้วย

การสอนให้ลูกดูนาฬิกานอกจากจะได้ประโยชน์โดยตรง คือ ลูกดูนาฬิกาเป็น ยังมีประโยชน์แฝงคือการฝึกทักษะสมองด้าน EF (Executive Functions) ซึ่งนักวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยกำลังตื่นตัวอย่างมาก เพราะเชื่อว่าเป็นทักษะที่จะช่วยให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตได้ (ไม่ใช่แค่มีสมองดี ไอคิวดีเพียงอย่างเดียว)

EF เป็นทักษะที่เกี่ยวกับ สมองส่วนหน้า ที่ช่วยควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา ประกอบด้วย 1. ทักษะความจำ (Working Memory) 2. ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) 3. ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) 4. ทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus) 5. การควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) 6. การประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) 7. การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) 8. การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) และ 9. การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) ซึ่งช่วงวัย 3-6 ปีเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้ามีการพัฒนาและเติบโตมากที่สุด จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในกา่รฝึกทักษะ EF นี้ (ข้อมูลจากรศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล)

ถึงแม้ยุคนี้จะมีนาฬิกาดิจิทัลที่บอกเวลาได้ง่ายและรวดเร็ว แต่การที่เด็กๆ ได้ผ่านประสบการณ์การดูเวลาจากเข็มนาฬิกา ทำให้ได้ฝึกบวกลบคูณหาร ฝึกความจำ มีการตั้งเป้าหมาย ริเริ่มลงมือทำ ควบคุมตัวเองในยามที่หงุดหงิดว่าทำไม่ได้สักที แต่แล้วก็อดทนจนทำสำเร็จ กระบวนการเหล่านี้ล้วนมีความหมายต่อสมองของพวกเขาและเป็นต้นทุนความสำเร็จที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย แต่ฝึกฝนจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันนี่เอง

 

อ้างอิง: www.cosine.com

Tags

วนัทยา มงคล

อดีตกองบก.นิตยสาร GM Plus และ DDT ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักแปลอิสระ ชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี และความคิดสร้างสรรค์ทุกชนิดที่มีประโยชน์ต่อโลก

See all articles

Next Read