เอกลักญ กรรณศรณ์ แห่ง BrandThink จากคอนเทนต์ ‘เล่าเรื่อง’ สู่เรื่องราวที่ก่อให้เกิด ‘การลงมือทำ’

ในยุคที่คอนเทนต์ออนไลน์เพิ่งตั้งไข่ เวลานั้นยังมีสื่อน้อยรายที่เน้นการสื่อสารด้วยภาพเคลื่อนไหวแบบที่ “BrandThink” ทำ แพลตฟอร์มดังกล่าวจึงเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ตัดถนนสายใหม่ให้แก่วงการสื่อในยุคนั้น ด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบ craft visual video จากยอดไลก์เพียง 21 ไลก์ในเทปแรก เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ได้นำพา BrandThink ก้าวไปสู่การเป็นที่รู้จักในฐานะสื่อน้ำดีที่มีจุดเด่นคือการเล่าเรื่องแบบสารคดี และการทำงานที่ให้ความสำคัญไปกับรายละเอียดแบบทุกเม็ด โดยมีคำว่า “คุณภาพ” และ “ประโยชน์” เป็นเป้าหมายที่ตีคู่กันมาติดๆ

เรื่องราวของเขาและ BrandThink มีเรื่องน่าตื่นเต้นและหวาดเสียวอยู่หลายหน ตั้งแต่การตัดสินใจขยายปีกธุรกิจออกมาจากงานหลักอย่างโพรดักชันเฮาส์ในนาม DIR4 สู่งานในสายมีเดียที่เริ่มต้นกันแบบติดลบ หรือการนำทัพฝ่ากระแสดิจิทัลดิสรัปชันเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ทำให้ปลายท่อของอุตสาหกรรมโฆษณาและการค้าอย่างโพรดักชันเฮาส์ของเขาเองก็ได้รับผลกระทบแบบถ้วนหน้า จนมาถึงวิกฤต COVID-19 ที่กิจการจำนวนไม่น้อยต้องหยุดชะงัก เมื่อหลายธุรกิจต้นน้ำเข้าสู่ภาวะจำศีล บทสัมภาษณ์นี้ เราเลยชวนเอกลักญมานั่งคุยกันถึงเรื่องราวของเขาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลว และการฟื้นขึ้นใหม่

ก้าวที่ 0 ของ BrandThink

เอกลักญตั้งโพรดักชันเฮาส์ชื่อ DIR4 ขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน จนย่างเข้าสู่ปีที่ 8 เขาและทีมงานเริ่มมองหาความท้าทายใหม่ๆ นอกเหนือไปจากงานในสายโฆษณา เขาจึงหยุดทำงานในฐานะผู้กำกับโฆษณาอยู่ 1 ปีเต็ม โดยให้บริษัทลองรันธุรกิจไปด้วยตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้พัก ไม่เพียงแต่จะทำให้รู้ว่า บริษัท DIR4 สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยระบบที่วางเอาไว้ แต่เอกลักญเองยังมีโอกาสได้รีเฟรชและตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขายังขาดอะไรและอยากทำอะไร และนั่นจึงเป็นของ BrandThink ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2560

“ที่ผ่านมาผมแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับธุรกิจเลย ก็ลองคิดว่า แล้วถ้าเราอยากรู้เรื่องธุรกิจให้ลึกซึ้งขึ้น เราจะทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่คิดตอนนั้นคืออยากทำคอนเทนต์เกี่ยวกับธุรกิจที่ดูง่ายๆ แบบที่ตื่นมาตอนเช้าแล้วสไลด์มือถือไปด้วยกินข้าวไปด้วย เราเลยวางแผน แล้วก็ทำ BrandThink ขึ้น”

การทำงานแบบไฮบริด

BrandThink เปิดตัวด้วยการนำเสนอความรู้ด้านธุรกิจพื้นฐานผ่านงานวิดีโอสัมภาษณ์นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ทำงาน high craft แบบงานโฆษณา ทว่าวิดีโอตัวแรกที่ลงกลับมีคนไลก์อยู่เพียง 21 คน

“ถามว่าโฆษณามีความยากไหม มันก็มี เพียงแต่ทีมงานทั้งหมดมาทางสายนี้ที่เราสามารถทำได้แบบเข้ามือและเข้าใจ แต่พอโดดมาทำเรื่องมีเดีย เรียกว่าเป็นอีกโลกหนึ่งเลย เพราะเราต้องทำงานให้ได้คุณภาพ ต้องคำนึงถึงความสนใจของคนดู เทรนด์ และความเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคนั้นด้วย

เทปแรกที่ออนไลน์เราใช้พลังงานคนเยอะมาก แม้ผลลัพธ์จะน้อย แต่ก็เกิดการเรียนรู้และเข้าใจเรื่องออนไลน์คอนเทนต์มากขึ้น ทำให้วิดีโอถัดๆ มาเรารู้แล้วว่าจะต้องปรับการทำงานอย่างไร เราเริ่มทำงานกันแบบกองโจร ด้วยจำนวนทีมงานที่ไม่เกิน 5 คน ค่อยๆ ย่นระยะเวลาทำงานให้น้อยลง ใช้วิธีคิดที่ลีนและมินิมอลมากขึ้น แล้วดึงเอาประสบการณ์ด้านการทำโฆษณาที่มีใส่เข้าไปเพื่อให้งานออกมากลมกล่อมและลงตัวขึ้น อย่างการใช้จังหวะในการตัดต่อ การถ่ายภาพ และใส่ดนตรีเพื่อให้คนดูสนุกและเพลิดเพลินแม้วิดีโอจะมีความยาว 5-10 นาที ทำให้วิดีโอของ BrandThink เองก็จะมีมุมมองในเรื่องการเล่าเรื่องแบบงานโฆษณา ซึ่งนั่นน่าจะเป็นความต่างของงานวิดีโอของ BrandThink เมื่อเทียบกับค่ายอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน”

จาก storytelling สู่ storydoing ที่ผลิตคอนเทนต์ขับเคลื่อนสังคม

“พอเราเป็นโพรดักท์ชันเฮาส์ที่โดดมาทำมีเดีย ทำให้เวลานั้น เราไม่มีคอนเน็กชันเลย ซึ่งด้วยความใหม่ เวลาติดต่อไปที่ใครก็ยังไม่มีคนรู้จักว่า BrandThink คือใคร ไม่รับนัด ไม่ให้เราไปถ่ายทำ ฉะนั้น จึงเกิดการปรับวิธีการทำงานขึ้นใหม่ เราหันมาโฟกัสเรื่องคนทั่วไปที่มีเรื่องราวอะไรบางอย่างที่เราชอบในธุรกิจของเขา การทำธุรกิจด้วยใจ เช่น ร้านขายข้าวกะเพรา 10 บาท เออ เขาขายได้อย่างไรนะ เราเลยตั้งแชนนัลขึ้นมาชื่อว่า “Heart Sale” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำธุรกิจเล็กๆ ที่ยังไม่มีคนรู้จักแต่มีวิธีคิดที่แปลกใหม่ ซึ่งตอนนั้นน่าจะก่อนคำว่า micro influencer ด้วยซ้ำ จนเทรนด์ในเรื่อง micro influencer มา ก็เลยกลายเป็นว่าคนเริ่มรู้จัก BrandThink มากขึ้น

แต่หลังจากที่ทำ BrandThink มาประมาณ 2 ปี ตัวผมและทีมเริ่มมาทบทวนกันว่า แม้เราจะเริ่มจากความอยากรู้เรื่องธุรกิจ แต่ว่าเราไม่ได้อยากจะทำเรื่องธุรกิจไปตลอด ก็คิดว่าเราจะปรับตัวเองอย่างไร ซึ่งชื่อของ BrandThink ก็สื่อไปในเรื่องของธุรกิจและคนก็เข้าใจไปแล้วว่าเราเป็นสื่อในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจ แต่เมื่อมาดูเนื้อหาที่เรานำเสนอ เราไม่ได้เล่าเรื่องธุรกิจแบบธุรกิจจ๋า แต่เราเล่าเรื่องคน แรงบันดาลใจ แพชชั่น สิ่งที่เขาทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเราก็ซึมซับและได้พลังจากคนเจ๋งๆ เหล่านั้น เราจึงเริ่มขยับจากจุดที่เคยเป็น storytelling ในฐานะสื่อไปสู่ storydoing ที่จะทำอย่างไรให้สื่อของเรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ประมาณปีที่แล้ว เราเลยเปลี่ยนงานบางโปรเจกต์ที่มีเป้าหมายแข็งแรงและสร้างให้เป็นแคมเปญขึ้นมา”

แคมเปญของ BrandThink จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ แบบแรกคือการดึงเอาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มาเจอกับกลุ่มคนระดับ micro influencer หรือ nano influencer แล้วทำเคมเปญบางอย่างขึ้นมา เป็นต้นว่า การชวนเชฟมืออาชีพมาจอยกับร้านอาหารริมทางเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องอาหาร เทคนิค การทำการตลาดต่างๆ และนำเสนอเป็นคอนเทนต์เชิงซีรีส์ที่แตกกิ่งไปสู่ชิ้นงานวิดีโอ งานเขียน พอดแคสต์ โฟโตสตอรี โดยตั้งเป้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้นหลังจากนั้น กับอีกโมเดลคือการทำแคมเปญจากสิ่งที่คนในทีม BrandThink เองมีความสนใจ จากนั้นก็ไปชวนคนที่อยู่ในแวดวงหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ เข้ามาร่วมทำโพรเจกต์ไปด้วยกัน ที่ผ่านมาเราเลยได้เห็นโครงการอย่างการทวงทางให้เท้าเดิน, โครงการที่นำเสนอประเด็น fast fashion รวมทั้งการทำงานร่วมกับทีมงาน Covid Relief Bangkok ด้วย

สภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

“การทำงานอยู่ในทีมที่มีคนหลายวัยอยู่ในนั้น ในประเด็นเดียวกัน เราจะมีโอกาสได้เห็นมุมมองของคนต่างช่วงอายุ หลากประสบการณ์ชีวิต ทำให้มีโอกาสในการ bounce กัน แลกเปลี่ยนในเชิงลึก จนเกิดเป็นการเรียนรู้ร่วมกันภายในองค์กร ซึ่งโอกาสในการพัฒนาตนเองแบบนี้เป็นสิ่งที่หายากนะ ขณะเดียวกัน เวลาที่ได้ฟังแนวคิดเจ๋งๆ จากคนต้นเรื่อง ก็เป็นอีกช่องทางที่ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง ถ้าเราไปดูคลิป 5 นาที 7 นาที เราอาจจะได้เห็นเพียงประเด็นที่ทีมงานเลือกเอาความน่าสนใจของพวกเขาเหล่านั้นมาเล่าให้ฟัง ขณะที่ผมและคนทำงานซึ่งอยู่กับคนเหล่านี้ในเวลาที่ยาว ก็จะได้เห็นมุมมองของพวกเขาในมิติที่ลึกและหลากหลาย นี่คือข้อดีที่ทำให้ผม รวมถึงทีมงาน BrandThink พัฒนาตัวเองได้จากงานตรงนี้ด้วย”

ท่ามกลางสงครามแห่งสื่อ พวกเราคือพันธมิตรกัน

“ถ้าพูดถึงทิศทางของเทรนด์ในเรื่องสื่อและความเป็นครีเอเตอร์ ในมุมของคนดูคนอ่าน ผมชอบและรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมาแล้วได้เห็นสื่อมากมายนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ทั้งกว้างและลึกมากกว่าอดีตที่ผ่านมา ส่วนในฐานะคนทำคอนเทนต์ ผมมองว่านี่เป็นข้อดีด้วยซ้ำว่า จำนวนและคุณภาพงานที่เพิ่มมากขึ้นได้ทำให้เราเองก็ต้องกลับมาเรียนรู้และทบทวนในสิ่งที่กำลังทำอยู่เพื่อพัฒนางานของเราให้ดีกว่าเดิม และ BrandThink เองก็ไม่ได้มองสื่ออื่นๆ ว่าเป็นคู่แข่ง แต่พวกเขาคือพาร์ทเนอร์ที่สามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้ บางทีแคมเปญ 1 ตัว ถ้าเราทำเองคนเดียวในแพลตฟอร์มที่มีคนตามจำนวนเท่านี้ สิ่งที่เรานำเสนออาจจะดังไปถึงจำนวนคนเท่านี้ แต่หากมีโอกาสได้จับมือกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ ที่มีความสนใจหรือถนัดในแบบเดียวกัน เราก็สามารถกระจายเรื่องดังกล่าวให้เกิดความตระหนักรู้ได้มากขึ้นและเกิดประโยชน์ที่กว่านั้นได้อีก”

ส่วนผสมที่ก่อให้เกิดคอนเทนต์ที่ดี

สำหรับเอกลักญ คำว่า “ดี” ในแง่ของคอนเทนต์นั้นมีเช็คพอยท์หลักๆ อยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือความสดใหม่ สองคือการเชื่อมโยงไปกับคนดู และสามคือการสร้างอิมแพคให้กับผู้รับสาร

“BrandThink เป็นคนทำคอนเทนต์ที่ไม่ใช่สำนักข่าว ดังนั้น หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เราจะไม่ได้รายงานแบบเรียลไทม์ ฉะนั้น ความสดใหม่ของเราจะต้องคิดในมุมที่ลึกและต่าง ดูว่าจะใช้มุมไหนในการเล่าเรื่อง ถัดมาคือสิ่งที่ทำตรงใจ เชื่อมโยง หรือเข้าถึงคนดูไหม และข้อที่สาม มันส่งผลกระทบต่อคนดูมากแค่ไหน ซึ่งองค์ประกอบหลังสุดมักจะขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้วิธีในการเล่าเรื่องอย่างไร เล่าผ่านภาพ 1 ภาพ บทความยาว วิดีโอ หรือเป็นแคมเปญถึงจะเหมาะ หรือวิธีการในการเล่าควรจะเล่าด้วยมู้ดและโทนแบบไหนที่จะเข้าถึงใจคนดูที่สุด ควรจะดึงเรื่องของอารมณ์นำหรือว่าควรจะเป็นการเล่าแบบตรงไปตรงมา จะทำแบบ do less for more ซึ่งเราต้องตั้งคำถามกับตัวเองให้ดีว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้มีองค์ประกอบเหล่านี้ครบถ้วนแล้วหรือยัง ผมมองว่ายุคนี้ คนทำคอนเทนต์จำนวนหนึ่งทำงานเพื่อที่จะตอบโจทย์คนอื่นก่อน เช่น การทำคอนเทนต์ที่คนดูน่าจะชอบ ทำให้ BrandThink เองต้องมีอีกเช็คพอยท์หนึ่งที่เราพยายามทำก็คือ สิ่งที่ทำกันอยู่ตอบโจทย์แพชชั่นของพวกเราไหม อยากทำจริงๆ ไหม และอยากทำเพราะอะไร โดยทุกภาคส่วนต้องเกิดประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนต้นเรื่อง แบรนด์ ลูกค้า คนดู และพวกเราเองด้วย”

ดีหรือไม่…วัดกันที่เจตนา

“สื่อที่ดีต้องเกิดจากคนทำที่ดี ซึ่งเราก็ต้องกลับไปที่เจตนาของคนทำว่าทำงานชิ้นนั้นด้วยเป้าหมายอะไร ผมว่ามันยากเหมือนกันในยุคสมัยนี้เวลาพูดว่าอะไรดีหรือไม่ดี เพราะมันมีหลายเช็คพอยท์ในการวัดผลเรื่องเรื่องหนึ่ง ซึ่งหากเราไม่เห็นด้วยกับเจตนาของเขา เราอาจจะบอกว่าเรื่องนี้ไม่ดี แต่ถ้าเราเห็นด้วยก็จะบอกว่า เฮ้ย เรื่องนี้ดีจังเลย เพราะฉะนั้น ดีหรือไม่ในความคิดผมจึงขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์และจรรยาบรรณของแต่ละคน เรามีเจตนาอย่างไร เราได้ระมัดระวังในเรื่องของเจตนาเรามากน้อยแค่ไหน เรานึกถึงความรู้สึกของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ไหม หรือหากคนที่เปราะบางกับบางประเด็น ถ้าเสพสื่อตรงนี้จะเกิดเรื่องเชิงลบหรือเปล่า เราต้องมีความเข้าอกเข้าใจคนดูในหลากหลายมิติ แสดงเจตนาที่คิดว่าเหมาะสม ไม่ได้ทำร้ายใคร แล้วก็เป็นประโยชน์จริงๆ ยิ่งในยุคสมัยที่ใครก็เข้าถึงสื่อได้ง่ายด้วยแล้ว เราก็ยิ่งต้องคิดแบบรอบด้านมากขึ้นไปอีก”

ฝันที่จะไปให้ถึง

“คำว่า ‘สำเร็จ’ ในมุมของ BrandThink มันคงจะเกิดขึ้นได้หากวันหนึ่งพวกเรามีโอกาสได้ทำหนังสักเรื่องที่เชื่อมโยงทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ของพวกเรา มันอาจจะไม่ได้เป็นหนังที่ขับเคลื่อนสังคมขนาดนั้น แต่ว่าอย่างน้อยจะเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ให้แง่คิดและส่งพลังให้แก่คนดูได้

ตอนเด็กๆ เวลาที่ผมเข้าโรงหนังและได้ดูหนังดีๆ สักเรื่องหนึ่ง แล้วความรู้สึกที่ยังติดอยู่แม้ตอนที่เดินออกจากโรงหนัง จนกระทั่งลงบันไดเลื่อนไปแล้วว่า “เรานี่โชคดีจริงๆ ที่มาเรียนด้านนี้ ได้ทำงานด้านนี้ รักงานด้านนี้ ไม่รู้จะมีสื่ออะไรที่จะมีพลังเท่ากับหนังที่เราดูอีกแล้ว” ซึ่งผมคิดว่าผมและ BrandThink คงจะรู้สึกถึงความสำเร็จในชีวิตหากวันหนึ่งพวกเราได้มีโอกาสทำหนังแบบนั้นสักเรื่อง หนังที่ส่งพลังให้กับใครสักคนตอนเดินลงบันไดเลื่อนเหมือนที่ผมเคยรู้สึก”

Create a Better “Tomorrow”

“ผมอยากให้ BrandThink เป็นสื่อที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อาจจะไม่ถึงกับเป็นพลังที่ใหญ่โต แต่เป็นหนึ่งในพลังที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงเรื่องบางเรื่องที่เราอยากจะขับเคลื่อนได้ ผมอยากจะยกระดับคอนเทนต์จาก ‘เรื่องเล่า’ แบบ storytelling ไปสู่ ‘เรื่องราวที่กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำ’ หรือ storydoing เพื่อสร้างการสื่อสารที่สามารถส่งต่อความคิดและเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้เราพยายามที่จะเป็น end to end content solution ให้มันอิมแพคได้ด้วยวิธีคิดแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ และจบงานทุกอย่างภายใต้ร่มของ BrandThink Corp. พร้อมๆ ไปกับการทำสื่อที่ทำให้คนอ่านและคนดูมีการพัฒนาแบบ inside out ดังนั้น โพซิชันของ BrandThink ที่เราวางไว้คือการเป็น good vibe media ที่เต็มไปด้วยความคิดที่หลากหลาย มีเจตนาที่ดีในทุกคอนเทนต์ที่ทำ และสุดท้ายคือการบาลานซ์ระหว่างเรื่องธุรกิจและสร้างสิ่งที่ดีให้สังคมให้เดินไปด้วยกันได้อย่างแข็งแรง”

ภาพ: BrandThink Corp.
อ้างอิง: Facebook: BrandThink

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles