วันชนะ จิตต์การงาน ผู้สร้าง Urban Creature เพื่อให้คนกลับมารักกรุงเทพฯ อีกครั้ง

เตอร์ วันชนะ จิตต์การงาน เรียนมาในสายภูมิสถาปัตยกรรม จากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ด้วยความสนใจเรื่องนวัตกรรมทางสังคม เขาเลือกไปเรียนต่อด้านการจัดการนวัตกรรม (Innovation Management) ที่ Central Saint Martins ในลอนดอน เวลานั้น ธุรกิจเพื่อสังคมยังไม่ใช่สิ่งที่เขาโฟกัสสักเท่าไหร่ ทว่า 3 ชั่วโมงหลังจากฟังการบรรยายของ Muhammad Yunus ผู้ประกอบการทางสังคมจากบังคลาเทศก็เปลี่ยนโลกของเขาไปตลอดกาล รอยทางของการทำธุรกิจเพื่อสังคมแบบ Yunus ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อทั้งคน สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะที่ธุรกิจก็ยังสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กัน ได้กลายเป็นต้นขั้วทางความคิดให้เขาก่อตั้ง “Urban Creature” ขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ด้วยความเชื่อและความหวังที่จะให้แม็กกาซีนออนไลน์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเมืองและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้คน

ไปฟังเตอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารแห่ง Urban Creature เล่าถึงความคิดเบื้องหลังและยุทธวิธีที่เขาใช้ในการชวนให้คนกลับมารักกรุงเทพฯ อีกครั้ง พร้อมๆ ไปกับทัศนคติเกี่ยวกับเมืองผ่านสายตาของประชาชน สื่อมวลชน และภูมิสถาปนิกกัน

จากหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

“ตอนแรกที่ทำ Urban Creature ผมไม่ได้กะว่าจะทำเป็นสื่อที่รับโฆษณา แค่คิดว่าอยากจะสื่อสารเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย บวกกับแบคกราวด์ผมที่เป็นสถาปนิก มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเมือง ก็ทำให้ mood and tone ของ Urban Creature ในยุคเริ่มต้นจึงโฟกัสไปที่เรื่องของเมือง โดยมีธีมสั้นๆ ว่า “จะทำอย่างไรให้คนกลับมารักกรุงเทพฯ อีกครั้ง” ฉะนั้น ก็เหมือนกับเราสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกับคนกับเมืองก่อนในเฟสที่หนึ่ง คอนเทนท์หลักในช่วงแรก เลยถูกแบ่งเป็นแกนง่ายๆ ออกเป็นเรื่องเมือง คน ย่าน สิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และความยั่งยืน ซึ่งถ้าเกิดมองดูอย่างนี้ Urban Creature ก็เป็นแม็กกาซีนที่มีความเฉพาะกลุ่มพอสมควร เพราะเราไม่ได้เล่นข่าว บันเทิง การเมือง หรือเรื่องธุรกิจด้วยซ้ำ เพิ่งมามีเรื่องธุรกิจเมื่อปีที่แล้วเอง”

จากแก่นที่เตอร์และทีมใช้ครอบเนื้อหาทั้งหมดในช่วงแรกเริ่มอย่าง “Better City, Better Living” ที่นำเสนอเรื่องเมืองดีชีวิตดี โดยเริ่มจากสเกลที่เป็นระดับคนและชุมชน เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา Urban Creature ถูกยกเครื่องใหม่ทั้งหมดสู่การนำเสนอเนื้อหาบนแนวคิดอย่าง “Reinvent the Way We Live” เพื่อคิดค้นวิธีการใช้ชีวิตกันเสียใหม่ โดยพุ่งเป้าไปที่รากเหง้าของทุกสิ่งที่มี “เรามองเห็นแล้วว่าวิธีเดิมน่าจะไม่มีประสิทธิภาพและไม่ยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว เลยอยากเริ่มทำจากรากของการใช้ชีวิตมากขึ้น ตั้งแต่การผลิตสิ่งของ การผลิตอาหาร การทำงาน การใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องนโยบายต่างๆ”

แรงบันดาลใจ + วิธีการ + ข้อมูล = การเปลี่ยนแปลง

“เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ อย่างแรกเราต้องสร้างประตูที่เปิดรับเขาก่อน นั่นคือเราต้องให้แรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเคสที่ประสบความสำเร็จที่เมื่อคนอ่านได้เห็นแล้วจะเป็นสิ่งที่จุดประกายให้พวกเขาอยากจะลุกขึ้นมาลงมือทำ เมื่อประตูเปิดขึ้นแล้ว ลำดับถัดไปที่เราคิดคือการแสวงหาวิธีการ หรือ how to เพื่อมาบอกต่อว่า ถ้าหากใครสักคนอยากลุกมาทำอะไรบางอย่างที่ดีกับคน เมือง และสังคม เขาจะสามารถทำได้ด้วยวิธีการแบบไหนได้บ้าง และสิ่งที่สำคัญที่สุดในสมการนี้ คือการให้ข้อมูล เช่นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีขนาดเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ทางออกที่จะต้องมาแก้จะต้องแก้ในระดับไหน ถ้าเราไม่มีข้อมูลอะไรเลย สิ่งที่ทำไปก็อาจจะกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะเราต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดของปัญหาหรือประเด็นนั้นให้ได้เสียก่อน ฉะนั้น ข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ดังนั้น ทุกๆ เนื้อหาที่เกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของ Urban Creature จึงมีสมการของ “แรงบันดาลใจ + วิธีการ + ข้อมูล = การเปลี่ยนแปลง” ที่ว่านี้ครอบอยู่ หรืออย่างน้อยที่สุด มันจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอ่านให้ได้

คนเล็กๆ ที่สร้างเมือง

“จริงๆ เนื้อหาของ Urban Creature มีเยอะมากเลย ซึ่งเราไม่สามารถรักอันไหนที่สุดได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือเสียงของคนตัวเล็กๆ ในสังคมที่เรานำเสนอผ่านเซกชั่นต่างๆ อย่างเช่นคอลัมน์ The Professional ซึ่งเราอุทิศพื้นที่ตรงนี้สำหรับคำว่าอาชีพเลยนะ โดยอาชีพที่หยิบมานำเสนอ เราอาจจะไม่ได้เห็นพวกเขาเสียเท่าไหร่ แต่พวกเขานี่แหละที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในนิเวศของชีวิตพวกเราและประเทศ ตั้งแต่คนขุดลอกท่อ นักดับเพลิง สัปเหร่อ ป่อเต็กตึ๊ง คนขับเรือทัวร์รอบเกาะเกร็ด อาชีพที่ถ้าเราขาดพวกเขาไป เราก็อยู่ไม่ได้ หรือคอลัมน์ Urban Heroes กับการเล่าเรื่องราวของบุคคลหรือองค์กรที่เสียสละตัวเองเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของเรา เช่น กลุ่มหมอต้นไม้ที่ช่วยรักษาและดูแลต้นไม้ใหญ่อย่างถูกโรคถูกวิธีท่ามกลางการขยายตัวของเมือง หรือกลุ่มคนที่ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษากับโสเภณี กลุ่มคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ที่ปิดทองหลังพระของจริง ซึ่งแต่ละคอลัมน์ที่เรานำเสนอไม่ใช่เพียงเชิดชูคน แต่เราพยายามย่อยทั้งองค์ความรู้ในเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วย”

ยุทธ์ศาสตร์แบบที่เดียวครบจบทุกวงจร

สำหรับเตอร์แล้ว ความยากของการสร้าง Urban Creature เริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรก จากพื้นฐานของการเป็นสถาปนิกและทำธุรกิจร้านอาหารมาก่อน แล้วกระโดดข้ามฝั่งมายังอุตสาหกรรมสื่อแบบที่มีความรู้เท่ากับศูนย์ ทำให้เขาต้องเรียนรู้ทุกอย่างแบบนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ตลอด 1 ปีเต็มของเขาและทีมงานถูกใช้ไปกับการเรียนรู้เรื่องการทำงานของกองบรรณาธิการ การทำสื่อที่ถูกใจคน พร้อมๆ ไปกับการแสวงหาวิธีการเล่าเรื่องที่พอดีและดีพอ

“เรียกว่ายากที่สุดเท่าที่ทำมาเลย เพราะผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสื่อออนไลน์และงานของกองบรรณาธิการมาก่อน พอไม่ได้เรียนหรือมีประสบการณ์มา ก็เหมือนเราเดินสะเปะสะปะ เตะนู่นเตะนี่ไปหมด ผมและทีมเลยมองการทำงานให้เป็นมาราธอนว่าสิ่งที่เราอยากจะส่งไปหาคนอ่านคนดูนั้นมีเป้าหมายคือการเข้าไปเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรม ฉะนั้น เราจะให้เวลาทั้งทีมงาน รวมถึงคนอ่านอย่างเต็มที่ในการสื่อสารและเรียนรู้ระหว่างกัน”

นอกจากการโฟกัสในเรื่องเนื้อหาที่ต้องสร้างอิมแพ็คต่อคนและสังคมแล้ว ในพาร์ทของธุรกิจ รายรับและการขยับขยายจากองค์กรขนาดเล็กที่เคยอยู่กันด้วยแพชชั่นล้วนๆ ไปสู่การเป็นองค์กรขนาดกลางที่ต้องขับเคลื่อนในทางธุรกิจให้ไปข้างหน้า ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของเตอร์เช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งที่ทำให้ Urban Creature อยู่ได้ในสถานการณ์เหล่านี้ จุดแข็งอย่างแรกอยู่ที่ธีมของแพลตฟอร์มดังกล่าวที่เน้นในเรื่องเมือง การใช้ชีวิตในเมือง นวัตกรรมที่เกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเทคโนโลยี ส่วนจุดแข็งที่สองคือการมีโครงสร้างองค์กรซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่เข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ

“Urban Creature ไม่ได้มีเฉพาะสื่อที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเดียว แต่เรายังมีแล็บสำหรับทำโปรเจ็กต์ร่วมกับมูลนิธิ องค์กร มหาวิทยาลัย ลูกค้า หรือสื่อต่างๆ รวมถึงทีมเอเจนซี่ซึ่งมีทำหน้าที่ในการส่งต่อข้อมูลและจุดยืนของ Urban Creature ให้ไปถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างถูกต้องด้วย ฉะนั้น ถ้ามองในมุมของสื่อ เราจะต่างที่จุดยืน ขณะที่ถ้ามองในมุมโครงสร้างหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจ Urban Creature จึงไม่ใช่แค่สื่อแบบที่คนเข้าใจ แต่เราทำงานแบบ one-stop service ที่มีสื่อในมือ มีแล็บที่มี know how และมีเอเจนซี่ที่พร้อมจะสื่อสารกับแบรนด์และลูกค้า”

ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ

“ตลอดมา ผมก็คิดนะว่าถ้ามีคนทำยิ่งเยอะก็ยิ่งดี ถ้าสิ่งที่เราทำแล้วมีคนอยากทำเหมือนกัน นั่นก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในมุมของ Urban Creature ที่ตั้งใจมาตั้งแต่แรกว่าเราอยากจะกระจายไอเดียให้คนเชื่อเรื่องความรักที่มีต่อเมือง เมื่อเขามีความรักแล้ว ทุกสิ่งที่เขาจะทำต่อจากนั้นก็จะเป็นผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในท้ายที่สุด สำหรับผม นี่คือนิเวศที่ดีที่จะช่วยกันผลักดันเรื่องต่างๆ แต่ก็ต้องมั่นใจกับสิ่งที่เรากำลังจะสื่อสารจริงๆ ก่อนด้วยว่าเรามีจุดประสงค์เพื่ออะไร ตอบโจทย์ตัวเอง ตอบโจทย์รอบตัวๆ อย่างไร

ถ้าถามว่า Success KPI ของ Urban Creature อยู่ตรงไหน ข้อที่หนึ่งคือเราอยู่ได้ ขณะเดียวกันทั้งคนทำงานและลูกค้าก็จะต้องเข้าใจด้วยว่าเราทำงานแบบไหน มีจุดยืนอย่างไร ถ้าเราหลุดจากจุดยืนไป ผมว่าเราก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ผมอยากขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมุมที่วัดผลได้ว่า สังคมกับสิ่งแวดล้อมดีขึ้นแล้วจริงๆ ผมพยายามจับมาตรฐานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราเองก็ทำเรื่องข้อมูลค่อนข้างเยอะ ดูเรื่องดัชนีที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความสุขของคนอยู่เหมือนกัน ถ้าเกิดดัชนีเหล่านี้ดีขึ้นได้ แล้ว Urban Creature มีส่วนร่วมในนั้นด้วย นั่นก็เป็น Success KPI ของพวกเรา”

บทบาทของสื่อต่อการเปลี่ยนแปลงเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม

“ถ้ามองกรุงเทพฯ เป็นสิ่งมีชีวิต แม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ ส่วนคลองและตรอกซอกซอยต่างๆ จะเป็นเส้นเลือดฝอย ขณะที่มนุษย์แต่ละคนจะเป็นเซลล์ที่ได้รับออกซิเจนและสารอาหารจากเส้นเลือดเหล่านี้เพื่อหล่อร่างกายให้เจริญเติบโต ในขณะเดียวกัน ร่างกายเองก็ยังต้องการอีกอย่างหนึ่งก็คือสติปัญญา ซึ่งนอกจากจะมาในรูปแบบของการศึกษา หรือนโยบายจากรัฐที่ช่วยทำให้เราอยู่ในสังคมด้วยกันได้แล้ว สื่อก็จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยที่จะช่วยจรรโลงและส่งต่อองค์ความรู้เชิงบวกสู่ทุกๆ เซลล์ในร่างกายได้ เมื่อแต่ละเซลล์มีความเชื่อความคิดที่เปลี่ยนไป สามัคคีกันและมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อถึงเวลานั้น ทั้งระบบจะค่อยๆ ฟื้นฟูและร่างกายหรือเมืองก็จะเติบโตและเข้มแข็งขึ้นมาได้

ผมคิดว่าสื่อมีบทบาทสำคัญมากๆ ที่จะช่วยสร้างอุปทานหมู่ให้ผู้คนในเมือง ไม่ว่าจะทางบวก ลบ ให้ความหวัง สร้างแรงบันดาลใจ สื่อที่เป็นสำนักข่าวมีหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว กระชับที่สุด ขณะที่สื่อแบบ Urban Creature รวมทั้งสื่อที่มีเป้าหมายคล้ายๆ กันนี้ จะเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลเชิงลึกและสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้รู้ในชีวิตประจำวันหรือจากช่องทางอื่นๆ ผมอยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้ช่วยให้ทุกคนได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นครับ”

มองเมืองผ่านมุมภูมิสถาปนิก

“จริงๆ พอเป็นนักออกแบบ สุดท้ายเราจะมีเพดานที่จะทำให้เกิดอิมแพ็คได้อยู่เหมือนกัน ในฐานะของภูมิสถาปนิก หน้าที่ของเราคือการออกแบบกายภาพจากความต้องการของชุมชนหรือพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิต การใช้งาน และแก้ปัญหา แต่เมื่อเราทำงานไปถึงเพดานที่การแก้ปัญหาทางกายภาพอย่างเดียวมันไม่จบ มันจึงทำให้ผมเห็นว่ามันยังมีเพดานอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือเรื่องของนโยบาย ซึ่งนี่จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้ ฉะนั้น ในมุมของนักออกแบบ เราจะทำได้จนสุดแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายแล้ว ถ้าผู้มีอำนาจในการออกนโยบายไม่มาจับมือกับเราเพื่อมองและตั้งเป้าในการแก้ไขปัญหาแบบเดียวกัน มันก็จะเป็นตัวขวางกั้นให้ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ

ส่วนระดับตัวบุคคลเอง ผมหมายถึงลุง ป้า น้า อา คนทั่วไปที่อยู่ในชุมชนเลยนะ ยังคงไม่มีความรู้และเข้าใจในเรื่องสิทธิและการมีส่วนร่วมของตัวเองอย่างถ่องแท้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในเรื่องพื้นที่สาธารณะหรือการเรียกร้องอะไรบางอย่างเพื่อชุมชน ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้มีคนที่มาให้ความรู้เรื่องเหล่านี้กับประชาชนด้วยว่าวิธีเรียกร้องที่ถูกต้องนั้นต้องทำอย่างไร พวกเรายังตัดขาดกับเรื่องของนโยบาย แล้วคนที่พยายามผลักดันเรื่องนี้กลับกลายเป็นองค์กรเอกชน มหาวิทยาลัย หรือมูลนิธิอยู่ ผมคิดว่าเรามีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองกันอยู่ แต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มให้เขาลงไปได้มีส่วนร่วม

ในมุมมองของผม การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้สามารถเริ่มได้จากเซลล์เล็กๆ นั่นคือประชาชนแต่ละคนที่จะมารวมกัน แล้วแอ็คชั่นบางอย่าง เมื่อมีน้ำหยดลงไปเยอะๆ นั่นจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อม ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากความต้องการของพวกเราที่มากพอจริงๆ เช่น ถ้าคุณอยากได้อากาศที่ดี คุณก็ต้องร่วมกันเรียกร้องจนสิ่งที่เราต้องการดังไปถึงหูของคนที่มีอำนาจ เปลี่ยนตั้งแต่ข้างบนลงมา ซึ่งถ้าทำได้ก็ดี เพราะนั่นคือกลไกของประชาธิปไตยว่าถ้าคุณไม่เห็นด้วย คุณมีสิทธิ์วิจารณ์และประท้วงได้ แต่ถ้าเราพูดอย่างเดียว โดยไม่ทำอะไรเลย ผมว่ามันก็ไม่ยั่งยืน เพราะบางทีนโยบายที่ส่งลงมาก็ไม่ได้แก้ปัญหาได้สมบูรณ์ 100% ในภาคประชาชนหรือองค์กรเองก็ทำเท่าที่กำลังตัวเองไหว ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ต้องทำ อย่ารออย่างเดียว ฉะนั้น เมื่อทุกคนมีหน้าที่ ก็ทำหน้าที่ของตัวเอง รวมไปถึงการทำหน้าที่ในฐานะพลเมือง นั่นคือการมีส่วนร่วมในกิจการของส่วนรวมด้วย”

เพราะ Urban Creature คือชีวิตและความหวัง

“การได้อยู่ใน Urban Creature ที่มีคนคิดเหมือนกัน คุยกันเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น การได้เจอผู้คนเหล่านี้และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่พลังงานบวก สำหรับผม มันเป็นการทำงานที่ไม่เหมือนทำงาน เหมือนเราเป็นนายกในวงเล็กๆ ของเราเอง สามารถคิดนโยบายว่าถ้าเราทำนโยบายแบบนี้จะเกิดผลลัพธ์อย่างไร หรือเราลองทำโปรเจ็กต์อะไรกันไหม แล้วหาคนทั่วๆ ไปมาร่วมด้วย ผมมองว่ามันเป็นอีกโลกหนึ่งที่เรามีพื้นที่ มีอำนาจในการที่จะออกแบบ มันคือความสุขที่ได้เห็น ได้ทดลอง เป็นเหมือนจิตวิญญาณของนวัตกรที่อยากจะหาทางออกหรือหาวิธีแก้ไขปัญหา แล้วมันก็คงเป็นนิสัยของผมด้วยละมั้งที่ชอบคิดและอยากแก้ไข แล้วมันก็มีความสุขที่ได้แก้ด้วยนะ

Urban Creature เรียกได้ว่าเป็นชีวิตผมร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่บอก ผมไม่เรียกมันว่างาน ซึ่งนี่คือจุดยืนในตัวผมด้วย สิ่งที่ผมได้จากการทำงานนี้คือมันเป็นอาชีพเพียงไม่กี่อาชีพที่มีโอกาสได้เรียนรู้และเจอผู้คนใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ได้รับแรงบันดาลใจ ความรู้ วิธีปฏิบัติ พลังบวก ผมได้เติมไฟอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ผมเห็นว่าความหวังในเรื่องความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ ของเมืองยังมีอยู่”

กระตุ้นการแตกหน่อก่อเกิดเป็นลำต้นที่แข็งแรง

จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ความท้าทายที่ Urban Creature คาดว่าจะต้องเจอในอีก 2-3 ปีก็มาเร็วกว่าที่คิด เตอร์มองว่าทุกๆ สื่อจะมีระยะเวลา shelf life ของมัน ซึ่งถ้าหยุดนิ่งอยู่กับแนวคิดและวิธีการทำงานแบบที่เคยเป็นมา ก็ไม่ต่างไปจากเด็กที่พูดเรื่องเดิมซ้ำๆ และไม่โตไปกับสถานการณ์รอบตัว

“เมื่อมันมาถึงเร็วขึ้น สิ่งที่เราทำก็คือการปรับตัวทั้งในแง่การทำงานและเนื้อหา จากแรกเริ่มที่เราสนใจแค่การเปลี่ยนเมืองเพื่อให้ชีวิตจะดีขึ้น ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว เราต้องกลับไปที่ดูแล้วว่าถ้าเราจะช่วยให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ มันต้องกลับไปที่รากของปัญหาทุกๆ ด้านเลย การทำงานของเราจะแค่ผิวเผินต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แต่ต้องลึกและกว้างมากขึ้น

การทำงานหลังจากนี้ของ Urban Creature จึงจะเป็นการออกแขนขามาเพิ่มเติมในประเด็นที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เราเริ่มบางประเด็นไปแล้วอย่างเรื่องอาหารผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Urban Eat เพราะอาหารเป็น agenda สำคัญในอนาคตอีก 10-30 ปีข้างหน้า ซึ่งถ้าเราไม่จริงจังเรื่องดังกล่าว ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มเป็นทวีคูณ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภคอาหารในอนาคต การเกษตรและปศุสัตว์ที่ยั่งยืน รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่น ซึ่งเราพยายามปลุกปั้นเพจ Urban Eat นี้อย่างจริงจังกันอยู่ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ อย่างเรื่องการศึกษา อุตสาหกรรม การเมือง สิ่งแวดล้อม และพลังงานด้วย อีกส่วน เราตั้งใจจะทำคือเรื่องนโยบายผ่านวิธีการอย่าง Policy-making โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและร่างนโยบายเป็นโปรโตไทป์ขึ้นมาเพื่อไปนำเสนอและก่อให้เกิดการลงมือทำที่จริงจังขึ้น”

ในความสำเร็จที่เกิดขึ้น ขอยกเครดิตให้แก่ทุกลมใต้ปีก

“คนแรกเลยก็น่าจะเป็นคุณ Muhammad Yunus ถ้าไม่มีเขาวันนั้น ผมก็คงไม่มีความเชื่อและความคิดแบบนี้ในวันนี้ ผมเชื่อว่าในชีวิตคนเราไม่ได้มีจุดเปลี่ยนอะไรมากมาย แต่ในครั้งนั้นเป็น 3 ชั่วโมง ที่สำคัญมากจริงๆ สำหรับผม และแน่นอนว่า Urban Creature จะมีวันนี้ไม่ได้ถ้าขาดทีมงานทั้งหมด ทั้งที่เคยอยู่และยังอยู่ด้วยกัน ผมต้องขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันลองผิดลองถูกและร่วมสร้างพื้นที่แห่งนี้ด้วยกันมา แล้วก็ต้องขอบคุณทุกปัญหาที่ทำให้พวกเราอยากทำให้ประเทศไทยไปต่อได้มากกว่านี้”

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร / Saran Sangnampetch
ภาพเพิ่มเติม: www.urbancreature.co

สุดาพร จิรานุกรสกุล

อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร art4d magazine ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระให้กับนิตยสารออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบ ศิลปะ สังคม และสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสอนโยคะ พิลาทิส และติ๊กตอกเกอร์ดาวรุ่ง

See all articles