สถาปัตยกรรมที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปค้นหาสิ่งที่อยู่ไกลตัว ต้องมาจากของดี วัสดุดีจากพื้นที่อันแสนไกล แต่สามารถเริ่มจากของใกล้ตัว แล้วนำมาต่อยอดได้ เมื่อนั้นความยั่งยืนอย่างเรียบง่ายก็เกิดขึ้น อย่างของดี ไม่ไกลบ้านเราจากบังคลาเทศ กับโครงการ Friendship Center ที่ออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกบังคลาเทศเองคือ URBANA มันถูกออกแบบเพื่อเป็นสถานที่การฝึกอบรมสำหรับ NGO ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำหรับผู้คนที่ยากจนในชุมชน Gaibandha ซึ่งเป็นชุมชนเกษตรกรรม
เมื่อมองจากภายนอกจะไม่เห็นตัวอาคาร เพราะถูกเนินดินบังโดยรอบ แต่ความโดดเด่นจากการใช้อิฐเป็นวัสดุหลัก ทำให้อาคารดูขรึมขลัง และโดดเด่นเมื่อเข้ามายังภายใน แรงบันดาลใจในการออกแบบ สถาปนิกใช้ความงามจากอดีตที่มีที่มาจากสถาปัตยกรรมศาสนาโบราณ Mahasthan แหล่งโบราณดคีสำคัญของบังคลาเทศที่อายุเก่าแก่กว่า 1,700 ปี มันถูกหยิบจับมาทั้งอารมณ์ของแสง เงา น้ำ พืชพรรณที่ปกคลุม ทางเดิน ทั้งที่มีวัสดุพื้นฐานคืออิฐ ที่สามารถผลิตได้เองในบังคลาเทศ ทำให้มันเป็นสถาปัตยกรรมที่ประกอบขึ้นด้วยความยั่งยืน
ที่ตั้งของอาคารเป็นที่น้ำท่วมถึง ระดับน้ำท่วมมีความสูง 2.40 เมตร การแก้ปัญหาของสถาปนิกที่จะใช้การออกแบบให้ยกสูงหนีน้ำมีค่าใช้จ่ายสูง ทางเลือกที่เหมาะสมกับงบประมาณจำกัดที่สุดคือการใช้แลนด์สเคปเข้ามาช่วย ด้วยการถมดินรอบที่ตั้งโดยรอบให้สูงเพื่อป้องกันน้ำเข้าแทน ทำให้ตัวอาคารมีลักษณะเป็นคอร์ตที่รายรอบไปด้วยเนินดิน ทำให้เมื่อเข้ามายังภายในศูนย์นี้มีความเป็นส่วนตัว การออกแบบระบบระบายน้ำให้เก็บมายังบ่อภายใน เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ จากนั้นค่อยสูบออกไปยังบ่อภายนอกเพื่อป้องกันน้ำท่วมภายใน โดยมีการคำนวณความสูงของระดับน้ำภายในตลอดทั้งปี
แนวคิดเรื่องการประหยัดพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอาคารของศูนย์ถูกออกแบบให้เป็นกลุ่มอาคาร ทำให้สามารถระบายอากาศด้วยวิธีธรรมชาติได้ดี นอกจากนี้เพื่อป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ในบังคลาเทศ สถาปนิกเลือกใช้หลังคากรีนรูฟ ซึ่งตัวหลังคาชนิดนี้สามารถลดความร้อนด้วยการปลูกหญ้าบนหลังคา จากความหนาของระบบหลังคา และหญ้าที่ซับความร้อน ทำให้ช่วยลดอุณหภูมิได้เป็นอย่างดี
จากงานนี้ทำให้เห็นได้ว่า ของดีอยู่รอบตัวเรา แค่หยับจับให้มันเหมาะกับยุคสมัยเท่านั้นเอง
อ้างอิง: www.akdn.org, www.dezeen.com, kashefchowdhury-urbana.com