โรงเรียนในเมืองไหโข่ว ประเทศจีน ดีไซน์สนุกเติมสีสันสร้างประสบการณ์ชีวิตให้เด็กๆ

การเรียนรู้ของเด็กในวัยเรียนเป็นสิ่งสำคัญทั้งหลักสูตรและสถานที่ การออกแบบสถาปัตยกรรมสำหรับการเรียนรู้จึงมีใจความสำคัญที่จะออกแบบอย่างไรให้เอื้อต่อกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะรองรับทั้งเด็กหลากหลายวัยและพื้นที่การเรียนรู้เหล่านั้นส่งผลต่อเด็กนักเรียนในวัยต่างๆ การออกแบบด้วยการส่งเสริมกิจกรรมตามแต่ละวัยจึงสำคัญ

เมืองไหโข่ว มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน ได้เกิดโรงเรียน Haikou Jiangdong Huandao Experimental School ออกแบบโดย Trace Architecture Office (TAO) ที่รองรับกิจกรรมอันหลากหลายในวัยเรียนรู้ของเด็กผ่านสถาปัตยกรรมที่มีลูกเล่นน่าสนใจ สถาปนิกมองว่าโรงเรียนนี้มีภูมิทัศน์ที่อุดมสมบูรณ์ มีอุทยานอนุรักษ์ธรรมชาติ การออกแบบโรงเรียนนี้จึงเหมือนเป็นการย่อส่วนสวนขนาดเล็กในรูปทรงธรรมชาติอย่างเช่นเส้นทางคดเคี้ยวของแม่น้ำ สนามหญ้าระหว่างอาคารก็เปรียบเหมือนป่าที่อยู่ระหว่างภูเขา แม่น้ำลำธาร ทะเลก็เปรียบเป็นบ่อน้ำอยู่ในโรงเรียนนี้ สถาปนิกใช้รูปทรงที่ดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติวิ่งไหลเข้าหาเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อจะสะท้อนถึงความสนุกสนานแบบเด็กๆ ทำให้กระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประสบการณ์ในโรงเรียนที่ไม่เหมือนเดิม พื้นที่วิ่งเล่นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชั้นใต้ถุนที่มากไปด้วยเสาลอยของโรงเรียนนี้เท่านั้น แต่มันยังลื่นไหลไปจรดหลังคาในส่วนชั้นดาดฟ้า ทำให้การวิ่งเล่นสามารถวิ่งได้ทั้งในพื้นที่แบบในร่มไล่ไปจนถึงพื้นที่กลางแจ้งได้อย่างแนบเนียน ทำให้กิจกรรมการเล่นตอบสนองไปตามร่มเงาแสงในสถาปัตยกรรม

จุดเด่นของโรงเรียนนี้นอกจากความสนุกสนานของเส้นสายแล้ว สีและแสงก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานนี้มีชีวิตชีวา เสาสูงกว่า 17 เมตรที่เปรียบดังต้นไม้ ธรรมชาติ และผืนหลังคาขนาดใหญ่ล้วนสร้างจากคอนกรีตที่ดูแปลกแยกจากธรรมชาติ สถาปนิกใช้สีในพื้นผิวต่างๆ โดยกำหนดให้สีแดงคือความเย้ายวน สีน้ำเงินคือความสงบ สีเหลืองคือความมีชีวิตชีวา ทำให้พื้นที่เหล่านี้ได้ประสบการณ์ใหม่เหมือนภาพวาดจิตรกรรมแบบนามธรรมที่มีสีสันอันหลากหลายและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เมื่อสีเหล่านี้ทำงานร่วมกับแสงธรรมชาติที่ผ่านเข้ามาทั้งทางหลังคาและทางด้านข้าง ทำให้โรงเรียนเต็มไปด้วยความหมายของการใช้ประสบการณ์ชีวิต

ในส่วนหลักของโรงเรียนถูกออกแบบให้คล้ายเลข 8 ซึ่งมันเป็นพื้นผิวที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นได้อย่างอิสระในความลื่นไหลเหล่านี้เป็นเนื้อเดียวกันและต่อเนื่องไปยังส่วนระดับต่างๆ ของอาคาร พื้นโรงเรียนสามารถเชื่อมไปต่ออย่างผืนดินได้โดยง่าย บริเวณศูนย์กลางอาคารกลายเป็นทั้งจุดสิ้นสุดและจุดเริ่มต้นของการเดินทาง ห้องเรียนได้รับการออกแบบพิเศษให้มีทางเดินเปิดโล่งทั้งสองด้าน ส่วนที่เชื่อมต่อภายนอกทำหน้าที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติ ส่วนที่เชื่อมต่อกับภายในเป็นทางเดินในร่มซึ่งตอบสนองกับอากาศเขตร้อนของเมืองไห่หนานได้อย่างดี

ถ้าออกแบบให้ดีแล้ว ทำไมเรื่องเรียนกับเล่นจะไปด้วยกันไม่ได้

  

แปลและเรียบเรียงจาก: www.archdaily.com
ที่มา: www.t-a-o.cn, www.dezeen.com

Tags

Tags:

สาโรช พระวงค์

สถาปนิกผู้ริเป็นนักเขียน และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สนใจในสถาปัตยกรรมที่สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีขึ้น เลยมาเขียนเล่าให้ผู้อ่านเป็นเนืองๆ

See all articles

Next Read