ศิลปิน Hayat Nazer สร้างประติมากรรมไว้อาลัยแด่ผู้สูญเสียจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในเลบานอน

เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2563 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นที่ท่าเรือในกรุงเบรุตเมืองหลวงของประเทศเลบานอน ซึ่งเกิดจากโกดังเก็บเป็นแอมโมเนียมไนเตรตจำนวนมากประมาณ 2,750 ตัน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 204 ราย บาดเจ็บมากกว่า 7,500 ราย นับเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก Hayat Nazer ศิลปินสาวชาวเลบานอนผู้ซึ่งใส่ใจกับปัญหาสังคมและการเมืองได้คิดสร้างประติมากรรมขึ้นเพื่อสะท้อนภาพโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้จากไปอย่างน่าสงสาร รวมทั้งชี้ชวนให้ผู้คนเกิดความตระหนักถึงสาเหตุของอุบัติภัยร้าย และคาดหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ก่อนหน้านั้น Nazer ทำงานในองค์การสหประชาชาติแล้วค้นพบว่าตัวเองรักในงานศิลปะจึงลาออกมาเป็นยึดอาชีพศิลปิน บวกกับสถานการณ์ความตกต่ำทางเศรษฐกิจและการประท้วงครั้งใหญ่ เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่อง บนแนวคิดวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลที่ล้าหลัง ยึดหลักใช้ลัทธิทางศาสนานำทางซึ่งเป็นเหตุให้เศรษฐกิจตกต่ำและนำมาซึ่งปัญหาสังคมด้านอื่นๆ แม้งานแสดงชิ้นก่อนหน้านี้ด้วยรูปปั้นนกฟีนิกซ์จะถูกเผาทำลายโดยฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ศิลปินก็ยังเชื่อว่าการนำเสนอมุมมองด้านเสรีภาพของเธอแพร่ไปสู่สู่สังคมแล้ว และเพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผลงานสร้างสรรค์ของเธอเน้นประเด็นด้านสิทธิ, เสรีภาพ, ความเสมอภาค รวมทั้งความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยหวังให้สังคมเกิดการยกระดับจิตใจตนเองและผู้อื่น สร้างความรักและเคารพซึ่งกันและเพื่อสันติภาพ

งานศิลปะของ Nazer มักทำมาจากวัสดุเหลือใช้นำมาประกอบกันใหม่ รวมถึงประติมากรรมสตรีถือคบเพลิงนี้ด้วยที่เป็นการเก็บรวบรวมเศษซากปรักหักพังของอาคารที่โดนแรงระเบิด และยังจัดเป็นความร่วมแรงร่วมใจของอาสาสมัคร แฟนเพจในอินสตาแกรมของเธอ ที่พอรับรู้เรื่องราวก็มารวมตัวช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือนผู้ประสบภัย เก็บกวาด เศษหิน ดินทราย และเศษกระจกที่กระจายทั้งหลาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้เจ้าของบ้านเดินทางกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย จึงเป็นงานสร้างสรรค์อัพไซเคิลที่มีความหมายมากกว่าแค่แสดงออกซึ่งความเศร้าโศก แต่เป็นแรงใจที่จะจับมือกันเดินหน้าต่อไปท่ามกลางวิกฤต และเพื่อเป็นการป้องกันการทำลายจากผู้ไม่ชอบงานของเธอ หลังจากจัดแสดงผลงานได้ระยะเวลาหนึ่งก็ถูกย้ายไปเก็บรักษาไว้ยังที่ปลอดภัย ศิลปินคาดหวังว่าสักวันจะสร้างอนุสาวรีย์แบบถาวรขึ้นในจุดเกิดเหตุนั้น ปัญหาสังคมและการเมืองมักกระตุ้นให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีความฝันอยากเห็นสังคมก้าวหน้าเคลื่อนไปพ้นจากภาวะตีบตันและมักเป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ได้ในข้ามคืน เพราะเป็นปมที่ทับซ้อนกันมากมายและผูกโยงกันจนยุ่งเหยิง การนำเสนอผลงานทางศิลปะเป็นทางออกหนึ่งที่เป็นทางออก ที่อาจไม่เห็นผลในทันตาหากแต่เมื่อปลูกเมล็ดแห่งศรัทธาแล้วก็งอกงามในใจสังคมต่อไปอย่างยั่งยืน

แปลและเรียบเรียงจาก: mymodernmet.com
อ้างอิง: hayatnazer.com, www.facebook.com/hayatnazerv

Tags

Tags: ,

วรัญญู อุดมกาญจนานนท์

Art may not be the only way to brighten the world, but it is essential to create a beautiful life. รักงานสร้างสรรค์อิสระ...งานเขียนเป็นหนึ่งในนั้น เพราะตัวหนังสือคือความคิดที่เชื่อมโลกกับเราไว้ด้วยกัน

See all articles

Next Read