‘กษมา แย้มตรี’ สถาปนิกสวนกระแส เปลี่ยนสังคมด้วยวิชาชีพ

หากลองหยิบเอาแว่นขยายมากวาดดูผู้คนในแวดวงสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนบ้านเรา เชื่อแน่ว่าชื่อและการทำงานของ กษมา (พลอย) แย้มตรี คงจะติดโผหนึ่งในสถาปนิกชุมชนที่งานชุกอีกคนหนึ่งจากคำถามที่มีต่อบทบาทของสถาปนิกว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้จริงหรือไม่ นำไปสู่การทดลองและหาคำตอบ จนกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้การเดินทางของกษมาเบี่ยงออกมาจากงานสถาปัตย์กระแสหลักและก้าวไปสู่การทำงานเพื่อชุมชนมากว่า 5 ปี วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับกษมาถึงที่มาที่ไปและแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอมุ่งใช้ความรู้ ตลอดจนทักษะด้านออกแบบมาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น


Q: ช่วยเล่าประวัติคร่าวๆ ทั้งในเรื่องการศึกษาและการทำงานเพื่อให้เรารู้จัก กษมา แย้มตรี มากยิ่งขึ้นหน่อยได้ไหม?

A: จริงๆ แล้วพี่จัดว่าเป็นคนที่การศึกษาน้อยมาก เกือบจะเรียนไม่จบ (หัวเราะ) ขอเท้าความนิดนึง พี่เป็นคนขอนแก่น พี่โตและเรียนที่นั่นมาตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.5 แล้วก็สอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย ได้มาเรียนคณะสถาปัตย์ที่ ม.เกษตรฯ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Openspace และสอนหนังสือไปด้วยค่ะ

Q: โดยปกติแล้วสำหรับเด็กจบใหม่ ก็มักจะเลือกทำงานในสตูดิโอออกแบบที่เน้นงานแนว commercial เป็นหลัก แต่เพราะอะไรพี่พลอยถึงเลือกที่จะมาทำงานในสายชุมชน?

A: ความคิดนี้เกิดขึ้นช่วงที่พี่เรียนประมาณปี 2 ตอนนั้นพี่มองไม่เห็นทางตัวเอง รู้สึกว่า…อุ๊ยตายแล้ว ถ้าฉันยังต้องเรียนอย่างนี้อยู่ ฉันคงไม่เป็นสถาปนิกแน่นอน เราเริ่มถามตัวเองว่ามันมีประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า นึกออกไหม พี่เริ่มมีคำถามกับตัวเองว่าถ้าจะอยู่แบบไม่มีประโยชน์จะทำไปทำไม พี่รู้สึกว่าเราก็อยากทำตัวเป็นประโยชน์ อยากมีอาชีพที่ต้องมีประโยชน์ด้วย เลยตัดสินใจทดลองเดินต่อไปดูซิว่าจะเจออะไรอีกไหม เพราะตอนนั้นมีคำถามมากมายว่าเราเรียนมาแบบนี้แล้วจะทำหน้าที่อะไรในสังคม เลยบอกตัวเองว่าทดลองดูเนอะ เราก็เรียนแบบทุกข์ๆ เศร้าๆ นิดนึง โคตรไม่มีความสุข (หัวเราะ) ซึ่งก็มีช่วงครึ่งทางของการเรียนมหาวิทยาลัยเราก็พบเจอว่า จริงๆ แล้วมีอาจารย์หลายท่านที่เขาพยายามสร้างความเป็นไปได้ในการมองสถาปัตยกรรมให้เรา ให้กับนักเรียนในสตูดิโอ เขาสร้างทางเลือกให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วเราเลือกมองมันได้นะ พี่จึงตัดสินใจเรียนต่อให้จบปริญญาตรี แล้วโชคดีที่ปีสุดท้ายช่วงทำธีสิสก็ได้ทุน ซึ่งเป็นโครงการโอนหน่วยกิตไปเรียนที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย แต่อยู่ในระดับปริญญาตรีนะ ช่วงนั้นเหมือนพี่ได้ทำธีสิสทั้ง 2 ที่ ที่เมืองไทยและที่เมลเบิร์นด้วย ได้อะไรเยอะเลย

แล้วตอนนั้นพี่ก็คิดได้ว่าจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ตัวเราเองในการสะท้อนออกมามากกว่า แต่เราอาจจะต้องต่อสู้กับสังคมนิดนึงเพราะสถาปัตย์กระแสหลักค่อนข้างมีความแข็งแรงของมันอยู่ แต่ตอนนั้น อายุขนาดนั้นพี่ไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้หรือการอยู่ได้ในอนาคตอะไรมาก แล้วเราไม่ค่อยอยากจะทำงานเป็นนักออกแบบที่กุมทุกอย่างไว้ในมือเพียงคนเดียว เราอยากจะทำงานออกแบบที่มีคนช่วยกันตัดสินใจ ซึ่งเรารู้ว่าสิ่งที่ตัดสินใจร่วมกันมันจะก่อให้เกิดอะไรกับคนกลุ่มนั้นและกับตัวเราด้วย มันก็เลยทำให้การเดินทางของการหาอาชีพไปสู่ตำแหน่งที่คนเรียกว่า ‘สถาปนิกชุมชน’

Q: พี่พลอยเริ่มต้นจากโครงการอะไร?

A: จริงๆ แล้วโดยพื้นฐานพี่ค่อนข้างเป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย เห็นอะไรก็น่าสนุกไปหมด ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ พี่ไม่ได้ไปทำงานออฟฟิศ แต่ใช้เวลา 7 เดือนในการทดลองสิ่งที่ตัวเองเคยอยากทำในช่วงที่เราเรียน ประมาณแบบอารมณ์ค้าง (หัวเราะ) อย่างเช่น ออกแบบนิทรรศการ ทำงานอินทีเรีย ทำงาน mainstream แต่งานเหล่านี้เป็นโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับคนอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยในการตัดสินใจทั้งนั้น ด้วยความโชคดีอย่างหนึ่งคือเหมือนในช่วงจังหวะที่เราไม่ค่อยอยากไปเข้าระบบมาก ก็มีคนหยิบยื่นโอกาสมาให้เราตลอดว่าสนใจแบบนี้ลองไปทำแบบนี้ไหม ซึ่งทำให้เราได้เห็นว่าเออจริงๆ แล้วเราทำได้มากกว่าหนึ่งอย่างนะ แล้วพอถึงจุดจุดหนึ่งที่เวลาพอเหมาะพอเจาะนี่แหละ พี่ก็มีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่ CASE (Community Architects for Shelter and Environment) กับพี่ป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ เป็นออฟฟิศที่อยู่ในรูปแบบเอกชน น่าจะเป็นที่แรกในเมืองไทยที่พยายามทำงานกับชุมชน เพราะฉะนั้นโปรเจ็กต์แรกๆ ก็คือตอนทำงานที่นี่แหละ เป็นการเข้าไป re-organize ผังชุมชนใหม่ในพื้นที่ชุมชนท่าน้ำสามเสน ตอนนั้นเราก็ใหม่ หน้าที่หลักๆ เป็นการเข้าไปช่วยเสริมเป็นทีมแบ็คอัพ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้ในเชิงแนวความคิดจากพี่ๆ ว่าเวลาจะทำงานลักษณะนี้จะต้องมีจังหวะในการพูดคุยอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปร่วมกันในเชิงกายภาพ หลังจากนั้นมามันก็ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ จากโปรเจ็กต์นี้

 โครงการเพื่อผู้สูงอายุ ชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ (ชุมชน 1 ศตวรรษ) ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

Q: แล้วมาเริ่มทำงานที่ Openspace ได้อย่างไร?

A: สำหรับ Openspace ต้องบอกก่อนว่า พี่ไม่ได้เป็นคนก่อตั้ง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกัน ในขณะที่ Openspace ก่อตั้ง พี่ไปร่วมงานกับพี่ๆ เขาเป็นระยะๆ แต่เรายังอยู่ในออฟฟิศ CASE อยู่ ยังทำหลายๆ อย่างก็เลยไม่ได้เข้ามาทำเต็มตัว จำได้ว่าช่วงนั้นน่าจะประมาณปี 2009 ซึ่งหลังจากที่ออกจาก CASE มาแล้ว ก็ลองมาคุยกับพี่ๆ ที่ Openspace แบบจริงจังเลยว่าเราลองมาจัดการให้ดูถาวรขึ้นนิดหนึ่งไหม เพราะว่าอย่างน้อยคนจะได้รู้ว่าถ้าอยากทำงานชุมชน สหพันธ์ชุมชน สามารถมาหาได้ที่ไหน

โครงการเพื่อผู้สูงอายุ ชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ (ชุมชน 1 ศตวรรษ) ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

Q: หน้าที่หลักๆ ของพี่พลอยใน Openspace คืออะไร?

A: ทำทุกอย่าง (หัวเราะ) ทั้งในด้านระบบออฟฟิศ งานออกแบบ การฝึกคน การสอนหนังสือ เราพยายามให้ทุกคนสามารถทำได้ทุกอย่าง เพราะเราเชื่อในศักยภาพเหล่านี้ เรารู้สึกว่าจริงๆ คนเรามักไปกรอบตัวเองตามกลไกสังคมมากเกินไปจนไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีความสามารถนะ แต่บางทีอาจจะต่างกันนิดหน่อยตรงความเข้มข้นของเนื้อหาเพราะการถ่ายทอดหรือว่าประสบการณ์บางอย่างที่เจอไม่เท่ากัน ก็ต้องช่วยๆ กันไป

Q: ที่ผ่านมา มีงานไหนบ้างที่ทำแล้วรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษ?

A: จริงๆ พี่สนุกทุกโปรเจ็กต์นะ ไม่เคยมีโปรเจ็กต์ไหนที่รู้สึกว่าล้มเหลวเลย แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างที่เราทำจะสำเร็จหมดนะ หมายถึงว่าเราจะเห็นทางตลอดว่า เฮ้ยทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำมันไปถึงไหนแล้ว แม้แต่บนความล้มเหลวนั้นก็สามารถเปลี่ยนหรือต่อยอดให้เป็นจุดที่พ้นจากวิกฤตนั้นๆ ได้อย่างไร แต่ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คงนึกถึงโปรเจ็กต์ที่ชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ (ชุมชน 1 ศตวรรษ) ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการ CSR จากบริษัทกระทิงแดงที่เขาอยากจะโฟกัสเรื่องผู้สูงอายุ เรื่องของการเข้าสังคมผู้สูงอายุในอนาคต จากโจทย์นี้เราเลยตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราจะใช้ภูมิทัศน์หรือว่าการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและกายภาพนอกบ้านอย่างไร ที่จะช่วยสร้างเสริมและเปลี่ยนแปลงชุมชนผู้สูงอายุไปในทางที่ดีขึ้น อย่างประเทศไทยเอง เราไม่ได้มีการเตรียมตัวมากเพราะว่าคนแก่มีความเคยชินกับการที่ลูกหลานออกไปทำงานข้างนอก พวกเขานอนอยู่ที่บ้าน เหงา เศร้า แล้วสังคมก็เล็กลง คือสิ่งเหล่านี้เรารู้สึกว่าถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว ในฐานะของสถาปนิกเราจะใช้การจัดการทางสังคมหรือจัดการกลุ่มเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงกายภาพให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งด้วยลักษณะชุมชนจะเป็นชุมชนริมน้ำเล็กๆ มีด้านหน้าที่เป็นทางเดิน เป็นตลาดไม้คนจีนแบบสมัยก่อนซึ่งเล็กและทำอะไรไม่ค่อยได้มาก แต่เราสนใจว่าชีวิตบริเวณหน้าบ้านของพวกเขาน่าจะทำอะไรได้บ้างนะ เราเลยพยายามดึงคนทุกวัยทั้งคนแก่ วัยรุ่น เด็กมาทำงานร่วมกัน พอเขาคุยกันก็ได้โจทย์ที่น่ารักๆ ออกมาคือ อยากจะสร้างเฟอร์นิเจอร์ชุมชน พื้นที่แปลงผักแนวตั้ง และพื้นที่ที่ทุกคนออกมานั่งด้วยกันได้ ซึ่งจริงๆ มันมีอยู่แล้วล่ะ แต่พี่คิดว่าในรายละเอียดของสิ่งที่เขามีอยู่มันค่อนข้างมาตรฐาน อย่างเช่น ม้านั่งหินอ่อน 2 ตัว เรียงต่อกันแนวยาว แต่อาจจะไม่ได้มีการมองถึงขั้นที่ว่าคนเราจะสื่อสารกันได้ดีมากขึ้นเราต้องนั่งหันหน้าเข้าหากันนะ คือลักษณะการวางเก้าอี้สามารถพูดถึงเชิงสังคมได้ด้วย เช่น ระดับที่ต่างกัน ทิศที่ต่ำกว่า เด็กนั่งต่ำกว่าผู้ใหญ่ซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างวัยได้ เราเลยใช้ไอเดียเหล่านี้เข้าไปช่วยจัดการแล้วทำงานบนสิ่งที่มีอยู่แล้ว ใช้วัสดุในชุมชน เช่น ยางในหรือไม้ไผ่ ที่ประทับใจก็ตรงที่ว่าในระยะเวลาที่ได้ทำงานด้วยกัน ทุกคนพยายามผลักดันศักยภาพของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ เด็ก หรือวัยรุ่น หรือพอทำไปสักพักจากเรื่อง เช่น ไม้ไผ่หรือวัสดุรีไซเคิลที่เขาจะนึกภาพไม่ออกว่ามันจะแบบไหนดี พอได้ทำชิ้นงานทดลองด้วยกันเขาก็คิดต่อยอดไปถึงสิ่งอื่นๆ อีก ซึ่งพี่ว่ามันเป็นสิ่งดีมากเลย

Q: ทุกคนแตกฉาน

A: ใช่แตกฉานออกไป เรารู้สึกว่าเฮ้ย มันเจ๋ง เรารู้สึกประสบความสำเร็จกับการสื่อสารระหว่างกันในเชิงนี้มากขึ้น เราต้องทำด้วยกันให้ดู คือไม่ใช่มัวแต่พูดอธิบาย เช่น รีไซเคิลใช้อย่างไรก็ยังไม่รู้ ต้องทำให้ดูถึงจะต่อยอดกันได้ พี่รู้สึกว่ามันจะไปต่อด้วยกันได้ก็เพราะอย่างนี้แหละ เพราะคนมองเห็นทางร่วมกัน แต่ว่าจะทำให้คนมองเห็นทางด้วยกันได้อย่างไรนั้นมันต้องผ่านกระบวนการที่เราค้นหาด้วยกันก่อน สื่อสารเข้าใจด้วยกันว่าอย่างไร หรือว่าเห็นสิ่งที่ต่อยอดกันต่อได้อย่างไร

ในช่วงปี 54 ที่น้ำท่วม สิ่งที่เราทำในชุมชนนี้มันระเนระนาดมาก แต่พวกเขาก็ซ่อมแซมสิ่งต่างๆ นานาจนกลับมาใช้การได้ เราได้เห็นพลังแรงงานในชุมชนเองว่าเขามีการจัดการที่ดีผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกันจริงๆ ได้เห็นว่าชุมชนเดินหน้าไปในทางที่ดีขึ้น พี่ไม่รู้นะ มันอาจจะโชคดีด้วยว่าที่นั่นเป็นชุมชนเล็กๆ การสื่อสารอาจจะง่ายกว่า แล้วพอมีผู้สูงอายุเยอะ ความ soft ในเชิงสังคมยังคงรักษาอยู่ได้ คนจะไม่ตะโกนใส่กัน มีความเกรงใจกัน หรือการที่ผู้ใหญ่สอนเด็กหรือความรู้ต่างๆ สามารถสร้างความเคารพกันได้

โครงการเพื่อผู้สูงอายุ ชุมชนคลอง 3 รังสิตประยูรศักดิ์ (ชุมชน 1 ศตวรรษ) ในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

 Q: เท่าที่ติดตามพี่พลอยมา เราสนใจโครงการที่พี่เข้าไปทำงานกับคนพิการมาก อยากให้พี่พลอยช่วยเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปและกระบวนการทำงานให้เราฟังหน่อยได้ไหม?

A: โครงการนี้เริ่มต้นมาจากการที่เราทำงานร่วมกับองค์กรชื่อ สสพ. (สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ) ซึ่งเขามีโครงการที่พูดถึงเรื่องการใช้กายภาพมาเป็นตัวช่วยเอื้อชีวิตคนพิการ พี่มีโอกาสลงไปทำงานในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ลำปางกับเชียงราย แต่ว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เขาทำงานด้วยกันมาก่อนกับ NGO เพราะฉะนั้นการคัดสรรเรื่องตำแหน่งต่างๆ ก็จะผ่านทีมพื้นที่ไปเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของพี่คือเข้าไปช่วยเสริมเรื่องการจัดการองค์ความรู้ในพื้นที่ว่าเราจะใช้สิ่งต่างๆ เข้ามาจัดการบ้านตัวเองอย่างไร เข้าไปช่วยดูความรู้เหล่านี้เพื่อสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยกัน ซึ่งจะไม่ใช่งานปรับสภาพแบบให้เคลื่อนตัวได้และคล่องตัวอย่างเดียว แต่จะมีเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพ เช่น การออกแบบเครื่องออกกำลังกายที่ทำจากไม้ไผ่ และสุดท้ายก็มีการจัดการความรู้ว่าถ้าจะทำแบบนี้ผลออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีความพิการแตกต่างกัน ดังนั้นจะมีการปรับสภาพบ้านไม่เหมือนกัน แต่ไอเดียหลักๆ คือเราจะปรับให้เข้ากับคนที่เป็นคนพิการเอง คนดูแล และคนที่อยู่รอบๆ คนดูแลอีกที เช่น อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ผู้ใหญ่บ้าน นักกายภาพบำบัด ก็เลยกลายเป็นแบบการออกแบบร่วมกันระหว่างยูนิตต่อยูนิต และยูนิตกับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว ทั้งเพื่อนบ้านและชุมชน เป็นโครงการสเกลเล็กๆ แต่สนุกมาก แล้วเราก็ทำหนังสือที่เป็นขั้นตอนไปให้ตามที่ต่างๆ ที่เราคิดว่าจะเป็นประโยชน์ ขณะที่เครือข่าย สสพ. เองก็พยายามเชื่อมโยงลงไปให้ถึงชาวบ้าน ถึง อบต. เพื่อช่วยกระตุ้นให้เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงและปรับสภาพทางกายภาพเพื่อให้เหมาะกับสมรรถภาพหรือสภาพคนไม่ได้ยากขนาดนั้นนะ

DAA (สถาปัตยกรรมสำหรับความสามารถที่แตกต่าง)

Q: พี่พลอยมีวิธีเข้าไปพูดคุยกับชุมชนอย่างไรเพื่อให้เกิดการร่วมมือกันทั้งกับเราและภายในชุมชน?

A: มี 2 แบบนะ คือถ้าโครงการนั้นผ่านชุมชนที่มีองค์กรชวนเราไปทำก็จะมีการกรุยทางให้อยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะไม่ยากมาก แต่ถ้าเป็นการกรุยทางด้วยตัวเราเองก็อีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วยว่าเขามีประเด็นอะไรอยู่ ส่วนใหญ่งานที่ทำจะเกี่ยวกับเรื่องการปรับทางกายภาพให้ดีขึ้น การสร้างกลุ่มคนให้เข้มแข็งขึ้น เวลาจะคุยกับใครก็เลยไม่ยากเท่าไร เราเริ่มต้นง่ายๆ คือเดินเข้าไปคุยเลย เพียงแต่เราต้องดูก่อนว่าที่นั่นมีใครเป็น key person ที่เราควรจะต้องเข้าไปหาหรือควรระวังหรือเปล่า แล้วก็ดูว่าแต่ละคนมีบทบาทอะไรในชุมชน แต่ว่าในการทำงาน สุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นการทำงานผ่าน key person อย่างเดียว เพราะเราพยายามพูดถึงการทำงานร่วมกัน ฉะนั้นบน key person เหล่า นี้ เราต้องต่อยอดไปเรื่อยๆ ต้องฟัง สังเกต แล้วพยายามต่อยอดไปสู่คนหนึ่ง แม้ว่าบางที 1 ชุมชน จะทะเลาะกันแบ่งเป็น 5 โซน คุณก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเอาทุกคนไปรวมกันหรอก แค่ดูซิว่าในโซนนั้นมีคีย์อะไรอยู่บ้าง แล้วคุณต่อยอดไปทำความรู้จักคนกลุ่มอื่นในโซนนั้นได้ไหมผ่านคีย์นั้นๆ แต่ส่วนใหญ่ พอเป็นเรื่องเชิงบวก ในการเจอกันครั้งแรกก็ไม่มีอันตรายอะไร ถ้าถามว่าความยากคืออะไร พี่ว่าคือการโน้มน้าว การดูว่าสถานการณ์ของเขา เราจะทำโปรเจ็กต์ร่วมกันได้บ้างไหม แต่ว่าในทุกๆ ที่ก็จะมีคนแฝงกลุ่มเล็กๆ อยู่เสมอที่รู้สึกว่าเออ อยากทำอย่างนั้น อยากทำอย่างนี้ เราก็จะเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้แหละผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เรื่องในเชิงศิลปะ การจัดฉายหนัง แล้วก็มาชวนกันคุยต่อยอด ถ้าเราอยากจะโน้มน้าวอะไร เราต้องให้เขาเห็นว่าเราเปลี่ยนแปลงมันได้ผ่านสิ่งเหล่านี้นะ

Q: ในการทำงานที่ผ่านมา พี่พลอยได้รับการสนับสนุนในด้านเงินทุน ความรู้ หรือทักษะจากองค์กรต่างๆ บ้างไหม?

A: มีตลอดเลย แต่ส่วนใหญ่ถ้าเริ่มต้นด้วยการที่มีองค์การมาติดต่อเราเขาจะมีเงินทุนและศาสตร์บางอย่างอยู่กับตัวเขาอยู่แล้ว และมีเครือข่ายของศาสตร์อื่นๆ ที่เขาคิดว่าเขาจะเชื่อมโยงเข้ามาเพื่อให้เอื้อต่อการทำงานของเรา การทำงานร่วมกันระหว่างคนที่มีความรู้และทักษะที่หลากหลายจึงเกิดขึ้นตลอดเวลา ขณะเดียวกัน การที่เราต้องไปขอเรื่องเงินทุนหรือว่าไปเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ก็มีตลอดเวลาเหมือนกัน

Q: หลังจากทำงานกับคนในชุมชน กับสังคมมาพักใหญ่ๆ แล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในชุมชนบ้าง?

A: ถึงแม้โปรเจ็กต์ที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นโปรเจ็กต์ที่เล็กมาก แต่ถ้าถามว่ามันเปลี่ยนแปลงไหม พี่คิดว่ามีนะ มันเข้าไปช่วยเสริมความสัมพันธ์ในกลุ่มสังคมของเขาให้ดีขึ้น แล้วพอความสัมพันธ์ดีขึ้น การจัดการระหว่างกันเองเวลาเขาจะทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเรื่องส่วนกลางของชุมชนมันก็ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่พี่คนเดียวนะ นึกออกไหม คือพี่ก็แค่เป็นจุดหนึ่งที่ไปช่วยเสริมสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น สำหรับในเชิงกายภาพจะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดี แล้วคนก็ออกมาใช้มัน อย่างที่เราไปลงพื้นที่ที่คลอง 3 พี่คิดว่าเขาแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ผ่านคนในชุมชนเองด้วย แล้วเขาก็เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องความรู้ เงินทุน เรื่องการจัดการคน หรือเรื่องการจัดการชุดความรู้ต่างๆ พอเราเข้าไป เราก็ไปช่วยเสริมเขาให้เคลื่อนไปในทิศที่เขาอยากจะทำและเป็นได้ง่ายขึ้น

Q: ชุมชนเข้าใจกันมากขึ้น?

A: ใช่ แต่ไม่ใช่เราที่เข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนะ เราแค่ไปปรับกลไกที่เขาเดินให้คล่องตัวขึ้นเฉยๆ

 Q: ที่ผ่านมา อะไรคืออุปสรรคในการทำงานบ้าง?

A: เรื่องศักยภาพทางการเงินเป็นอุปสรรคพอสมควร เพราะพี่ไม่มีศักยภาพด้านนี้เลย (หัวเราะ) ดีเลย์มาก คือเพื่อนๆ แต่ละคนนี่ดูร่ำรวย

Q: อู้ฟู่

A: ใช่ แต่มันก็เป็นปัจจัยที่เราไม่ค่อยสนใจมากเท่าไร ถ้าถามว่าลำบากไหม ก็ลำบาก เพราะเราเป็นคนชอบทำอะไรหลายอย่าง เวลาเห็นชุมชนทำโปรเจ็กต์นี้ เราก็อยากจะหาทุนไปช่วยเสริม ซึ่งบางทีเราจะเอาเงินตัวเองไปช่วยก็ไม่มี หรือชุมชนเองบางทีก็ไม่ได้มีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้ พี่เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งติดขัดสิ่งหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่ามันทำให้งานที่ทำเหนื่อยมากกว่าเดิม แต่พอทำมาสักพักหนึ่ง พี่ก็พบว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่มีทางจัดการเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการหรือเปล่า แรกๆ คิดว่าที่ลำบากเพราะไม่ค่อยชอบจัดการมันเท่าไร แบบ…อุ๊ยตายแล้ว เอาไปไว้ทีหลังก่อนแล้วกันนะ มันไม่สนุกเลย แนวนั้น แต่พอเราเริ่มมาจัดการ พี่ว่าง่ายขึ้นเยอะ แล้วพอคนเห็นว่าเราทำอะไร ก็เริ่มมีองค์กรมาติดต่อ มาช่วยเหลือ เริ่มมีคนเชื่อใจมากขึ้น แล้วก็ต่อยอดไปสู่อะไรต่างๆ ตอนนี้ไม่ใช่อุปสรรคแล้ว ส่วนอื่นๆ พี่ว่าคงจะเป็นเรื่องที่พี่ต้องคุยกับตัวเอง ทำความเข้าใจกับตัวเองให้ฝ่าฟันมันให้ได้มากกว่า

Q: คนรอบข้างเขาคิดอย่างไรที่พี่เลือกมาอยู่สายชุมชนแบบนี้?

A: ที่บ้านไม่มีปัญหาเลย คือเป็นบ้านที่ไม่มีการ support ทางการเงินให้นะ แต่ว่าเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องความเข้าใจ ทั้งแม่และพี่ชาย เขาพร้อมให้เราเสมอ ซึ่งพี่คิดว่าเรื่องทางจิตวิญญาณสำคัญกว่ามาก มันทำให้เราเดินทางและหาทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้นเจอ

Q: พี่พลอยคิดว่า ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมช่วยขับเคลื่อนอะไรในสังคมได้ไหม?

A: ความรู้ที่เป็นเชิงความรู้เลย ที่ไม่เกี่ยวกับทัศนคติพี่เข้าไปผสมนะ พี่คิดว่าช่วยได้ค่ะ แต่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ทัศนคติของเราเข้าไปเชื่อมกับมันถูกเปล่า พี่คิดว่าทุกๆ ศาสตร์เป็นแบบนี้นะ มันเดินทางไปพร้อมกับทัศนคติของบุคคลนั้นๆ ของกลุ่มคนนั้นๆ

Q: อะไรคือความสุขของการเป็นสถาปนิกชุมชนที่ทำให้พี่พลอยยังคงทำงานมาจนถึงตอนนี้

A: สิ่งที่เราเรียนรู้ผ่านการมีชีวิต การใช้ชีวิต ผ่านโรงเรียนหรือคนต่างๆ ที่เราพบเจอ คนที่เราได้ทำงานด้วย เราได้เข้าไปอยู่ในตัวคนเหล่านั้น ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มคน ได้เห็นว่าเราไปช่วยเอื้อให้คนกลุ่มต่างๆ เดินหน้าในชีวิตของเขา ในกลุ่มของชุมชนเขาได้คล่องตัวขึ้น พี่รู้สึกว่าความสุขมันอยู่ตรงนี้แหละว่าเราได้เห็นว่ามันกำลังเดินทางอยู่นะ ซึ่งการเดินทางอาจจะไม่ได้จบแบบมีความสุขเสมอ แต่ว่ามันเดินอยู่กับพวกเขา พี่ว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ทำให้พี่อยู่กับการทำงานตรงนี้มาเรื่อยๆ ถ้าเกิดพี่ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่อาชีพอื่นๆ ไม่ดีนะ พี่อาจมองเห็นการเดินทางในแง่การเรียนรู้ตัวเองน้อยลง พี่รู้สึกว่าการเป็นสถาปนิกดีอย่างหนึ่งตรงที่ว่า มันทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เห็นจะต้องติดอยู่ในกรอบและอยู่เฉพาะชุดความรู้ที่เราได้รับมาจากโรงเรียนอย่างเดียว แต่มันทำให้เราเห็นว่ามีความรู้เยอะมากในโลกนี้ แล้วแบบ…ตายแล้ว ก่อนตายฉันจะรู้เรื่องอะไรบ้างเนี่ย คืออยากรู้ไปหมด ทั้งเรื่องการเกษตร ผู้สูงอายุ สุขภาพ กลไกข้อต่อของมนุษย์ ดังนั้นการทำงานทั้งหมดเลยสนุก เหมือนเราได้เรียนรู้ทุกวัน เรียนหนังสือทุกวัน มันคือสิ่งที่ทำให้พี่ยังอยู่ตรงนี้มาได้ตลอด

Q: พี่พลอยมองอนาคตตัวเองไว้อย่างไร?

A: ในเชิงการทำงานพี่คิดว่าพี่คงอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันพี่ก็มีความยืดหยุ่นในทุกๆ อย่างกับชุดความรู้ที่รับเข้ามา พี่ไม่ได้ตีกรอบตัวเองว่าต้องมีชีวิตเป็นสถาปนิกชุมชนไปตลอด แต่ว่าพี่เป็นคนที่ใช้ศาสตร์ที่ตัวเองเรียนรู้รอบๆ ตัวเข้ามาใช้ในการทำงานมากกว่า ใจหนึ่งคิดว่าอยากจะกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ตัวเองโตมามากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่าในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นสักเท่าไร เรารู้สึกคิดถึงสิ่งเหล่านั้น ตอนนี้ก็รู้สึกว่าคงจะต้องวางแผนแล้วล่ะว่าจะจัดการมันอย่างไรให้เรากลับเข้าไปอยู่ในที่ที่เราอยากอยู่ ได้อยู่กับครอบครัว กับสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่เราสามารถทำให้ดีขึ้นได้ แล้วก็คิดว่าเราต้องจัดการทางการเงินนิดหนึ่งด้วย (หัวเราะ)

อีกเรื่องคือเรื่องของการศึกษา พี่อยากจะมีส่วนเข้าไปช่วยผลักดันโรงเรียนในบ้านเราให้มีกลไกในด้านการศึกษาที่ใช้การทดลองทำมากขึ้น หมายถึงในทุกๆ โรงเรียนนะ ไม่เฉพาะโรงเรียนออกแบบอย่างเดียว ตอนนี้พี่สอนคณะพยาบาลอยู่เกี่ยวกับเรื่องของการลงพื้นที่จริง การทำงานกับชุมชน การใช้งานออกแบบเข้าไปแทรกในศาสตร์ของการพยาบาล เพราะรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่เราไม่มีความสุขในการเรียนเลยก็เพราะเราไม่เห็นของจริง เรานึกภาพไม่ออกว่าความรู้ที่เขาให้เรามามันแปลว่าอะไรนะ มันเป็นอย่างไรนะ พี่รู้สึกว่าการกระทำจากมือเราเองนี่แหละที่จะช่วยให้คนสนุกกับการเรียนรู้ แล้วก็อยากจะเป็นในสิ่งที่ตัวเองมองเห็นประโยชน์และมีความสุขในตัวเองมากขึ้น

Portrait: เกตน์สิรี วงศ์วาร
Photos courtesy of กษมา แย้มตรี

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

บันทึก

Mui Lakkana Vong-ngamkanok

Biographical Info

See all articles

Next Read