เสรีภาพในตัวตนที่หญิงแอฟริกันทุกคนควรได้รับ โดยศิลปิน Kim Dacres

ถ้าใครเคยดู And Just Like That… ซีรีส์ภาคต่อของ Sex and the City (ที่สู้ภาคแรกไม่ได้เลย) น่าจะผ่านตาฉากที่มิแรนดาเข้าเรียนคลาสแรกและเจอกับไนย่า โดยมิแรนด้าเข้าใจว่าไนย่าเป็นนักศึกษา ไม่ใช่อาจารย์ เพราะ ‘ทรงผม’ ของเธอ

คำพูดนี้เองทำให้ไนย่าที่เป็นผู้หญิงผิวสี ไว้ผมเปียเล็กๆ เต็มศีรษะ แทบจะเดือด เพราะเหมือนกับคนผิวดำหลายคนที่ต้องเจอกับการถูกจากคนผิวขาว ตัดสินความเป็นมืออาชีพจากการแต่งตัวและทรงผม ทั้งๆ ที่ทุกคนล้วนมีสิทธิแสดงออกตัวตนผ่านการแต่งกาย และมันไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับความสามารถของพวกเขา

ศิลปินจากนิวยอร์กเชื้อสายจาไมกา Kim Dacres น่าจะเคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการตัดสินคนจากภายนอกแบบนี้มาเหมือนกัน เธอจึงสร้างสรรค์ประติมากรรมเป็นรูปส่วนศีรษะของผู้หญิงชาวแอฟริกันที่ต่างมีทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมแอฟริกัน ไม่ว่าจะเป็นผมเปียเล็กๆ แบบเดียวกับอาจารย์ไนย่า ผมเดรดล็อก และผมทรง Bantu Knots ที่เป็นการมัดจุกก้นหอยเล็กๆ เต็มศีรษะ เพื่อที่จะสื่อสารถึงอัตลักษณ์อันสวยงามของหญิงชาวแอฟริกันและเสรีภาพในการแสดงออกตัวตนของมนุษย์

ในการทำงาน Kim ยังนำเอายางรถยนต์ ยางรถมอเตอร์ไซค์ และยางรถจักรยาน ที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลงานทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นอกจากจะเป็นประติมากรรมสีดำสนิทเงางามแล้ว ผลงานแต่ละชิ้นก็ยังมีลวดลายที่เกิดจากร่องรอยบนพื้นผิวยางจากการใช้งานที่ไม่ซ้ำกันอีกด้วย นับว่าเข้ากันได้ดีกับเรื่องอัตลักษณ์ของแต่ละปัจเจกที่เธอต้องการนำเสนอ

สุดท้าย ยางรถที่ผ่านการเดินทางอันยาวนานและสมบุกสมบัน ก็ยังเปรียบเปรยได้ดีถึงการต่อสู้ของคนผิวดำตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ที่ถึงโลกจะเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์แค่ไหน แต่คนผิวดำหลายคนก็ยังต้องเจอกับการเหยียดผิวและการตัดสินจากภายนอก ไม่เว้นแม้แต่เรื่องทรงผม

แปลและเรียบเรียงจาก: Kimdacres.comthisiscolossal.com

Tags

Tags: ,

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles

Next Read