Paper Noodle แพ็กเกจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรักษ์โลกจากเยื่อกระดาษช่วยลดขยะพลาสติก

ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตของปัญหาขยะพลาสติกเช่นนี้ ใครช่วยอะไรได้ ก็ควรช่วยกันคนละไม้ละมือ อย่างคนทั่วไป สิ่งง่ายๆ ที่ช่วยโลกได้ คือ การลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) และแยกขยะเพื่อนำขยะพลาสติกกลับไปรีไซเคิลหรือทำลายอย่างถูกวิธี ส่วนนักออกแบบอาจช่วยได้มากกว่านั้น ด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านงานออกแบบของพวกเขา

สำหรับ Emily Enrica นักศึกษาชาวออสเตรเลียน เธอเลือกสร้างการเปลี่ยนแปลงในส่วนของแพ็กเกจจิ้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย (Cup noodle) ไม่ใช่แค่เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งถ้วย ก่อให้เกิดขยะพลาสติกหลายต่อหลายชิ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ถ้วย ฝา ส้อม ถุงเครื่องปรุง แต่ถ้วยพลาสติกที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไปใช้ ยังใช้พลาสติกเกรดต่ำที่ดูแล้วสุ่มเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเหลือเกินเมื่อเราเทน้ำร้อนๆ ลงไป

Emily จึงเลือกทำงานออกแบบแพ็กเกจจิ้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยขึ้นมาใหม่ โดยเธอเลือกใช้วัสดุเยื่อกระดาษ (Paper pulp) สำหรับแพ็กเกจจิ้งทั้งหมด ตั้งแต่ตัวถ้วย ฝา ซองเครื่องปรุง ตะเกียบ ไปจนถึงช้อน และเธอตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า Paper Noodle

แน่นอนว่า วัสดุเยื่อกระดาษที่เธอเลือกใช้สามารถย่อยสลายทางธรรมชาติได้ทั้งหมด หรือถ้ายังอยู่ในสภาพดี จะเอากลับไปรีไซเคิลก็ได้ นอกจากนั้น ยังสามารถนำเข้าไมโครเวฟ โดยผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าปลอดภัยสำหรับบรรจุอาหาร และเธอยังออกแบบตัวถ้วยให้ถือได้สะดวกโดยไม่ร้อนมือ แม้ว่าเราจะเพิ่งเทน้ำร้อนจัดลงไปก็ตาม

ถ้า Paper Noodle ของเธอถูกนำไปใช้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลก เราจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ถึง 103 พันล้านชิ้นต่อปีเลยทีเดียว (ใช่! นั่นคือจำนวนขยะพลาสติกจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อปีที่เรากินๆ กัน) แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้น พยายามอย่ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ่อยนัก ก็จะช่วยทั้งลดขยะและให้รางวัลสุขภาพร่างกายของคุณเองด้วย

แปลและเรียบเรียงจาก: yankodesign.com

Tags

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles

Next Read