Rise of Pride เพราะคนเราเท่ากัน รักเราจึงต้องเท่าเทียม

Mango Art Festival 2023 ที่เพิ่งปิดฉากไปลงไป ความน่าสนใจคืองานปีนี้ดูจะมีเนื้อหาชัดเจนมากขึ้นกว่าการจัดงานสองครั้งก่อน โดยเฉพาะในส่วนของ Special Exhibitions ที่หนึ่งในนั้นคือ ‘Rise of Pride’ นิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ที่ถือเป็นประเด็นร่วมสมัยที่สังคมกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

แต่ฟังจากชื่อ Rise of Pride ก็อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า นี่คือการรวมตัวกันของศิลปิน LGBTQ เพียงแค่นั้น เพราะภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ วิชชาพร ต่างกลางกุลชร ไม่ได้ใช้เกณฑ์นั้นในการคัดสรร แต่เน้นเลือกผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับประเด็น LGBTQ เป็นหลัก และเอาเข้าจริง ศิลปินทั้ง 10 คนที่เข้าร่วมจัดแสดงผลงานครั้งนี้ ก็มีทั้ง LGBTQ และผู้ชายแท้

“เราไม่ได้ให้สิทธิพิเศษอะไรกับ LGBTQ เพราะไม่งั้นมันก็จะเป็นนิทรรศการเฉพาะกลุ่ม ประมาณว่า LGBTQ มาเกาะกลุ่มกันทำอะไรอีกแล้ว” วิชชาพรกล่าว “แต่ในเมื่อเราทำนิทรรศการที่มีเนื้อหาพูดถึงเรื่องราวในสังคม เราก็คิดว่าไม่ว่าศิลปินชายจริงหญิงแท้คนไหนที่ทำงานศิลปะเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ก็น่าจะมาร่วมจัดแสดงผลงานกับเราได้เหมือนกัน”

‘เนื้อหา’ ที่ปรากฏอยู่ใน Rise of Pride ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นิทรรศการนี้โดดเด่นออกมา เพราะนอกจากแนวคิดจะครอบคลุมหลากแง่หลายมุมของ LGBTQ แล้ว ผลงานบางชิ้นก็ยังเปิดประเด็นไปไกลถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพของแต่ละปัจเจกชน

ตัวตนที่แท้ vs. ความคาดหวังของสังคม

หนึ่งประเด็นที่หลายคนมักนึกถึงเมื่อพูดถึง LGBTQ คือความขัดแย้งระหว่างตัวตนที่แท้จริงและความคาดหวังของสังคม และใน Rise of Pride ครั้งนี้ ก็มีผลงานจากสองศิลปินที่นำเอาเรื่องนี้มาพูด คือ ปัญญวัฒน์ มหันตปัญญ์ และ ณัฐธร ศิริพรเลิศ โดยความน่าสนใจที่สุดอยู่ตรงที่… ศิลปินหนุ่มทั้งสองคนนี้ไม่ได้เป็น LGBTQ

ผลงานของปัญญวัฒน์ เป็นจิตรกรรมอะคริลิกชื่อยาวเหยียดว่า ‘Mama, just killed a man, put a gun against his head, pulled my trigger, now he’s dead’ ชื่อนี้เป็นชื่อที่เขาได้มาจากเนื้อร้องเพลง Bohemian Rhapsody ของวง Queen ที่มีนักร้องนำคือ Freddie Mercury ศิลปิน LGBTQ ในตำนานที่ปัญญวัฒน์ชื่นชอบ ในจิตรกรรมชิ้นนี้ ปัญญวัฒน์นำเอาท่อนเนื้อร้องดังกล่าวแปลงออกมาเป็นภาพสไตล์คล้ายโปสเตอร์วงดนตรีร็อค โดยสาเหตุที่เขาเลือกเนื้อเพลงนี้มาใช้ เพราะข้อความดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นการสารภาพตัวตนทางเพศที่แท้จริงของ Freddie ผ่านเพลงที่เขาแต่งเนื้อร้องขึ้น

ทางด้านผลงานของณัฐธรนั้นเป็นประติมากรรมทองเหลือง 3 ชิ้น ที่เป็นรูปร่างของคนสองคนที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ดูขัดแย้งและต่อต้านกันเอง โดยเขาตั้งชื่อผลงานทั้งสามว่า ‘การแบกรับจากภาวะความสับสน’ ‘ภาวะไร้การควบคุมกับสติที่คอยค้ำจุน’ และ ‘ความคาดหวังและความผิดหวัง’

“ในฐานะหนึ่งใน LGBTQ ต้องบอกว่า ปกติพวกเราจะไม่ได้พูดประเด็นเรื่องนี้กันออกมาตรงไปตรงมานัก แต่ณัฐธรและปัญญวัฒน์ เขาเอาเรื่องนี้มาพูดแทนพวกเรา และก็พูดได้อย่างกินใจมาก เขาพูดถึงสภาวะความขัดแย้ง ความสับสน ที่ทุกเพศมีสิทธิจะเจอ หรืออาจมาจากประสบการณ์ของเขาในเรื่องอื่น ๆ ก็ได้ แต่แน่นอนว่าความขัดแย้งนี้ LGBTQ มีเปอร์เซ็นต์จะเจอมากกว่าเพื่อน” วิชชาพรให้ความเห็น

จากค่านิยมของสังคม สู่ ‘สมรสเท่าเทียม’

ใน Mango Art Festival ครั้งนี้ สิรวิชญ์ จตุรภัทรานนท์ มีผลงานจัดแสดงถึงสองโชว์ คือใน Rise of Pride และในอีกหนึ่ง Special Exhibitions: One to Watch ที่เขานำเอาเสื้อผ้ายันต์ที่ลงอักขระตามความเชื่อของไทยมาเพนต์ชื่อแบรนด์เนมต่างๆ ลงไป โดยผลงานของเขาชิ้นนี้ที่ใช้ชื่อว่า ‘Holy Designer’ แสดงให้เห็นการตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของความศักดิ์สิทธิ์และค่านิยมในสังคมไทยว่า อาจเกิดจากการอุปโลกน์ของคนในสังคมเองก็เป็นได้

ใน Rise of Pride สิรวิชญ์ก็นำผลงานที่มีผ้ายันต์เป็นองค์ประกอบมาจัดแสดงด้วยเช่นกัน นั่นคือ ‘Sacred Beauty’ (Barbie & Ken) แต่ผ้ายันต์ที่เขานำมาใช้คราวนี้เป็นผ้ายันต์โหงวเฮ้งหลวงปู่เจ้าคุณเจือ วัดบ้านไผ่ ที่เชื่อกันว่าใช้ปลุกเสกด้านเมตตามหานิยมเพื่อเสริมราศีดวงหน้าให้กับผู้บูชา จากนั้นเขาก็วาดรูปใบหน้าสวยหล่อแบบไร้ที่ติของบาร์บี้และเคนลงไป ทำให้งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นค่านิยมของสังคมเกี่ยวกับความสวยหล่อแบบพิมพ์นิยมที่จำกัดอยู่แค่เพศสองเพศเท่านั้น

เมื่อสังคมเปิดทางเลือกให้กับเพศหญิงและเพศชายเพียงเท่านั้น ข้อกำหนดกฎหมายหลายข้อจึงไม่ครอบคลุมเพศทางเลือก โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัว ใช่… เรากำลังพูดถึงร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่หากผ่านออกมาเป็นกฎหมาย ก็จะเปิดโอกาสให้บุคคลทุกคน ไม่ว่าในเพศสภาพใด มีสิทธิสมรสเป็นคู่สมรสที่ถูกต้องถามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่จะเป็น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลแก่คู่สมรส สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา ไปจนถึงสิทธิในการจัดการศพ เป็นต้น

จิตรกรรม ‘ประตูทะเบียนสมรส’ ของ สุบรรณกริช ไกรคุ้ม มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นนี้ ภาพวาดขนาดเล็กของเขาเป็นรูปประตูบานหนึ่งที่เขานำเอารูปทรงและลวดลายมาจากใบทะเบียนสมรสของประเทศไทย โดยประตูบานนี้ที่ถูกล็อกไว้แน่นหนาได้กั้นกลางไม่ให้ผู้ที่อยู่ในโลกที่ทึบทะมึน เปิดออกไปสู่โลกที่งดงามราวภาพฝัน แม้ทั้งสองโลกนั้นจะอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมก็ตาม

สุบรรณกริชสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวของเขาเองที่มีคู่รักเป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ทำให้เขาทั้งคู่ไม่สามารถกู้เงินมาสร้างบ้าน สร้างครอบครัว อย่างที่เขาฝันไว้ได้ง่ายนักเหมือนกับคู่รักหญิงชายทั่วไป “ถ้าเป็นคู่รักหญิงชายธรรมดาคงผ่านไปนานแล้ว” นั่นคือคำพูดของเจ้าหน้าที่ธนาคารที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้และทำให้สุบรรณกริชเข้าใจถึงความสำคัญของใบทะเบียนสมรส “เราไม่ได้ขอให้ใครเข้าใจความรักของเรา เราขอแค่สิทธิเหมือนคนธรรมดาเท่านั้นเอง”

ความเท่าเทียมกันทางเพศ ความเท่าเทียมกันของมนุษย์

ก่อนหน้านี้ เราเคยรู้จัก ศรชัย พงษ์ษา มาแล้วจาก Bangkok Art Biennale 2018 โดยจากผลงานครั้งนั้น เราก็ยังได้รู้อีกว่า ศิลปินไทยเชื้อสายมอญคนนี้สนใจประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนชาติพันธุ์

ผลงานการปักด้ายสีแดง ‘IDENTITY’ ถ่ายทอดเรื่องราวของศรชัยว่า กว่าที่เขาจะได้รับการประทับลายนิ้วมือและได้รับสัญชาติไทยพร้อมบัตรประชาชนใบแรกนั้น เขาต้องดิ้นรนขวนขวายมายาวนานถึง 22 ปี ซึ่งนั่นก็คงเป็นสถานการณ์ที่ไม่ต่างกันนักสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เกิดและอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย

ส่วนผลงานอีกชิ้นของศรชัย ‘MON’S SPIRITS TOTEM NO.5’ ก็พูดถึงเรื่องสิทธิการเป็นพลเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์และความขัดแย้งในตัวตนของ LGBTQ ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง

“ในภาพ เราจะเห็นรูปคนและเก้าอี้ ที่ถูกทอด้วยด้ายสีแดง ผ้าที่ศรชัยใช้เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวมอญ แต่ถ้ามองไกล ๆ เราจะเห็นว่า การทอนั้นเหลือบให้เห็นเป็นแถบลายธงชาติไทย” วิชชาพรอธิบาย ส่วนด้านบนของภาพที่เป็นรูปกระดองเต่านั้นเป็นการสื่อถึงคติความเชื่อของชาวมอญในเรื่องผีประจำตระกูล โดยผีประจำตระกูลนี้จะถูกสืบทอดผ่านผู้ชายในครอบครัวเท่านั้น “แต่ด้วยความที่เป็นคนหัวสมัยใหม่และเป็น LGBTQ ศรชัยจึงไม่สะดวกใจที่จะสืบทอดคติความเชื่อนี้ ผลงานชิ้นนี้จึงเหมือนเป็นจิตวิญญาณของเขาที่ถูกด้ายแดงยึดติดไว้กับผืนผ้าชาวมอญด้วย”

หลังจากจบงาน วิชชาพรบอกกับเราว่า ผลงานใน Rise of Pride ขายได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก ทำให้ศิลปินรุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะบางคนที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆ ได้มีเงินทุนไปทำงานศิลปะของตนเองต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด การตอบรับที่ดีจากผู้ชมทำให้พวกเขามีกำลังใจที่จะทำงานศิลปะเพื่อขับเคลื่อนสังคมต่อไป

ภาพ: ศรัณย์ แสงน้ำเพชร

ธันยพร ห.

อดีตคนทำงานนิตยสาร (HOW-To, Vaczine, Esquire, Wallpaper* Thailand, art4d) ในยุคสื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการอิสระ มีผลงานทั้งบทความศิลปะ งานออกแบบ สุขภาพกาย-ใจ สิ่งแวดล้อม และวรรณกรรม

See all articles

Next Read